ประเทศราช ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ คือเมืองที่มีเจ้าผู้ครองเมืองของตนเอง แต่อยู่ภายใต้อำนาจควบคุมดูแลและคุ้มครองของพระมหากษัตริย์ของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งเจ้าเมืองประเทศราชนั้นมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายเป็นประจำ และในเวลาเกิดศึกสงครามต้องเกณฑ์กำลังทหารเข้าร่วมกองทัพหลวงด้วย
ประเทศราชของไทยในอดีตนั้น ได้มีการกล่าวถึงไว้ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยแล้ว โดยในจารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุว่า ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ขยายพระราชอาณาจักรครอบคลุมไปยังแคว้นสุพรรณภูมิ อาณาจักรหงสาวดี นครรัฐแพร่ นครรัฐน่าน อาณาจักรนครศรีธรรมราช และเมืองชวาซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่ารัฐเหล่านี้ตกเป็นประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเรื่องนี้มีการโต้แย้งว่าอาจจะขัดกับความเป็นจริง
ในสมัยอาณาจักรอยุธยา ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ พระเจ้าอู่ทอง มีประเทศราชเกิดขึ้นถึง ๑๖ เมือง ได้แก่ มะละกา ชวา ตะนาวศรี นครศรีธรรมราช ทวาย เมาะตะมะ เมาะลำเลิง สงขลา จันทบูร พิษณุโลก สุโขทัย พิชัย สวรรคโลก พิจิตร กำแพงเพชรและนครสวรรค์ แต่ก็มีผู้โต้แย้งเช่นกันว่า ได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารให้มากขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระอินทราชา
กฎมณเฑียรบาลในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ระบุว่า เมืองที่ต้องถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองซึ่งเป็นไปตามกฎของประเทศราชนั้นมีถึง ๒๐ เมือง ได้แก่ นครหลวง ศรีสัตนาคนหุต เชียงใหม่ ตองอู เชียงไกร เชียงกรานเชียงแสน เชียงรุ้ง เชียงราย แสนหวี เขมราช แพร่ น่าน ใต้ทอง โคตรบอง เรวเกว อุยองตะหนะ มะละกา มลายู และ วรวารี
ในสมัยอาณาจักรรัตนโกสินทร์ มีการแบ่งหัวเมืองการปกครองออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ หัวเมืองชั้นในหัวเมืองชั้นกลาง ถือเป็นหัวเมืองของสยาม หัวเมืองชั้นนอกมีการแต่งตั้งผู้มีสกุลในท้องถิ่นเป็นผู้ปกครอง และเมืองประเทศราช มีการแต่งตั้งเจ้านายปกครองเช่นกัน
ในยุคต้นอาณาจักรรัตนโกสินทร์ มีเมืองประเทศราชหลายเมือง ได้แก่ ล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ จำปาศักดิ์ เขมร ปัตตานี ไทรบุรี กลันตันและตรังกานู
ถึงปีพุทธศักราช ๒๔๓๕ อาณาจักรรัตนโกสินทร์มีเมืองประเทศราชที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย ๗ เมือง กระทรวงกลาโหม ๓ เมือง ซึ่งเมืองประเทศราชเหล่านี้ จะต้องทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือส่งต้นไม้เงินทองและเครื่องราชบรรณาการให้สยาม ๓ ปีต่อครั้ง ได้แก่ เมืองจำปาศักดิ์ เชียงแขง มุกดาหาร นครพนม สตูล ปัตตานี สุวรรณภูมิ อุบลราชธานี
การปกครองแบบประเทศราชได้ถูกยกเลิกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงปฏิรูปการปกครองประเทศในปีพ.ศ.๒๔๓๕ โดยได้รวมศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด จัดเป็นรูปแบบกระทรวงต่างๆ รวม ๑๒ กระทรวง มีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบ การบริหารส่วนต่างจังหวัดนั้นแบ่งเขตการปกครองเป็นรูปแบบที่เรียกว่ามณฑล
เมืองประเทศราชที่มีอยู่นั้นจะมีรายได้ที่เกิดจากภาษีอากร ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของเงินหรืออาจเป็นผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว ส่วนรายได้อีกทางหนึ่งนั้นมาจากทรัพยากรของพื้นที่นั้นๆ เช่น แร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งสัตว์น้ำ สัตว์ป่า ตลอดจนไม้สัก และไม้อื่นๆ ซึ่งถือเป็นของหลวง ซึ่งจะต้องส่งเข้าท้องพระคลัง
ส่วนชาติไทยเราเคยตกเป็นประเทศราชของใครบ้างนั้น ไม่มีการบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เขียนอย่างชัดเจน เพียงแต่ทราบกันดีว่า ชาติของเราได้เสียอิสรภาพครั้งแรกให้กับอาณาจักรหงสาวดีในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๒ โดยอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าเวลา ๑๕ ปี ซึ่งในช่วงดังกล่าว กษัตริย์หงสาวดีได้โปรดเกล้าให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชหรือพระสรรเพชญ์ที่ 1 เป็นกษัตริย์ปกครองอยุธยา ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ.๒๑๒๗ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็ทรงประกาศอิสรภาพ กู้ชาติกู้แผ่นดินคืนมา
ชาติไทยนั้นได้ทำการค้าขายกับชาติต่างๆ มาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยแล้ว ส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เคยเสด็จไป เยือนเมืองจีนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขาย
ในช่วงอาณาจักรอยุธยา การค้าขายของไทยกับต่างชาติเจริญมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ยังมีการค้าขายกับญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศทางแถบยุโรปด้วย อาทิ ฮอลันดา โปรตุเกส อังกฤษ ฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งถือเป็นยุคทองของการค้าขาย โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการค้าขายที่สำคัญของภูมิภาคนี้ สร้างรายได้ให้กับชาติเป็นอย่างมาก
สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย ได้แก่ ดีบุก งาช้าง ไม้สัก น้ำตาล พริกไทย รังนก กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ กระวาน และครั่ง ส่วนสินค้านำเข้านั้น ที่สำคัญได้แก่เครื่องถ้วยชามสังคโลก ชา ไหม เงิน ปืนและดินปืน กระดาษและเครื่องแก้ว ซึ่งสินค้าเหล่านี้ เมื่อจะนำเข้าประเทศไทย จะถูกเก็บภาษีอากรในหลายรูปแบบ ทั้งอากร จังกอบ ฤชา รวมทั้งส่วย ซึ่งเป็นส่วนที่ทำรายได้ให้ชาติเช่นกัน
ปัจจุบันนี้ไทยก็ยังคงมีการค้าขายกับต่างชาติเป็นอย่างมาก สินค้าส่งออกของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างชาติมาก ไม่ว่าจะเป็นสินค้าด้านการเกษตร เช่น ข้าว อาหารสัตว์แปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ
ประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปมากที่สุดประเทศหนึ่งคือสหรัฐอเมริกา โดยในปีที่ผ่านมามีมูลค่าของสินค้าส่งออกประมาณ ๕๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อเทียบกับสินค้านำเข้าจากประเทศเดียวกัน มีอยู่เพียงประมาณ ๑๐,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าอยู่ประมาณ ๔๕,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเป้าหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เพิ่งประกาศว่าจะเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าของหลายประเทศทั่วโลกที่อเมริกาขาดดุลการค้าอยู่ รวมทั้งของไทยจากที่เคยอยู่ที่ระดับ ๑๐% ขึ้นเป็น ๓๗% ซึ่งแน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยที่จะมีปริมาณลดลง และสร้างรายได้ได้น้อยลงด้วยเป็นสัดส่วนกัน
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำ จะต้องดำเนินการ และหาวิธีการจัดการเรื่องนี้เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยยังต้องรักษาความสัมพันธ์กันเอาไว้ให้ได้ การส่ง
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นตัวแทนรัฐบาลไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อเจรจาหาข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ยังไม่อาจจะบอกได้
เมื่อสหรัฐอเมริกามองว่าไทยได้เปรียบดุลการค้ามาก สิ่งที่เขาต้องการก็คือ ต้องลดการได้เปรียบนี้ให้มากที่สุด ฉะนั้นแนวทางของรัฐบาลไทยก็น่าจะต้องเป็นเรื่องของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาให้มากขึ้น ทั้งสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งในส่วนของสินค้าอุตสาหกรรมนั้น ถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนเป็นจำนวนไม่น้อย และส่งให้สหรัฐอเมริกาเพื่อขายไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย เช่น โทรศัพท์มือถือสินค้าแฟชั่น และเครื่องใช้แบรนด์เนมทั้งหลาย เป็นต้น โดยไทยอาจจะต้องลดอัตราจัดเก็บภาษีลงให้ต่ำที่สุดหรือยกเว้นภาษีให้ เพื่อลดการขาดดุลระหว่างกันให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะทำได้ในระยะเวลาสั้นๆ
ต้องยอมรับความจริงว่าสินค้าในตลาดผู้บริโภคของไทยที่ได้รับความนิยมมากขณะนี้เป็นสินค้าจากประเทศจีนซึ่งมีราคาถูก และคุณภาพเริ่มดีขึ้น อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งปีนี้ทำสถิติยอดจองในงานมอเตอร์โชว์มากกว่ารถจากญี่ปุ่น ซึ่งไทยยังจำเป็นต้องรักษาสัมพันธภาพทางการค้าทั้งกับจีน เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกเพื่อสร้างอำนาจเจรจาไว้ด้วย ฉะนั้นหากไทยต้องนำเข้าสินค้าจากอเมริกามากขึ้นก็ไม่แน่ว่าจะทำให้ราคาถูกลงได้มากหรือได้รับความนิยม ซึ่งหากเป็นอย่างนั้นก็จะแก้ปัญหาดุลการค้าไม่ได้
การเดินทางไปเจรจา เพื่อหาข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้นั้น ไทยจะต้องยืนอยู่บนศักดิ์ศรีของความเป็นชาติที่มีอิสรเสรี การจะโอนอ่อนผ่อนตามต้องไม่ทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศชาติลดน้อยลง หากสินค้าของไทยมีคุณภาพดีพอ และราคาเหมาะสม น่าจะมีตลาดนอกเหนือจากอเมริกา ที่ยังขายของเหล่านี้ได้ ผู้แทนไทยที่ไปเจรจาต้องระลึกเสมอว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศราชของสหรัฐอเมริกา ที่จะต้องพินอบพิเทา หรือถึงกับต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี