โครงการเติมเงินหมื่น ดิจิทัล วอลเล็ต ที่จะออกพ.ร.บ.กู้เงินมาแจก 5 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่มีประชาชนจำนวนไม่น้อยคาดหวังตามคำคุยโวของนักการเมือง
และขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า เป็นโครงการที่สังคมมีความวิตกกังวลในวงกว้างและคัดค้านด้วยเช่นกัน โดยต้องการให้รัฐบาลหามาตรการอื่นในการกระตุ้นดูแลเศรษฐกิจปากท้องที่คุ้มค่า ไม่สร้างผลกระทบ สร้างภาระมหาศาลแก่ประเทศชาติเหมือนโครงการนี้
1. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ป.ป.ช. ทำหนังสือข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัล วอลเล็ตฯ ส่งมาถึงรัฐบาลแล้ว โดยการประชุมคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ จะนำรายงานของ ป.ป.ช.มาพิจารณาด้วย
2. เมื่อเร็วๆ นี้ มีเสียงสะท้อนผ่านโพลล์ “นิด้าโพล” เรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจกับการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต”
2.1 ระบุถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
พบว่า ร้อยละ 34.66 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว
รองลงมา ร้อยละ 33.66 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศไว้
ร้อยละ 18.55 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อไปในปีนี้ แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 5.88 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568
ร้อยละ 4.58 ระบุว่า เลื่อนการดำเนินนโยบายไปในปี 2568 แต่แจกเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจ
และร้อยละ 2.67 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
2.2 ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนหากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจยกเลิกนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
พบว่า ร้อยละ 68.85 ระบุว่า ไม่โกรธเลย
รองลงมา ร้อยละ 12.37 ระบุว่า ค่อนข้างโกรธ
ร้อยละ 9.39 ระบุว่า โกรธมาก, ร้อยละ 8.85 ระบุว่า ไม่ค่อยโกรธ และร้อยละ 0.54 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
3. หลังจากนั้น ปรากฏว่า คนในแวดวงทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ต่างออกมาพูดจาเขย่าขวัญสังคม ในทำนองว่าถ้าไม่ทำโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เศรษฐกิจไทยจะวิกฤตเหมือนสมัยปี 2540
ล่าสุด โฆษกรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ ก็ออกมาบอกว่า แม้สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ได้อยู่ขั้นวิกฤตในสายตาของหลายๆ คน แต่คาดการณ์ได้ว่า หากไทยยังไม่ดำเนินนโยบายใดๆ ที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่ไม่ใช่เพียงชะลอการเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยเจอวิกฤตที่แท้จริง รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการดิจิทัล วอลเล็ต ยังจำเป็น การอัดฉีดเงินเข้าระบบจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้คนรายได้น้อยมีเงินจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเงินทั้งระบบ แก้ปัญหาไม่ให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ได้ว่ากำลังจะเกิดขึ้น
4. รัฐบาลไม่ควรสร้างความสับสน หรือแกล้งทำเป็นสับสน ส่งสัญญาณผิดๆ ต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ
ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยบางภาคส่วนบางส่วนมีปัญหาจริงๆ (เปรียบเหมือนเรือ ก็มีส่วนที่มีรูรั่ว จะต้องรีบอุดรูรั่วทันที ไม่ใช่รอจะเอาเรือขึ้นอู่กู้เงินมหาศาลมายกเครื่องใหม่)
ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่เป็นจริงในขณะนี้ อาทิ การลงทุนภาครัฐติดลบ, ธุรกิจบางส่วนแห้งเหี่ยวโรยแรงจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปและคู่แข่งที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีออนไลน์ เช่น ตลาดค้าขายบางส่วนคนเดินน้อย เงียบเหงา เป็นต้น, รายรับต่อหัวนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง, หนี้ครัวเรือน/หนี้นอกระบบ, ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ, ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยถดถอยบางส่วน ฯลฯ
รัฐบาลควรเร่งแก้จุดที่เป็นปัญหาทันทีเช่น ตลาดรายย่อยที่เงียบงัน ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จะทำอย่างไรควรทำโครงการแบบ “คนละครึ่ง” หรือ “เราเที่ยวด้วยกัน” หรืออื่นๆ เข้ามาช่วยกระตุ้นเฉพาะกลุ่มหรือไม่? ฯลฯ
ที่แน่ๆ รัฐบาลไม่ควรรอกู้มาแจก 5 แสนล้านบาท โดยอ้างว่าถ้าไม่ได้ทำ เศรษฐกิจจะวิกฤตเหมือนปี 2540
การกู้มาแจก 5 แสนล้านบาท ไม่ใช่การแก้โดยใช้สติปัญญาแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
การกู้มาแจก ไม่ตรงปก ไม่ตรงตามนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทย และที่แจ้งไว้เป็นลายลักษณ์อักษรต่อกกต.
รัฐบาลควรใช้สติปัญญาหาแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจทันที ตรงจุด ไม่รอคอยหวังผลทางการเมืองของพรรคการเมืองตนเอง
5. ข้อมูลการพยายามเขย่าขวัญรายวันของรัฐบาลว่าเศรษฐกิจไทยจะวิกฤติถ้าไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต สวนทางกับตัวเลขจริงทางเศรษฐกิจ และมุมมองของหน่วยงานและสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือหลายสำนัก เกือบทั้งหมดต่างมองว่า แม้จะไม่มีโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ด้วยปัจจัยเศรษฐกิจโลกและมาตรการอื่นๆ ของรัฐบาลที่ทำไปแล้วบ้างส่วน ก็ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 และปี 2568 ยังขยายตัวเป็นบวกได้ต่อไป (ดังที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้)
6. ประการสำคัญ ถ้ารัฐบาลเศรษฐาอยากจะกู้มาแจกจริงๆ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ห้าม ป.ป.ช.เพียงแต่เตือนถึงความเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมาย และช่องโหว่ที่จะเกิดการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อป้องปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ประเทศชาติ อันยากที่เยียวยาภายหลัง
ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช.ที่น่าสนใจ บางส่วน ระบุว่า
...ป.ป.ช. แนะนำว่า การหาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 และพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล ได้มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวนั้น มีความแตกต่างกัน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรดำเนินการตรวจสอบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 หรือไม่ มาประกอบการพิจารณาด้วย มิฉะนั้น จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับพรรคการเมืองสามารถหาเสียงไว้อย่างไร เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามที่ได้หาเสียงไว้
...การดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรคำนึงถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตลอดจนผลกระทบและภาระทางการเงิน การคลังในอนาคต ภายใต้หลักธรรมาภิบาล 4 ด้าน คือ ความโปร่งใส (Transparency) การถ่วงดุล (Checks and Balances) การรักษาความมั่นคงของระบบการคลัง (Fiscal Integrity) และความคล่องตัว (Flexibility) ซึ่งรัฐบาลพึงต้องใช้ความระมัดระวัง พิจารณาระหว่างผลดีผลเสียที่จะต้องกู้เงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ในขณะที่ตัวทวีคูณทางการคลังมีเพียง 0.4การกู้เงินจึงเป็นการสร้างภาระหนี้แก่รัฐบาลและประชาชนในระยะยาว ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณในการชำระหนี้จำนวนนี้เป็นระยะเวลา 4 - 5 ปี กระทบต่อตัวเลขการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ
...การดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมายอย่างรอบคอบ ประกอบด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 (มาตรา 172) พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (มาตรา 53) พระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6) พระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย
...จากข้อมูลภาวะเศรษฐกิจของหน่วยงานต่างๆที่ได้จากการศึกษา และตัวทวีคูณทางการคลังรวมถึงตัวบ่งชี้ภาวะวิกฤตที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมและประมวลข้อมูลจากงานศึกษาของธนาคารโลกและ IMF มีความเห็นตรงกันว่า ในช่วงเวลาที่ศึกษาอัตราความเจริญเติบโตของประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เพียงแต่ชะลอตัวเท่านั้น ดังนั้น ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน รัฐบาลควรพิจารณาและให้ความสำคัญต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น การกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน การกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การเพิ่มทักษะให้แก่แรงงาน เป็นต้น
...หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องการช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลควรช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีฐานะยากจน ที่เปราะบาง ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เท่านั้น โดยแจกจากแหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่เงินกู้ ตามพระราชบัญญัติเงินกู้ และจ่ายในรูปเงินบาทปกติในอัตราที่เหมาะสม เพื่อพยุงการดำรงชีวิตของกลุ่มประชาชนที่ยากจน โดยการกระจายจ่ายเงินเป็นงวดๆ หลายงวดผ่านระบบแอปเป๋าตังที่มีประสิทธิภาพ และมีฐานข้อมูลครบสามารถทำได้รวดเร็ว การดำเนินการกรณีนี้ หากใช้แหล่งเงินงบประมาณปกติ มิใช่จากการกู้เงินตามพระราชบัญญัติเงินกู้ จะลดความเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ ขัดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 และขัดพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 ประการสำคัญไม่สร้างภาระหนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว...”
สุดท้าย นับถอยหลังโครงการกู้มาแจก 5 แสนล้านบาท ว่า จะเดินต่อหรือจะปรับเปลี่ยนแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจ มาทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างตรงจุด ทันที
โดยไม่ต้องเสียเวลารอโครงการที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงทางกฎหมาย เสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง เสี่ยงทุจริต และไม่คุ้มค่าต่อประเทศชาติส่วนรวม
““““จบ””””
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี