นักการเมืองพยายามเข้าไปมีอำนาจการเมือง เพื่ออะไร เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้สาธารณชน หรือเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง
นักการเมืองในประเทศไทยทุกยุคทุกสมัยใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของสาธารณะ จริงหรือ หรือเพื่อใช้แสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง
ทำไม เมื่อนักการเมืองมีอำนาจรัฐ แล้วจึงใช้อำนาจรัฐกอบโกยผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของตนเอง คำตอบเรื่องนี้ตอบได้ง่ายมาก เพราะการตรวจสอบ อำนาจรัฐ เพื่อฉ้อฉลกอบโกยโกงกินได้โดยง่าย มิหนำซ้ำ เมื่อมีอำนาจรัฐแล้ว ยังสามารถใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง บิดเบือนกลไกการบังคับใช้กฎหมาย และการถ่วงดุลอำนาจได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น จึงพบเห็นเป็นประจำว่า ผู้มีอำนาจรัฐของเมืองไทยจำนวนมากไม่ยอมลงจากอำนาจโดยง่าย และพยายามยื้ออำนาจรัฐไว้ในกำมือให้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะสามารถยื้อไว้ได้
การประกาศใช้นโยบายสาธารณะต่างๆ ของรัฐบาลเป็นการกระทำชนิดหนึ่งที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐที่โปร่งใส ขาวสะอาดหรือไม่ แม้รัฐบาลจะอ้างว่านโยบายสาธารณะนั้นๆ จะช่วยให้ประชาชนได้รับผลดี แต่เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งแล้ว นโยบายสาธารณะหลายเรื่องเป็นการทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้มีอำนาจรัฐ เป็นการทำนโยบายสาธารณะเพื่อผลาญเงินงบประมาณของแผ่นดินมากกว่าจริงใจช่วยเหลือประชาชน
มีคำถามว่า นโยบายแจกเงินให้ประชาชนหัวละ 1 หมื่นบาท ตามแนวคิดของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เป็นนโยบายที่สร้างผลบวก หรือผลลบให้กับระบบเศรษฐกิจไทยมากกว่ากัน แล้วทำไมคำตอบในเรื่องนี้จึงต่างกันมากเหลือเกินระหว่างฝั่งรัฐบาลกับฝั่งของฝ่ายค้าน และฝั่งของนักวิชาการ รวมถึงเทคโนแครตด้านเศรษฐศาสตร์ระดับนำของประเทศไทย
ทำไมรัฐบาลมองว่านโยบายของตนจะให้ผลดีกับเศรษฐกิจไทย แล้วทำไมฝ่ายค้านมองว่าเป็นผลเสียหรือผลลบต่อเศรษฐกิจไทย การที่คนสองกลุ่มนี้มองเรื่องเดียวกันจากมุมที่ต่างกัน แล้วมีความเห็นต่างกัน นับเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่คำถามคือ ทำไมมุมมองถึงต่างกัน ราวกับว่ามองมุมหนึ่งจากสวรรค์ แล้วอีกมุมหนึ่งจากนรกอเวจี
โครงการแจกเงินดิจิทัลหัวละ 1 หมื่นบาทให้ประชาชน โดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ของนโยบายจนทำให้ฝ่ายค้านไม่สนับสนุน หรือว่าฝ่ายค้านจำเป็นต้องคัดค้านทุกเรื่องที่รัฐบาลนำเสนอ ซึ่งเป็นการคัดค้านแบบหัวชนฝา เนื่องจากมีมายาคติว่า เรื่องใดที่รัฐบาลเสนอ เป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องคัดค้านเสมอไป โดยไม่จำเป็นต้องดูว่าเรื่องนั้นจะให้ผลดีต่อประเทศชาติหรือไม่
ซึ่งเรื่องนี้ ก็คงไม่ต่างไปจากการที่รัฐบาลใหม่ต้องรื้อเรื่องเดิมที่รัฐบาลเก่าทำไว้แล้ว และต้องล้มล้างเรื่องเดิมๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้าได้ทำไปแล้ว เนื่องจากการทำงานต่อจากรัฐบาลเดิม แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดี เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รัฐบาลใหม่ก็ต้องรื้อเรื่องเดิมทิ้งไป เพราะต้องการสร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา เพราะการสร้างนโยบายใหม่ ทำให้รัฐบาลชุดใหม่ได้รับผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อของตนเอง โดยไม่นำพาว่าเรื่องเดิมที่รัฐบาลเดิมก่อร่างไว้แล้วนั้นจะให้ผลดีต่อประเทศชาติและประชาชนหรือไม่ก็ตาม
ข้ออ้างของรัฐบาลทุกชุดคือ เข้ามาเพื่อสร้างความเจริญให้ประเทศชาติและประชาชน แต่คำถามคือ ทำไมรัฐบาลใหม่จึงไม่สามารถทำงานสานต่อจากรัฐบาลเดิมได้ ทั้งๆ ที่งานเดิมของรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ก็เป็นงานที่ให้ผลดีต่อประเทศชาติและต่อประชาชน
กลับไปที่ประเด็นข้ออ้างเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วยการแจกเงินดิจิทัลหัวละ 1 หมื่นบาท เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ หรือคำถามที่ถามมาโดยตลอดคือรัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนไปแจกจ่ายให้ประชาชนได้
น่าสนใจ และน่าตั้งคำถามใช่ไหมว่า อันที่จริงแล้วก่อนที่ใครก็ตามจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล เขาเหล่านั้นต้องคิดให้รอบคอบและเบ็ดเสร็จก่อนแล้วใช่ไหมว่าสิ่งที่เขาเหล่านั้นใช้หาเสียง ต้องเป็นสิ่งที่สามารถทำได้จริง และต้องเป็นสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมาย หรือกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของบ้านเมือง แต่แล้วทำไมหลายต่อหลายเรื่องหรือหลายนโยบายที่พรรคการเมืองประกาศหาเสียงจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้จริง แต่ก็ยังคงเห็นพรรคการเมืองมากมายจงใจโฆษณาชวนเชื่อผ่านนโยบายเพ้อฝันตลอดเวลา
สาธารณชนตั้งคำถามว่า การประกาศว่าแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนหัวละ 1 หมื่นบาท (ตามเงื่อนไขที่จะแจกได้) เป็นเรื่องที่ทำได้ตามหลักกฎหมายของไทยหรือ คำถามต่อมาคือจะหาเงินจากแหล่งไหนไปแจกจ่าย กระบวนการหรือขั้นตอนการแจกจ่ายเป็นไปได้ตามข้อกำหนดของกฎหมายไทยหรือ แล้วคนที่จะได้รับเงินนั้น เป็นผู้ที่สมควรได้รับเงินแจก จริงๆ หรือ ทั้งนี้ยังมีคำถามต่างๆ นานาอีกสารพัดคำถาม ซึ่งรัฐบาลก็ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้างมาโดยตลอด แม้ล่าสุดจะมีคำตอบจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องการแจกเงินดิจิทัลหัวละ 1 หมื่นบาทแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนร้อยเปอร์เซ็นต์
หากจะพยายามเชื่อว่ารัฐบาลและนายกรัฐมนตรีมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือประชาชน และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริงก็ตาม แต่ก็ยังคงมีคำถามต่างๆ ตลอดเวลา แต่ที่น่าหนักใจคือนายกรัฐมนตรีไม่สามารถตอบคำถามจากสังคม และจากผู้สื่อข่าวได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่จะตอบเพียงแค่ว่ารัฐบาลตัั้งใจแจกเงินให้ประชาชน เพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อรัฐบาลเจอคำถามว่า จะหาเงินจากไหนมาเพื่อแจกและคำถามว่า หากแจกไปแล้วจะก่อให้เกิดภาระหนี้สินของประเทศมากมายสักเพียงใด คำถามเหล่านี้รัฐบาลยังไม่ได้ตอบให้ชัดเจน ถามว่ารัฐบาลมีสิทธิ์มั่นใจในนโยบายของตนเองหรือไม่ ตอบว่า ก็มีสิทธิ์ แล้วถามต่อไปว่า คนอื่นๆ ที่ไม่แน่ใจในนโยบาย มีสิทธิ์ตั้งคำถามกับรัฐบาลหรือไม่ ก็ตอบได้ว่ามีสิทธิ์เช่นกัน และคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็มีสิทธิ์จะมองว่ารัฐบาลอาจจะทำนโยบายนี้ด้วยความไม่โปร่งใสก็ย่อมได้ เพราะเมื่อรัฐบาลไม่สามารถตอบคำถามให้กระจ่างชัดได้ ก็หมายความว่าผู้ตั้งข้อสงสัยก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามกับรัฐบาลได้
ประเด็นสำคัญที่ผู้ไม่มั่นใจในรัฐบาลตั้งคำถามต่อรัฐบาลจนถึงบัดนี้คือ จะหาเงินจากไหนมาเพื่อแจกหัวละ 1 หมื่นบาท ซึ่งรัฐบาลบอกว่าจะออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ประเด็นที่น่าสนใจก็คือการที่รัฐบาลจะออกพระราชบัญญัติเงินกู้นั้นเป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลได้เคยแจ้งกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หรือไม่ นั่นหมายความว่ารัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อกู้เงินแล้วนำไปแจกจ่ายให้ผู้รับ ซึ่งไม่ใช่การบริหารเงินงบประมาณแผ่นดิน และบริหารเงินจากระบบภาษี ตามที่ได้แจ้งกับ กกต. ไว้ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง สส. ต้องย้ำว่าเรื่องนี้ไม่เป็นไปตามคำหาเสียง แต่สิ่งที่จะต้องดูต่อไปคือการออกพระราชบัญญัติเงินกู้จะผิดเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 หรือไม่ เพราะฉะนั้น จึงต้องรอดูว่าสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ แล้วยังต้องตามดูต่อไปว่ารัฐสภาจะมีความเห็นอย่างไรต่อประเด็นนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่าการถ่วงดุลและการตรวจสอบรัฐบาลเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และการกระทำทั้งสองอย่างนั้นไม่ถือเป็นการขัดแข้งขัดขาหรือขัดขวางการทำงานของรัฐบาล เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องบริหารงานด้วยความสุจริต โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้ตลอดเวลา
แน่นอนว่า รัฐบาลกับฝ่ายค้านจำเป็นต้องแข่งขันกันทางการเมือง เพื่อให้ได้คะแนนนิยมทางการเมืองจากประชาชนผํู้มีสิทธิเลือกตั้ง และต้องย้ำว่าการแข่งขันทางการเมืองตามหลักรัฐศาสตร์ไม่ใช่การขัดแข้งขัดขาทางการเมือง แต่เป็นการตรวจสอบ และถ่วงดุลกันเพื่อให้การเมืองดำเนินไปด้วยความโปร่งใส และสุจริต รัฐบาลที่มั่นใจว่าทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และโปร่งใส ย่อมไม่หวั่นวิตกหรือเกรงกลัวการตรวจสอบและการถ่วงดุล แต่จะยินดีให้ตรวจสอบและถ่วงดุลได้ตลอดเวลา เพื่อให้ผลงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพสูงสุด และเพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณชน
ประชาชนที่เป็นวิญญูชนโดยแท้ย่อมแยกแยะได้ว่าการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้านนั้น ฝ่ายใดทำงานโดยมุ่งเน้นการก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่แท้จริงต่อสาธารณะ และฝ่ายใดทำงานโดยเน้นการเล่นเกมการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์สำหรับตนเองและพวกพ้อง
รัฐบาลที่เน้นการทำงานเพื่อผลประโยชน์สาธารณะโดยแท้ ไม่หวั่นเกรงการตรวจสอบและถ่วงดุล ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่เน้นการสร้างผลงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะโดยแท้ ก็ไม่เล่นเกมการเมืองเพื่อขัดแข้งขัดขารัฐบาล จนรัฐบาลไม่สามารถทำงานเพื่อสาธารณชนได้ เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการให้ประเทศชาติพัฒนาก้าวหน้า
ต่อไป และต้องการเห็นประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี