“ตามที่กรมการขนส่งทางบก มีหนังสือแจ้งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณาปฏิบัติตามมติคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยให้ ขสมก.ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบการขนส่งในเส้นทางเดิมของ ขสมก. ที่ทับซ้อนกับเส้นทางของผู้ประกอบการเดินรถเอกชนตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง และคืนใบอนุญาตประกอบการขนส่งให้นายทะเบียนกลาง จำนวน 5 เส้นทาง
ขสมก. จึงมีความจำเป็นต้องยุติให้บริการเดินรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 5 เส้นทาง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2566เป็นต้นไป ดังนี้ 1.สาย ปอ.8 เส้นทาง สะพานพระพุทธยอดฟ้า-เคหะชุมชนร่มเกล้า 2.สาย ปอ.34 เส้นทาง รังสิต-หัวลำโพง 3.สาย ปอ.39 เส้นทาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4.สาย ปอ.140เส้นทาง แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 5.สาย ปอ.517 เส้นทาง หมอชิต 2-ศูนย์การค้าเทิดไท
ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการที่ถือบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทของ ขสมก. ได้แก่ บัตรโดยสารล่วงหน้ารายเดือน-รายสัปดาห์ บัตรโดยสารนักเรียน-นักศึกษา บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แบบรายเที่ยว และบัตร TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA ยังคงสามารถนำบัตรไปใช้ชำระค่าโดยสาร บนรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. ในสายอื่นๆ ได้ตามปกติ”
ประกาศของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ยุติการเดินรถประจำทาง 5 สายซึ่งเป็นไปตามนโยบาย “1 สาย 1 เจ้า” ที่ทยอยดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 เพื่อแก้ไขปัญหาเส้นทางเดียวกันมีผู้ประกอบการหลายรายแล้วเกิดการแย่งผู้โดยสาร นำไปสู่การขับขี่หวาดเสียวเป็นอันตรายหรือทะเลาะวิวาทระหว่างคนขับรถเมล์ด้วยกัน รวมถึงปัญหาการขาดทุนสะสมของ ขสมก. ที่รัฐบาลต้องเจียดงบประมาณไปอุดหนุนทุกปี
แต่การแก้ปัญหาของรัฐได้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เป็นเสียงบ่นดังระงมตลอดมา 1.รถเมล์เอกชนไม่เอื้อต่อผู้มีรายได้น้อย ในขณะที่รถเมล์ของ ขสมก. มีการลดหย่อนค่าโดยสารสำหรับผู้สูงอายุและรับชำระค่าโดยสารด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กับ 2.เน้นรถปรับอากาศแทนรถเมล์ร้อน ซึ่งแม้รถปรับอากาศจะสะดวกสบายกับผู้โดยสารมากกว่า แต่ราคาค่าโดยสารก็แพงขึ้น ที่ผ่านมาจึงมีหลายคนเลือกรอขึ้นรถเมล์ร้อนไม่ว่า ขสมก. หรือเอกชน เพราะค่าโดยสารอยู่ที่8.50-10 บาท (ยังไม่นับที่มีรายงานว่า รถเอกชนบางเจ้าบังคับซื้อบัตรเติมเงิน ไม่รับเงินสดอีกต่างหาก)
ฉัตรไชย ภู่อารีย์ นักวิชาการอิสระด้านการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง และที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการรถโดยสาร หมวด 4 เอกชน กรุงเทพฯ (รถสองแถว) ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2566 ชี้ปัญหาของแผนปฏิรูปรถเมล์กรุงเทพฯ-ปริมณฑล “เส้นทางปฏิรูปไม่สะท้อนความต้องการจริงของประชาชน” ต่างจากเส้นทางรถเมล์เดิมที่มีอยู่มานานก่อนแผนปฏิรูป ที่มีการปรับเพิ่ม-ลดอยู่ตลอดตามบริบทการสัญจรที่เปลี่ยนไป
เช่น ถนนลาดพร้าว มีการไปชงเรื่องถึงผู้มีอำนาจว่ามีรถเมล์วิ่งทับกันมากกว่า 10 สาย ซึ่งจริงๆ จะมีก็ไม่แปลกเพราะเป็นถนนที่เชื่อมกับถนนสายอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ต่างจากการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไป จ.เชียงใหม่ ก็ต้องผ่านจังหวัดอื่นๆ รายทางก่อนถึงเป็นธรรมดา ขณะเดียวกัน “มีข้อสังเกตในถ้อยคำ ว่า ขสมก.จำเป็นต้องหยุดเดินรถหรือไม่?” อ้างอิงจากมติคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ในการประชุมครั้งที่ 5/2562 วันที่ 17 พ.ค. 2562 ต่ออายุใบอนุญาตรถประจำทางเส้นทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องให้กับ ขสมก.
โดยมีข้อความที่ควรพิจารณาคือ “สำหรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางหมวด 1 ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง เมื่อได้มีการจัดสรรเส้นทางตามแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องแล้ว ให้ ขสมก. ขอเลิกประกอบการขนส่งตาม ม.44 แห่ง พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ต่อไป” จากนั้นในวันที่ 10 มิ.ย. 2562 นายทะเบียนกลางจึงกำหนดเงื่อนไขใบอนุญาต เรื่องมีประเด็นน่าคิด 3 ประการ
1.มติ 5/2562 และเงื่อนไข 10 มิ.ย. 2562 ใช้ประโยคว่า “เมื่อได้มีการจัดสรรเส้นทางตามแผนปฏิรูปแล้ว” (แต่ไม่ได้บอกว่า “เมื่อได้ออกใบอนุญาตตามแผนปฏิรูปเส้นทางใด ให้ยกเลิกเส้นทางเดินรถของ ขสมก. เส้นทางสายใด”) ซึ่งปัจจุบันยังออกใบอนุญาตตามแผนปฏิรูปไม่ครบ 269 เส้นทาง และ “การตีความกฎหมายต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษร” การที่ยังออกใบอนุญาตไม่ครบ 269 เส้นทาง จำเป็นหรือไม่ที่ ขสมก. จะต้องหยุดเดินรถ
2.เส้นทางเดินรถเดิมกับเส้นทางเดินรถใหม่5 เส้นทาง ไม่ใช่เส้นทางเดินรถที่มีแนวเส้นทางเดินรถเดียวกันตลอดเส้นทาง หากเลิกเดินรถแล้วจะมีเส้นทางใดทดแทนได้ เช่น “สาย 39” เส้นทางเดิม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต)-สนามหลวง ส่วนเส้นทางใหม่ตามแผนปฏิรูป ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต)- อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จึงกลายเป็นคำถามว่า “ปฏิรูปเพื่ออะไร?ให้คนต้องเดินทางด้วยการต่อรถหลายต่อและต้องจ่ายค่าโดยสารมากขึ้นหรือ?” จากเดิมที่สะดวกสบายนั่งรถเมล์ยาวๆ เพียงต่อเดียว และก่อนปฏิรูปได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหรือไม่
และ 3.การเลิกเดินรถสายต่างๆ ผู้อำนวยการขสมก. ต้องขออนุมัติเลิกประกอบการจากคณะกรรมการบริหาร ขสมก. และขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหรือไม่ เพราะขสมก. เป็นหน่วยงานของรัฐ จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ฏ.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 ไม่ต่างจากกรณีบริษัทเอกชน ที่การจะดำเนินการใดๆ ที่อาจส่งผลต่อรายได้ของบริษัท ต้องผ่านมติเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบริษัท (หรือประชุมผู้ถือหุ้นกรณีเป็นบริษัทมหาชน) ในที่นี้คือการยกเลิกเส้นทางให้บริการ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้จากการเดินรถ
“ขสมก. เป็นองค์กรของรัฐบาล เป็นองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นมาเพื่อประกอบการเดินรถโดยสารประจำทางให้แก่ประชาชนราคาถูก แล้วถ้า ขสมก. มันจะขาดทุน มันจะเจ๊งเพราะบริการรถโดยสารราคาถูกให้ประชาชนจะเป็นอะไรไปกู้เงินมาใช้สัพเพเหระไม่เป็นเรื่องเป็นราวเยอะแยะทำกันได้ ทีมาขาดทุนเพื่อประชาชนในกรุงเทพฯ-รอบกรุงเทพฯ ประชาชนต่างจังหวัดที่มาอยู่ในเมืองหลวงประเทศไทย มันจะขาดทุนก็ขาดทุนไป นี่คือสวัสดิการที่รัฐมีให้กับประชาชน จะต้องไปเดือดร้อนวิตกทำไม?” ฉัตรไชย กล่าว
นักวิชาการอิสระผู้นี้ ยังฝากไปถึง “รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม” ซึ่งทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการล้วนมาจาก “พรรคเพื่อไทย” อันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน ว่าจะ “ชี้ขาด” อย่างไร? เพราะการมีอยู่ของ ขสมก. คือบริการรถเมล์ค่าโดยสารราคาถูกแก่ประชาชน ในทางกลับกัน การหายไปของ ขสมก. หมายถึงค่าครองชีพของประชาชนที่เพิ่มสูงขึ้น จากการไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากรถของเอกชน
สัปดาห์นี้ “ที่นี่แนวหน้า” นำเรื่องนี้มานำเสนอ เพราะเห็นรัฐบาลโชว์ผลงาน “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย”กันไปแล้ว ก็หวังว่าจะหันมาดูแล “รถเมล์” บ้าง เพื่อให้นโยบาย“ลดค่าครองชีพจากการเดินทาง” ครบถ้วนสมบูรณ์!!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี