เห็นการถกเถียงกันเรื่อง “สร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง” ของโลกโซเชียลฯ แล้ว ห่อเหี่ยวใจ เพราะมันเป็นเถียงกันด้วย “ความรู้สึก” ที่แทบจะปราศจากความรู้โดยสิ้นเชิง
1. “สร้างเถอะ...คนแก่ คนพิการ เขาจะได้ขึ้นไปบ้าง” เห็นพูดแบบนี้กันเยอะเหลือเกิน คำถามคือ แก่ขนาดไหน พิการก็เช่นเดียวกัน พิการแบบใด
2. ก่อนจะอ้างเหตุผลนี้ มีคำตอบไหม ว่าจะขึ้นไปบนยอดภูกระดึงเพื่ออะไร? ถ้าตอบว่า“ไปชมวิว” ได้ศึกษาบ้างไหมว่า จากจุดที่ขึ้นไปถึง จนถึง “จุดชมวิว” ในแต่ละจุดนั้น ห่างกันกี่กิโลเมตร, วิธีเดียวที่ไปถึงคือ “เดินเท้า” ทางที่ต้องเดินสภาพเป็นอย่างไร เคยศึกษาไหม?อยากให้ศึกษาให้ถ่องแท้ก่อน แล้วค่อยมาถกเถียงด้วยประเด็น คนแก่ คนพิการ หรือให้โอกาสเขาบ้าง เพราะไม่ใช่ขึ้นไปถึงปุ๊บ โอ๊ย...สวยปานสวรรค์วิมาน ไม่ใช่ครับ มันคือ “ป่า” ครับ ป่าที่ต้อง “เดินเท้า” ไปยัง “จุดชมวิว”
3. ภูกระดึง เป็น “อุทยานแห่งชาติ” ครับ ที่ได้เป็นเพราะมีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นต้นน้ำของ “ลำน้ำพอง” การเปิดบางเดือนให้เกิดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวนั้น เน้น “การศึกษาเส้นทางธรรมชาติ” ครับ ไม่ใช่รีสอร์ตสวยๆ ใส่เสื้อกันหนาวเริ่ดๆ ถ่ายรูปกับทะเลหมอกและสวนดอกไม้สวยๆ แล้วมานั่งจิบกาแฟเม้าท์มอยกัน มันคือการเดิน เดิน และเดิน รอบตัวคือป่า ป่า และป่า โดนแดดกันได้ไหม, กินนอนขี้เยี่ยวกันยุ่งยากมากเรื่องไหม, หากจะขึ้นไปและกลับลงมาในวันเดียวจะไปดูอะไร? มีอะไรให้ดู มีกิจกรรมอะไรให้ทำ? เดินขึ้นลงบันไดบ้านสักห้ารอบสิบรอบหอบปางตายหรือยัง?เมื่อนึกถึงว่า จะต้อง “เดินไปยังจุดชมวิว” ต่างๆ บนนั้น, ไม้เท้าและวีลแชร์ ถ้าแค่ไปบนทางเท้าของ กทม. ยังไม่สะดวก อย่าเพิ่งถามถึงภูกระดึงเลยนี่คือการคุยกันด้วยความเป็นจริงและเหตุผล
4. ที่ผ่านมา มนต์เสน่ห์ของภูกระดึงจึงเป็น “เรื่องระหว่างทาง” ไม่ใช่ “สวรรค์ที่ปลายทาง”การได้เดินขึ้นเดินลง พูดคุยยิ้มหัว หอบหิ้วช่วยเหลือ ต่อสู้กับร่างกายและจิตใจในระหว่างขึ้นลงหลังแป จึงเป็น “รสชาติ” และ “ความเป็นภูกระดึง” ที่เอามาเล่าเอามาอวดกันได้ไม่รู้จบวิวบนภูกระดึงไม่ได้สวยเลิศเลออะไร ธรรมดาๆ สู้ไปเดินสบายๆ ที่ม่อนแจ่ม อ่างขาง น้ำหนาว หรือภูเรือ ยังเริ่ดกว่าเยอะ เชื่อสิ
5. ผมนึกไม่ออกเลยว่า พอนั่งกระเช้าขึ้นไปถึงแล้วเจอแต่ป่ากับป่า รีวิวหรือคำบอกเล่าที่จะตามมา ซึ่งไม่มี story ระหว่างเดินขึ้น จะเหลืออะไรให้เล่า และจะคึกคักหรือซบเซาหลังจากนั้นขึ้นไปแล้วเดินเที่ยวภายในวันเดียวทันไหม ถ้าไม่ทัน จะปักหลักพักค้างที่ใด น้ำกินน้ำใช้ ห้องน้ำห้องท่า อาหาร ขยะ ของเสีย และเสียง จะบริหารจัดการอย่างไร
6. ชอบเอาไปเทียบกับ “บาน่าฮิลล์” ของเวียดนาม หึๆ... เอาอะไรมาเทียบกันครับ บาน่าฮิลล์ เป็นที่พักตากอากาศมาตั้งแต่สมัยที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม พอฟื้นฟูขึ้นใหม่ในปัจจุบันก็ต้องไปสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นบนนั้น ทั้งสะพานมือ, สวนดอกไม้, เครื่องเล่น, ร้านอาหาร, ลานเบียร์, สถานที่จัดคอนเสิร์ต, ที่พัก ฯลฯ บนนั้น ซึ่งดีมากนะครับ ผมไปแค่ครั้งเดียวยังชอบเลย มันคือ “เมืองเนรมิต” ที่อาศัยยอดเขาเป็นที่ตั้งเท่านั้น วิถีชีวิตคน กิน ขี้ ปี้ นอน ช้อปปิ้ง เช็คอิน ถ่ายรูป เหมือนอยู่ในเมืองไม่มีผิด แค่มีหมอกและอากาศเย็นฉ่ำเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นมา
7.ภูกระดึงซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมาย “อุทยานแห่งชาติ” จะกินจะขี้จะเยี่ยวยังลำบากเลยครับ คำถามตัวโตๆ คือ สร้างกระเช้าให้คนขึ้นไปเจออะไร? จะเก็บค่าขึ้น ค่ากิน ค่าเที่ยว ค่าเยี่ยวค่าขี้ และอื่นในอัตราบาน่าฮิลล์ได้ไหม? และเมื่อคนขึ้นไปแล้วไม่เจออะไร ไม่เกินสามปี กระเช้าที่สร้างไว้นี้ จะเก็บเงินหรือดึงดูดคนมาได้อีกด้วยเสียงเล่าลือใด?
8. ภูกระดึงถูกกันไว้เป็น “พื้นที่ป่า” เป็น “ป่าต้นน้ำ” เป็นระบบนิเวศพิเศษ ที่มีทั้งป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา ป่าเต็งรัง ฯลฯ เป็นป่าที่มีสัตว์ป่าจำนวนมาก ที่ไม่ได้วางวัตถุประสงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวเป็นการทั่วไปเปิดการท่องเที่ยวแค่ 1 ตุลาคม ถึง 31 พฤษภาคม ของทุกปี และจำกัดบริเวณเพื่อมิให้กระทบกับระบบนิเวศและสัตว์ป่า นี่คือ “ตัวตนของภูกระดึง”7 เดือนกับฤดูกาลท่องเที่ยว จะบริหารจัดการอย่างไรให้มันคุ้มทุนคุ้มค่า และมีเศรษฐกิจที่กระจายไปถึงมือ“ชาวบ้าน” จริงๆ
9. จึงเมื่อข้าม story การเดินขึ้น เดินลง ภูกระดึงแทบไม่เหลืออะไร “มัดใจ” และ “ดึงดูด” คนให้มาอีกเลย ดังนั้น ไม่ว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง ก็โปรดถกเถียงกันด้วยสติปัญญา ด้วยข้อมูลความรู้ ไม่ใช่เรื่องอยากหรือไม่อยาก หรือเรื่องของความรู้สึกที่อ้างกันไป ส่งๆ เดชๆ
10.เทคโนโลยีการก่อสร้างสมัยนี้ ไม่มีอะไรที่ผมเป็นห่วงหรอก การจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก็เชื่อว่าพอมีทางให้ทำได้ แต่ความคุ้มค่า, ความประทับใจต่อการท่องเที่ยว และการใช้งานระยะยาวนี่สิ ที่อยากให้คิดกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่อารมณ์ชั่ววูบ อยากได้ อยากมี อยากไป หรือไม่ก็แค่ถกเถียงเพื่อจะเอาชนะกัน เพราะมันเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ และเปลืองอารมณ์ ที่สำคัญที่สุดคือ “หัวใจของเรื่อง” ที่อ้างว่า จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ คำถามคือ เม็ดเงินจะไปกองอยู่ที่ใคร คนในพื้นที่ ชาวบ้าน หรือนายทุน
ล่าสุด นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเพิ่มเติมว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2566 วาระการประชุมมีการนำเสนอโครงการของแต่ละจังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณา ซึ่ง จ.เลย เสนอโครงการสร้างกระเช้าลอยฟ้าขึ้นภูกระดึงด้วย และที่ประชุมอนุมัติในหลักการ เพื่อนำไปเรียงลำดับพิจารณาความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณ และในรายละเอียดโครงการมีการเสนอให้ออกแบบการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณ 28 ล้านบาท นำไปประกอบการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ให้กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ต้องการให้มีการสร้างโครงการกระเช้าลอยฟ้า ที่สร้างรายได้ในพื้นที่และสร้างรายได้เข้าจังหวัด ขณะเดียวกันก็มีการทำอีไอเอมาแล้วหลายครั้ง และที่ผ่านมาโดยแบบก่อสร้างที่เคยเห็นที่ผ่านมามีทั้งการสร้างกระเช้าลอยฟ้าคู่กับสร้างทางเดินขึ้น” นางพวงเพ็ชร กล่าว
นางพวงเพ็ชร ระบุต่อว่า ภูกระดึงเป็นอุทยานแห่งชาติ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะทำอะไรก็จะต้องระมัดระวัง เรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะ ส่วนการดำเนินการ จะแล้วเสร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่นั้นก็อยู่ที่การดำเนินงาน งบประมาณและจังหวัด ซึ่งการออกแบบการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ส่วนทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไรนั้น ไม่ได้มีกำหนดไว้
สรุป : จะสร้างหรือไม่สร้าง ด้วยเหตุผลใดเอาให้จบในรัฐบาลนี้เสียทีได้ไหม ไม่งั้นก็จะมีการขุดผีกระเช้าภูกระดึงขึ้นมาอีกถกเถียงกันอีกครั้งแล้วครั้งเล่า
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี