เท่าที่ทราบกัน ประเทศไทยผลิตสุกร และเนื้อหมูได้เพียงพอต่อการบริโภคภายใน ซึ่งอาจจะมีส่วนเกินอยู่บ้างเล็กน้อยที่เราจะแปรรูปส่งออกไปที่ต่างประเทศ เช่นที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ไม่เคยมีข่าวคราวใดๆ ว่า ไทยเราผลิตสุกรไม่เพียงพอต่อการบริโภค จึงไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็อาจจะมีข้อยกเว้น เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่เรียกว่า เบคอน ที่มาจากยุโรปและสหรัฐ เราอาจจะมีการนำเข้ามา เพราะเป็นที่นิยมว่ามีรสชาติที่ดีกว่า แต่นั่นก็เป็นการนำเข้าเพื่อบริโภค โดยชาวไทยกลุ่มน้อยที่มีรสนิยมในเรื่องอาหารฝรั่งเท่านั้น
แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น มีข่าวคราวหนาหูเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเป็นหลายๆ ร้อยตู้คอนเทนเนอร์ (ที่ต้องติดเครื่องวัดอุณหภูมิ) และมีการแอบกระจายไปเก็บตามโกดังต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล และแล้วก็มีข่าวคราวการดำเนินการอย่างจริงจังโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และฝ่ายตำรวจที่เกี่ยวข้อง หากแต่การชี้แจงและการให้ข่าวของฝ่ายการเมือง และของฝ่ายข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องก็ดูกระท่อนกระแท่นไม่ได้ให้ภาพรวมของการหลั่งไหลเข้ามาแบบลักลอบของเนื้อหมูต่างประเทศ และการเก็บและการกระจายสู่เขียงหมูและผู้บริโภค ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องในการบริหารราชการของฝ่ายการเมืองและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ
ในการนี้ก็จะใคร่ขอถือโอกาสร่วมแสดงความคิดเห็น และทวงถามคำตอบจากภาครัฐเพื่อความกระจ่างของเรื่องทั้งหมดว่า มีหน่วยงานใดบ้างที่ต้องร่วมรับผิดชอบ และรับผิดในกรณีที่มีส่วนร่วมในการลักลอบละเมิดกฎหมายต่างๆ ในเรื่องสุกรข้ามเขตแดนนี้
ในโลกกว้างประเทศผู้ส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรก็คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และชิลี (ทั้ง 4 ประเทศนี้อยู่ทางฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก ตรงกันข้ามกับฝั่งตะวันตกที่ประเทศไทยตั้งอยู่) บราซิล สเปน เดนมาร์ก ออสเตรีย เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ฮังการี เยอรมนี ไอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และโปแลนด์ ซึ่งเนื้อสุกรจะเข้ามาสู่ประเทศไทยได้ก็ต้องมาทางเรือบรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมิ และฉะนั้นหน่วยงานไทยที่เกี่ยวกับการขนส่งทางทะเล ก็จะต้องมีข้อมูล เช่น กรมพาณิชย์นาวี กรมเจ้าท่ากรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศและกรมการค้าภายใน และกรมปศุสัตว์ อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารพาณิชย์ และธนาคารต่างๆ ที่มีธุรกรรมว่าด้วยการเงินระหว่างประเทศ ก็ต้องรู้ว่าบริษัทใดที่ทำหน้าที่ขนส่งสินค้าทางเรือ และบริษัทใดที่ทำการขนส่งภาคพื้นดิน และบริษัทใดที่มีโกดังแช่แข็ง มีกิจการที่เกี่ยวกับเรื่องสุกรมากน้อยเพียงใด
ส่วนทางผู้ประกอบการสุกรภายในประเทศไทยนั้น ถือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าแบบผิดกฎหมายของเนื้อสุกรจากต่างประเทศ ก็น่าจะมีข้อมูลที่จะชี้แจงต่อสาธารณชนและต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้วย (เว้นอาจจะมีผู้ประกอบการบางรายเป็นแบบเกลือเป็นหนอนเสียเอง) จุดสำคัญก็คือ กรมเจ้าท่ารวมทั้งกิจการท่าเรือ และกรมศุลกากรก็ต้องมีข้อมูลว่ามีเรือใดเข้าเทียบท่า และ
ขนย้ายคอนเทนเนอร์ และในแต่ละคอนเทนเนอร์นั้นมีรายการสินค้าอะไร และเมื่อเป็นสินค้าที่ต้องใช้ตู้คอนเทนเนอร์แบบปรับอุณหภูมิ ก็น่าจะง่ายขึ้นในการมีข้อมูลต่างๆ ส่วนโกดังเก็บตู้คอนเทนเนอร์ปรับอุณหภูมินั้นเมื่อเกี่ยวกับสินค้าเน่าเสีย ก็เป็นเรื่องที่กรมปศุสัตว์ และกรมการค้าภายในจะต้องติดตามตรวจสอบเป็นระยะๆ และในการนี้ฝ่ายปกครองท้องถิ่นคือ กทม. ก็ต้องมีองค์ความรู้และช่วยสอดส่องดูแลด้วย
ฉะนั้นฝ่ายรัฐบาล และกรมดีเอสไอ ก็สมควรที่จะต้องออกมาให้ข้อมูลต่อสาธารณชนในเรื่องภาพรวมของความเป็นไปที่ท่าเรือและกรมศุลกากร ไปจนถึงระบบการกระจายเนื้อสุกรเถื่อนจากโกดังแช่แข็งต่อสาธารณชน และตอบคำถามให้ได้ว่า การปล่อยปละละเลยที่ท่าเรือ ที่กรมศุลกากร ที่บริษัทขนส่ง บริษัทเดินเรือ นั้นคือใครบ้าง? และจะมีการออกมารับผิดกันมากน้อยเพียงใด? เพื่อที่จะได้จัดการปัญหาอย่างเป็นระบบเสียที
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี