ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ “GISTDA” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวในแถลงข่าวเตรียมการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 Shaping Thailand’s Future from Space, Our Commitment ซึ่ง “THEOS-2” เป็นดาวเทียมมีความพิเศษตรงที่สามารถถ่ายภาพได้ความละเอียดถึง 50x50 ซม. มองเห็นรถเป็นคันๆ เห็นต้นไม้เป็นต้นๆ และแยกแยะสภาพของวัตถุได้ด้วย เช่น ชนิดและอายุของต้นไม้ ความแห้งแล้งของดิน เหล่านี้สามารถมองเห็นได้จากอวกาศ จึงสามารถใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ดังนี้
1.การจัดทำแผนที่ เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 สามารถบันทึกภาพและความละเอียดสูงถึง 50 เซนติเมตรต่อ pixel และพัฒนาให้เป็นข้อมูลสามมิติได้ จึงสามารถนำไปผลิตแผนที่มาตราส่วนใหญ่ได้ถึง มาตราส่วน 1 : 1000 2.การจัดการเกษตรและอาหาร ดาวเทียม THEOS-2 สามารถใช้ในการวิเคราะห์ และประเมินพื้นที่เพาะปลูก การจำแนกประเภทพืชเกษตร สุขภาพพืช และการคาดการณ์ผลผลิตที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรที่ครอบคลุมพืชเศรษฐกิจหลักอย่างน้อย 13 ชนิด ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ตลอดจนการคาดการณ์ผลผลิตล่วงหน้าที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ครอบครัวเกษตรกร 3.การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 นั้นสามารถใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำและประเภทของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ใช้ในการตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และด้วยที่ THEOS-2 เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียด 50 เซนติเมตร จึงทำให้สามารถตรวจจับแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น
การบริหารจัดการน้ำทุ่งเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ครอบครัวเกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีลดมลพิษและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและระบบนิเวศ 4.การจัดการภัยธรรมชาติ ข้อมูลดาวเทียม THEOS-2 ที่ได้จะถูกนำไปใช้ในการวางแผน ป้องกัน แจ้งเตือน อพยพ และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที
หรือเมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับการฟื้นฟูความเสียหายในเชิงพื้นที่ และการเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยที่สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 5.การจัดการเมืองโดยเฉพาะแนวขอบเขตที่ดินและขอบเขตชายแดน ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่สําคัญของประเทศ อาทิ โครงการบริหารจัดการน้ำ โครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง
การเชื่อมโยงเขตอุตสาหกรรมเดิมเข้ากับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาธารณสุขการศึกษา การเดินทาง และแหล่งทรัพยากรน้ำ และ6.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ทำให้มองเห็นสภาพของปัญหาในมุมกว้าง เป็นข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้
รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันการบุกรุกป่าและการบริหารจัดการป่าชุมชนบนฐานความสมดุลของการอยู่ร่วมกันระหว่างป่า ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และชุมชน ให้สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งใช้ติดตามการดูดซับและปลดปล่อย Carbon โดยจะนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในกระบวนการ ตรวจวัด และประเมินคาร์บอนที่ได้มาตรฐาน รวดเร็ว แม่นยำ และโปร่งใส ตามมาตรฐานสากล
“เรื่องพืชเดี๋ยวนี้มีเรื่องคาร์บอนเครดิต เราสามารถรู้ได้ว่าพืชมีอายุเท่าไร แล้วจากพืชมีอายุเท่าไรเท่าให้เรารู้ได้ว่าตัวพืชนี้เก็บกักคาร์บอนเท่าไร ทำให้เราเห็นจากข้อมูลดาวเทียมเลยว่าบริเวณนี้เราเก็บกักคาร์บอนเท่าไรก็ตอบโจทย์ UN (สหประชาชาติ) ตอบโจทย์ประเทศชาติเรื่องนี้ นอกจากนี้แล้วที่เราใช้กันในเรื่องภัยธรรมชาติภัยพิบัติต่างๆ เราติดตาม เรา Forecast (พยากรณ์) ว่าเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แต่เรา Forecast ด้วยรายละเอียดสูงขึ้นดังนั้นในการวางแผนเราวางแผนได้มากขึ้น” ผอ.GISTDA ยกตัวอย่าง
ด้าน ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ดาวเทียม THEOS-2 มีชื่อเต็มคือ Thailand Earth Observation Satellite-2 เป็นดาวเทียมที่จะมาสานต่อภารกิจของดาวเทียม THEOS ที่เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2551 และปฏิบัติภารกิจมาแล้ว 15 ปี จนใกล้จะหมดอายุการทำงานแล้ว โดย THEOS-2 สามารถบันทึกภาพความละเอียดสูงมากระดับ 50 เซนติเมตร เช่น มองเห็นต้นปาล์ม 1 ต้น โต๊ะ 1 ตัว หรือมองเห็นจุดที่เกิดไฟป่าได้อย่างชัดเจน
“ขีดความสามารถของดาวเทียม THEOS-2 นี้คือมีระบบข้อมูลสารสนเทศที่ก้าวหน้าและทันสมัย ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ ตั้งแต่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการภัยพิบัติ การติดตามข้อมูลการเพาะปลูกและการเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ การจัดการพื้นที่ป่า รวมไปถึงการจัดการมลพิษ เช่น ฝุ่น PM2.5 เป็นต้น” รมว.อว. กล่าว
สำหรับดาวเทียม THEOS-2 นั้นมีน้ำหนัก 425 กิโลกรัม เป็นดาวเทียมที่จะโคจรอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 621 กิโลเมตรจากพื้นโลก มีรอบโคจรซ้ำวงโคจรเดิมทุกๆ 26 วัน เมื่อดาวเทียมได้รับคำสั่งถ่ายภาพและปฏิบัติงานตามคำสั่งนั้นแล้ว เมื่อดาวเทียมเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ติดต่อ สถานีรับสัญญาณดาวเทียมศรีราชา ดาวเทียมก็จะส่งข้อมูลภาพถ่ายลงมายังสถานีรับสัญญาณ จากนั้นข้อมูลจะเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และประมวลผล เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ก็ทำการส่งข้อมูลภาพไปยังผู้ขอใช้ข้อมูล
โดยดาวเทียม THEOS-2 มีกำหนดการขึ้นสู่อวกาศในวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 เวลา 08.36 น.(ตามเวลาประเทศไทย) ณ ท่าอวกาศยานยุโรปเฟรนช์เกียนา(Guiana Space Center) ในทวีปอเมริกาใต้!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี