เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับเชิญไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมระหว่างประเทศ ที่จัดโดยองค์กร Bali Process ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อเรื่องว่าด้วย การเคลื่อนไหวข้ามเขตแดนระหว่างประเทศแบบไม่ปกติ การค้ามนุษย์ และการกักขังใช้แรงงานทาส องค์กร Bali Process นี้จัดตั้งมาแล้วร่วม 20 ปี โดยรัฐบาลอินโดนีเซียและออสเตรเลีย เพื่อพิจารณาเรื่องปัญหาผู้อพยพลี้ภัยในความหมายอันกว้างต่างๆ ซึ่งมีการประชุมทั้งในระดับรัฐมนตรี ระดับข้าราชการประจำ และบางครั้งก็เป็นการประชุมผสมผสานระหว่างฝ่ายข้าราชการกับองค์การระหว่างประเทศ และองค์การที่มิใช่รัฐ
ผมก็ถือโอกาสนี้เล่าสู่กันฟังว่า ผมได้พูดอะไรไป และได้แสดงข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไปอย่างไรบ้าง ต่อที่ประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน จากประมาณ 40 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำ
ผมได้แสดงจุดยืนว่า ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางออกจากถิ่นฐาน และประเทศถิ่นกำเนิดของตนเองด้วยความจำเป็นนั้น เพื่อความปลอดภัยของชีวิต และหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดั่งมนุษย์เรานั้นต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็น และความร้อนนั้นมีหลายประเภท เช่น สภาพการณ์ของการเมืองการปกครองที่ล้มเหลว ที่ผู้ปกครองเป็นผู้กดขี่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และเอารัดเอาเปรียบประชาชนพลเมือง หรือในประเทศนั้นๆ เกิดเหตุการณ์การสู้รบเยี่ยงสงครามกลางเมือง หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่จำเป็นที่จะต้องให้เกิดการโยกย้ายอย่างทันทีทันควัน หรือการถูกหลอกลวงเข้าสู่ขบวนการการค้ามนุษย์ และขบวนการแรงงานทาส เป็นต้น
ฉะนั้น บุคคลเหล่านี้จะถูกเรียกว่า ผู้อพยพผู้ลี้ภัย ผู้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย ผู้ลักลอบเข้าเมืองต่างๆ เหล่านี้ ก็จัดโดยรวมว่า เป็นผู้ตกอยู่ในภาวะตกระกำลำบาก ที่มิได้มาจากความคิดอ่านหรือฝีมือของตนเอง แต่เป็นเหยื่อ (Victims) หรือเป็นผู้ที่ถูกทำให้เป็นเหยื่อ (Victimizations)
ในการนี้เมื่อเขาเหล่านี้ต่างตกเป็นเหยื่อ ก็มีคำถามต่อมาว่า แล้วประเทศผู้รับ (Receiving country) จะปฏิบัติต่อผู้เป็นเหยื่ออย่างไร ก็มี 2 ทางเลือกคือ
1.ด้วยหลักมนุษยธรรม หรือในกรณีของไทยจะใช้หลัก พรหมวิหาร 4 ก็ได้ คือหลักเมตตา และหลักกรุณา
2.ใช้หลักความมั่นคงของประเทศ (National security) ซึ่งมักจะมิได้มีการนิยามอย่างแน่ชัดว่า มันคืออะไรและมีความหมายอย่างไร แต่ปล่อยให้ตกอยู่แค่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหลักกฎหมายเข้าเมือง (Immigration law) เป็นเครื่องมือกลไกดำเนินการ
ประเทศไทยโดยตลอดมาเท่าที่จะจำความทางประวัติศาสตร์ได้ ก็มักจะเป็นแหล่งให้ผู้คนรอบบ้านได้หนีร้อนมาพึ่งเย็น และลูก หลาน เหลน ต่อๆ มา ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกันพัฒนาประเทศไทยดังที่ทราบกันดีอยู่ เพราะสยามประเทศได้ใช้หลักมนุษยธรรมเป็นตัวตั้ง
แต่ในรัฐบาลชุดที่แล้ว และรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะมีหลายพรรคการเมืองจากรัฐบาลที่แล้วอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ ได้เลือกที่จะดำเนินการอย่างแข็งขัน บนพื้นฐานของการใช้หลักความมั่นคงและกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง โดยลืมเลือนอย่างสิ้นเชิงซึ่งหลักมนุษยธรรม และภายใต้กฎเหล็กดังกล่าวนี้ก็ก่อให้เกิดกระบวนการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ต่างๆ ตลอดแนวชายแดนไทย ในการหากินหาเศษหาเลย จากผู้เป็นเหยื่อต่างๆ ดังกล่าว
ผมก็ได้ถือโอกาสนี้เรียกร้อง วิงวอน ให้มีการทบทวนการต้อนรับและบริหารจัดการกับผู้ตกเป็นเหยื่อด้วยหลักมนุษยธรรม ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่าย แต่สังคมไทยก็อยู่ในวิสัยที่จะแบกภาระได้ และมีประสบการณ์มากมายมาก่อน และฝ่ายไทยก็ไม่จำเป็นต้องรับภาระแต่ผู้เดียว เพราะมีหลายมิตรประเทศ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรภาคประชาชนที่พร้อมที่จะสนับสนุน ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ โดยฝ่ายรัฐบาลไทยจะต้องเปิดพรมแดนเพื่อให้ผู้อพยพลี้ภัยได้เข้ามาพักพิงเป็นการชั่วคราว และในขณะเดียวกันให้มีการอำนวยความสะดวกและร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งจำเป็นในชีวิต รวมทั้งการแพทย์การสาธารณสุข
สำหรับการปราบปรามขบวนการมิจฉาชีพทั้งหลายนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศกลางทางหรือระหว่างทาง และประเทศปลายทางที่จะรับผู้อพยพลี้ภัยไปตั้งรกรากใหม่ โดยองค์การสหประชาชาติอยู่ในวิสัยที่จะเป็นแกนกลางประสานงานต่างๆ ได้ และในการนี้ความร่วมมือต่างๆ ก็จะประกอบด้วย การลาดตระเวนร่วมทั้งภาคพื้นดิน น้ำ และอากาศ ไปจนถึงการใช้ระบบดาวเทียมและการสื่อสารสมัยใหม่ในการค้นหาแหล่งต้นทาง เช่น ท่าเรือ และเส้นทางการล่องเรือทางทะเล ไปจนถึงการกระชับความร่วมมือทางด้านข่าวกรองสืบราชการลับ เพื่อให้รู้ซึ่งกลุ่มอาชญากรมิจฉาชีพต่างๆ
ทั้งนี้จากประสบการณ์การทำงานของตัวผมเอง ในฐานะอดีตข้าราชการพลเรือนและนักการเมือง ก็เห็นว่าฝ่ายข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมืองนั้น จะต้องมีองค์ความรู้ร่วมกัน และทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยการทำงานที่เกี่ยวกับความเป็นเหยื่อของเพื่อนมนุษย์นั้น จะต้องเริ่มจากจิตใจที่มีความเอื้ออาทร เอื้ออารีย์เป็นสำคัญ และต้องทุ่มแรงทุ่มใจกับภาระหน้าที่อย่างจริงจัง
ท้ายสุดผมก็ได้ย้ำว่า หากมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เราจะต้องเริ่มด้วยการมองผู้อพยพลี้ภัยทั้งหลายว่าเป็นเหยื่อ และมิใช่ผู้ที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก่อน แล้วเราก็จะได้คลี่คลายปัญหาต่างๆ กันได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี