กล่าวกันได้อย่างมั่นใจว่า ทุกรัฐบาลไทยมักจะมีความห่วงใยปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลโดยทั่วไป โดยต่างก็ออกนโยบาย และมาตรการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินออกมากันเรื่อยๆ รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ภายใต้การนำพาของนายกรัฐมนตรี เศรษฐาทวีสิน ก็ไม่ผิดแปลกไปจากรัฐบาลชุดก่อนๆ ในการที่จะคิดและเพียรพยายามที่จะแก้ปัญหาหนี้สินทั้งใน และนอกระบบ
แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใด ก็มักจะสนใจแก้ปัญหาเป็นจุดๆ เฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี และมักจะโน้มน้าวไปในทิศทางของการมีนโยบายและมาตรการแบบประชานิยม นั่นคือแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือขอไปทีไปก่อน โดยมิค่อยจะคำนึงถึงภาพรวม หรือโครงสร้างประเด็นปัญหาของหนี้สิน และพินิจพิจารณาหาทางออกทั้งระบบโครงสร้าง
ในกรณีของเกษตรกร ซึ่งก็มีแหล่งเงินกู้อยู่แล้ว ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. อีกทั้งยังมีกองทุนเสริมอีกด้วย และฉะนั้นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของทางภาคการเกษตร จึงมิใช่ปัญหาหลัก แต่การที่เกษตรกรมีหนี้สิน เมื่อวิเคราะห์แล้ว อาจจะมีสาเหตุจากหลายประการผสมผสานกัน เช่น
1. รายรับ-รายจ่าย หรือการลงทุนเพาะปลูก กับรายได้จากการขายพืชผลไม่สมดุลกัน หรือนัยหนึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายรับ และรายรับที่ได้ก็มักจะไม่เพียงพอที่จะเก็บเป็นเงินออม เหลือเพื่อใช้ในการเพิ่มคุณภาพชีวิต
2. ความเสี่ยงหรือภัยพิบัติจากธรรมชาติ เช่น น้ำขาด-น้ำเกิน แมลงศัตรูพืช
3. การใช้ชีวิตเกินตัว หรือฟุ่มเฟือยเกินรายได้ ไม่ได้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
4. ความไม่แข็งแกร่งของระบบสหกรณ์ ในการปกป้องผลประโยชน์และพยุงสถานะของเกษตรกรผู้เป็นสมาชิก เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ได้ก่อให้เกิดภาระหนี้สินแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถจะก้าวขึ้นเป็นชนชั้นกลางดังเช่นเพื่อนเกษตรกรในหลายประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ในอเมริกาเหนือ และในยุโรป
ในการนี้ ก็เป็นความจำเป็นที่ฝ่ายผู้บริหารประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ธ.ก.ส. สภาพัฒน์ ไปจนถึงกรมชลประทาน ที่จะต้องร่วมกันพิจารณาปรับโครงสร้างการผลิต และการตลาดด้านการเกษตร ตั้งแต่ความทั่วถึงของน้ำชลประทาน ต้นทุนการผลิตต่างๆ รายรับที่เหมาะสมจากการจำหน่ายผลิตผล ไปจนถึงการประกันความเสี่ยงต่างๆและการปรับปรุงพัฒนาสหกรณ์การเกษตร เพื่อการร่วมด้วยช่วยกัน รวมทั้งการเจรจาต่อรองกับกลุ่มพ่อค้าต่างๆ เป็นต้น
ส่วนกรณีของผู้ประกอบการด้านการผลิตสินค้าและด้านบริการต่างๆ ในระดับเล็ก กลาง ย่อย (SMEs) ไปจนถึงผู้ทำธุรกิจอิสระ (เป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้างของตนเอง) นั้น ประเด็นปัญหาคือความยากลำบากหรือการไม่มีความคล่องตัวในการเข้าถึง และกู้ยืมเงินจากทั้งสถาบันการเงินรัฐและเอกชน เพราะด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานา ที่ยุ่งยาก หรือเกินขีดความสามารถ และฉะนั้นก็ต้องไปกู้ยืมเงินจากนอกระบบ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ และการคุกคามต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ภาครัฐจะต้องอำนวยให้กลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าวนี้เข้าถึงซึ่งระบบการกู้ยืมที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีความสะดวกและยืดหยุ่น และเสริมสร้างระบบการตรวจสอบที่รัดกุม เพื่อป้องกันมิให้มีการนำเงินกู้ยืมไปใช้ผิดประเภทหรือผิดวัตถุประสงค์
ในภาพกว้างสังคมไทยเหมือนๆ กับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก เป็นสังคมแห่งการบริโภค และสิ่งจำเป็นในชีวิต ที่ช่วงหนึ่งอาจมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย เป็นของเกินความจำเป็น เป็นของผู้มีอันจะกินนั้น ได้กลับกลายมาเป็นสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในทุกหมู่เหล่า และในทุกวัย เช่น โทรศัพท์มือถือ และแท็บเลต-ไอแพด ซึ่งสนนราคาในความเป็นจริงนั้น บางรุ่น บางยี่ห้อ ก็มีราคาสูงโด่งเกินความสามารถของคนทั่วๆ ไป และก็เกินความสามารถของครอบครัวหนึ่งๆ ที่จะให้บุคคลในครอบครัวทุกคนต่างต้องมีโทรศัพท์มือถือกันทุกคน แต่เมื่อเป็นความจำเป็นและรายได้ไม่พอเพียง ก็ต้องไปกู้ยืมเงินมาซื้อเป็นสำคัญ ช่องทางที่สะดวกที่สุดก็คือ การเงินนอกระบบ
อีกทั้งระบบการจ่ายก่อนล่วงหน้า แล้วใช้คืนทีหลัง หรือนัยหนึ่งระบบเครดิตคาร์ด ได้อำนวยให้ผู้คนใช้จ่ายได้เกินตัวเกินกำลังไปได้ เกิดเป็นการใช้ชีวิตแบบฟุ่มเฟือยไปโดยปริยาย และเมื่อมีหนี้สินเกินตัว ก็ไม่สามารถส่งเงินคืนให้ธนาคาร หรือสถาบันทางการเงินได้ ก็ต้องออกไปกู้หนี้ยืมสินนอกระบบเป็นธรรมดา ถือเป็นการขาดวินัยอย่างหนึ่ง
แต่ที่น่าหวั่นวิตกไปกว่านั้นก็คือนโยบายและมาตรการของภาครัฐ และของพรรคการเมืองอุดมการณ์ประชานิยมที่ขะมักเขม้นกับการส่งเสริมลัทธิบริโภคนิยม (Consumerism) โดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ต้องให้ผู้คนใช้เงินจับจ่ายใช้สอยให้มากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าเป็นการเสริมสร้างความฟุ่มเฟือยและการใช้จ่ายเกินตัวโดยใช่เหตุหรือไม่?
อีกทั้งนโยบายการส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยแบบไม่อั้นนี้ ก็แค่เป็นวิธีหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ วิธี แต่ภาครัฐและพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องมิได้ใช้สติปัญญาเท่าที่ควร ส่วนฝ่ายข้าราชการประจำก็มีสติปัญญามากมาย รู้ดีรู้ชอบ รู้ว่าอะไรควรมิควร แต่ก็ขาดจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อสังคม และขาดความกล้าหาญที่จะคัดค้านนโยบายมาตรการของฝ่ายการเมืองที่ไม่เข้าที่เข้าทาง รังแต่จะสร้างความหายนะให้แก่บ้านเมือง
สังคมไทยจะคงอยู่กับปัญหาหนี้สินเกินตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้ เพราะจะฉุดรั้ง ทำให้ประเทศชาติตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ซึ่งปัญหาหนี้สินนี้ หากตั้งใจจริงก็ควรจะแก้ไขกันได้เพราะคนไทยเรามีสติปัญญาเปี่ยมล้น
แต่สิ่งที่จำเป็นของภาครัฐ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาณ วันนี้ ก็คือ ความรักชาติ และสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น กล้าหาญ ที่จะทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติเท่านั้น จึงจะสามารถวางมาตรการอย่างเป็นระบบในด้านเศรษฐกิจต่างๆ และครอบคลุมไปจนถึงการดำเนินการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วัฒนธรรมบริโภคนิยม และเปลี่ยนค่านิยมของการใช้จ่ายเกินตัวของสังคมไทยให้ได้
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี