ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว คือ “เรื่องการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากรทางเศรษฐกิจกลับคืนมา”ไม่แตกต่างจากการต่อสู้ของแรงงานเรื่องวันลาคลอด เมื่อปี 2536 หรือ 3 ทศวรรษที่แล้ว แรงงานหญิงมีครรภ์ที่ต้องออกไปประท้วง อดข้าว และ กรีดเลือด จนได้สิทธิวันลาคลอดได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 60 วัน เป็น 90 วัน อันทำให้แรงงานหญิงที่ทำงานออฟฟิศได้รับอานิสงส์ผลบุญไปด้วย
“ประเทศไทยพัฒนาเศรษฐกิจโดยการกดขี่ขูดรีดแรงงาน และ การเอารัดเอาเปรียบโดยกลุ่มทุนโดยเฉพาะไม่กี่ตระกูลบนยอดพีระมิด อันครอบคลุมชีวิตคนไทยในทุกมิติ แน่นอนว่า การลดความเหลื่อมล้ำจะต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนโดยตรงจากภาคการเมือง หรือผู้ที่จะมีอำนาจในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพื่อให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่ข้อสรุปที่มีความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์และทางศีลธรรม
การจัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมมากขึ้น จะสามารถปรากฏเป็นจริงได้ จึงขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นจริงจังของรัฐบาล โดยเราสามารถมีงบประมาณสำหรับระบบสวัสดิการคนไทยและการลงทุนในอนาคตของประเทศ โดยการเพิ่มรายได้จากภาษี และปฏิรูปการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนสมทบการออมในวัยทำงาน ตามข้อเสนอและรายงานการศึกษามากมายจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ และ องค์การระหว่างประเทศ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
รายงานในปี 2566 ของธนาคารโลกเรื่อง “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย -การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” จึงเสนอให้ประเทศไทยสามารถปฏิรูปเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมและความยืดหยุ่น (resilience) มากขึ้นได้ โดย 1.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ 2.เพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ และ 3.ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้น เพราะการเข้าสู่สังคมสูงวัย จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในด้านบำนาญ สวัสดิการผู้สูงอายุ และสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการเพิ่มงบประมาณภาครัฐด้านความช่วยเหลือทางสังคม โดยอย่างยิ่ง นโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เคยกล่าวในปาฐกถาว่า “อนาคตของเศรษฐกิจไทย จำเป็นต้องกระจายอย่างทั่วถึง (inclusive) ไม่ใช่เติบโตแบบกระจุกอยู่เพียงบางกลุ่มคน บางธุรกิจ หรือบางพื้นที่” ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง เราจำเป็นต้องเปลี่ยนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจะเผชิญแรงกดดันจากการทำลายล้างทางดิจิทัล(digital disruption) และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ถ้าไม่ทำให้การเจริญเติบโต (growth) สามารถแบ่งปันกันในวงกว้าง จะไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเสนอแนะแนวทางการพัฒนาระบบภาษีและการปฏิรูประบบงบประมาณ โดยเราสามารถมีแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทย ได้แก่ 1.จัดระบบความสำคัญก่อนหลังในการจัดสรรงบประมาณประจำปี กล่าวคือ ลดงบที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน 2.ยกเลิกสิทธิพิเศษและค่าลดหย่อนทางภาษีสำหรับมหาเศรษฐีและกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น BOI และ Capital Gain Tax
3.เก็บภาษีเพิ่มจากส่วนต่างของกำไรที่ได้จากการขายหลักทรัพย์และที่ดิน 4.ปรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีประสิทธิภาพ 5.ลดเกณฑ์ยกเว้นภาษีการรับมรดกที่มูลค่า 100 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับมรดกไม่ถึง 100 ล้านบาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี ควรจะปรับลดลงมาให้สมเหตุสมผลมากกว่านี้ 6.เพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และ อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะอัตราต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับสากล
7.ปรับระบบภาษีเงินได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใดก็ตามต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันหมด ไม่ใช่เหลื่อมล้ำกันระหว่างภาษีรายได้ที่จัดเก็บจากเงินเดือน เงินปันผล กำไร หรือ ที่ดิน ซึ่งโดยเฉลี่ยคนรวยเสียภาษีในอัตราต่ำกว่ามนุษย์เงินเดือน 8.หน่วยงานของรัฐที่ถือครองที่ดินมากเกินจำเป็นและไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ควรนำมาให้ประชาชนเช่าทำมาหากินเมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น รัฐจะเก็บภาษีได้มากขึ้น
ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปีนี้ธนาคารโลกยืนยันเสนอหลายครั้งผ่านสื่อให้ขึ้น VAT เป็น 10% ตามรายงาน “การประเมินรายได้และรายจ่ายภาครัฐของประเทศไทย-การส่งเสริมอนาคตที่ทั่วถึงและยั่งยืน” โดยผู้เขียนเห็นว่า ควรทำ earmarked คือ เก็บเพิ่มเอามาใช้จ่ายตรงให้เป็นประโยชน์กับประชาชน และ ต้องควบคุมการฉวยโอกาสขึ้นราคาของนายทุนที่ยึดกุมธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง
แน่นอนว่า ประเทศไทยก็ยังมีโอกาสเลือกทิศทางที่มีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นธรรม ไม่ใช่กระจุกทรัพยากรและโอกาสเพียงแค่คนส่วนน้อยบนยอดพีระมิด แบบคนส่วนใหญ่ทำงานทั้งชีวิตก็ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปาก ทั้งที่ร่วมจ่ายภาษีการบริโภคมาตลอด ในขณะที่ตระกูลรวยสุดกอบโกยด้วยการเอารัดเอาเปรียบจากการผูกขาดและมีอำนาจเหนือตลาดเพราะเราคงไม่อยากจะเห็นภาพที่ความเหลื่อมล้ำสะสมมากเข้า จนในที่สุดกลายเป็นโศกนาฏกรรมตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
ในเมื่อประเทศไทยจำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับงบบำนาญข้าราชการและงบรักษาพยาบาลข้าราชการที่จะพุ่งขึ้นในอนาคต ก็ควรจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้หลักวิชาการทางการคลัง ทั้งด้านงบประมาณและภาษีเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างด้านความเหลื่อมล้ำ ช่วยสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยระบบสวัสดิการ และ เป็นเส้นทางอันพึงปรารถนาของการพัฒนาที่ยั่งยืนและปรองดอง!!!
หมายเหตุ : บทความนี้เดิมชื่อ “อีกครั้งสำหรับการพัฒนาบำนาญผู้สูงอายุเพื่อระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” เขียนโดย ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนได้รับการปรับปรุงให้พอดีกับเนื้อที่ของฉบับหนังสือพิมพ์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี