โดยทั่วไป ผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานส่งเสริมการลงทุน ต่างก็มักจะตระหนักในเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม (Industrial standards) กันเป็นปกติ เนื่องจากเป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำมาค้าขายทั้งภายในและระหว่างประเทศว่า ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมใดๆ ต้องมีลักษณะเฉพาะ มีคุณภาพ หรือมาตรฐาน ที่เป็นที่รับรู้และยอมรับซึ่งกันและกัน (Specification)
ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้ ผู้บริโภค ที่พิจารณาบนความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต และผู้ค้าขาย อีกทั้งก็จะมีหน่วยงานกลางที่จะเป็นของภาครัฐหรือเอกชนก็ได้ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ (Quality control)
ในระยะหลังๆ โลกเราเริ่มคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงส่งผลให้กฎเกณฑ์กติกา ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ผลิตภัณฑ์อยู่ร่วม และไปได้กับการรักษาทำนุบำรุงสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น การห้ามมิให้มีการผลิตสินค้าที่จะก่อให้เกิดสารพิษตกค้างจากวัสดุหรือชิ้นส่วนที่ใช้แล้ว เป็นขยะมีพิษ (Toxic waste) เป็นต้น
มาบัดนี้ประชาคมโลกก็หันมาสนใจ และเป็นห่วงเป็นใยเรื่องโลกร้อน และเรื่องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ฉะนั้น ก็เริ่มมีความคิดอ่านว่าด้วยกฎเกณฑ์กติกาที่จะเสริมสร้างมาตรฐานสินค้า โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และผลกระทบต่อผู้คน โดยเฉพาะในแง่ของสิทธิมนุษยชน กลายเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ว่า ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใดๆ ที่ผลิตขึ้นมานั้น ต้องไม่ไปทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือจะต้องไม่เกี่ยวข้อง ข้องแวะกับวิธีการใช้แรงงาน และเงื่อนไขการว่าจ้างที่มีลักษณะละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากละเมิด ผู้ผลิตสินค้านั้นๆ ก็จะถูกลงโทษ และถ้าสินค้านั้นๆ มาจากต่างประเทศก็จะมีการห้ามมิให้มีการนำเข้า
ในปัจจุบันนี้ที่สหภาพยุโรปโดยหน่วยงานกลางของเขาที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (The Commission) ก็กำลังเตรียมการจัดวางกฎเกณฑ์กติกาว่าด้วย มาตรฐานสินค้า ที่มิได้จำกัดอยู่ที่มาตรฐานหรือคุณภาพในเชิงอุตสาหกรรมเท่านั้น หากแต่จะต้องเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่มีผลกระทบต่อธรรมชาติแวดล้อม และต่อสิทธิมนุษยชนของฝ่ายแรงงานและพนักงานอีกด้วย โดยคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปกำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมการที่จะออกกฎเกณฑ์ ระเบียบ กติกา เพื่อบังคับให้บริษัท โรงงาน ห้างร้าน ในประเทศสมาชิกต่างๆ ของสหภาพยุโรปทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม และจะมีบทลงโทษ ทั้งการปรับ และการจำคุกด้วย
แม้ว่ากฎเกณฑ์ของสหภาพยุโรปที่จะเกิดขึ้นนี้ กำลังมุ่งไปที่ฝ่ายเอกชนของสหภาพยุโรปเป็นหลัก แต่ก็ยังเกี่ยวข้อง และมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเอกชนและวิสาหกิจรัฐทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพราะภาคเอกชนทั่วโลกนอกสหภาพยุโรปเมื่อมีการลงทุนร่วมกับบริษัทของสหภาพยุโรป หรือผลิตสินค้าตามสั่ง หรือสั่งสินค้าเข้าไปที่สหภาพยุโรป ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกา หรือมาตรฐานสินค้าที่สอดคล้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ และเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย
ฝ่ายสหภาพยุโรปร่วมกับมูลนิธิ และแวดวงวิชาการของสหภาพยุโรปก็ได้เริ่มนำความเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าว่าด้วย สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน มาบอกกล่าวต่อประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยล่วงหน้าบ้างแล้ว เพื่อให้ฝ่ายไทยและประเทศคู่ค้าต่างๆ ของสหภาพยุโรป ได้ตระหนัก เตรียมตัวกันแต่เนิ่นๆ
ในการนี้หน่วยงานด่านหน้าของไทยคือ กระทรวงการต่างประเทศ ก็คงจะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการที่จะนำเอาความเคลื่อนไหวดังกล่าวภายในสหภาพยุโรป ออกสู่สาธารณชนและประสานกับกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ สถาบันเอกชนที่เกี่ยวข้อง และแวดวงวิชาการ เพื่อให้เริ่มตระหนักและเตรียมตัวเตรียมใจ ซึ่งในแง่หนึ่งก็อาจจะเกิดปฏิกิริยาในเชิงลบด้วยความรำคาญใจว่า ทำไมฝ่ายไทยจะต้องไปรับคำสั่ง หรือยอมจำนนต่อเงื่อนไขของฝ่ายสหภาพยุโรป
แต่แทนที่จะคิดกันในเชิงลบ ฝ่ายไทยเราน่าจะถามตนเองว่า เราควรจะรักษา บูรณะ และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ควบคู่กับการปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของแรงงานไทย เกษตรกร ผู้ประกอบการรายเล็ก รายย่อย หรือไม่?
ซึ่งเราก็คงต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวนี้ดีต่อไทยเราเอง ไม่ว่าฝ่ายสหภาพยุโรปหรือประเทศพัฒนาแล้วหนึ่งใด จะไม่ได้มาบอกกล่าวหรือมาตั้งเงื่อนไขกับไทยเราก็ตาม เราเองก็ต้องรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเราต้องปกป้องสิทธิมนุษยชนของคนไทยเราเองอยู่แล้ว
ดังนั้นเมื่อมีความคิดในเชิงบวกนี้ ก็เท่ากับว่าเรากำลังมุ่งพัฒนาตนเอง ใฝ่หาความร่วมมือกับฝ่ายสหภาพยุโรป และเจรจาต่อรองในรายละเอียดบางเรื่องที่ไทยเราจะต้องใช้เวลาปรับตัว อีกทั้งภาครัฐก็จะต้องมีการจัดตั้งงบประมาณเพื่อการส่งเสริมองค์ความรู้ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ ของฝ่ายผู้ประกอบการต่างๆ ของไทย ให้มีทักษะ และมีความทันสมัย
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี