เมื่อวานนี้ (4 มี.ค.2567) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
คดีกล่าวหาว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
กรณีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงินรวม 240 ล้านบาท
คดีนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ, บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน), นายระวิ โหลทอง เป็นจำเลยที่ 1-6 คดีหมายเลขดำ
ที่ อม.2/2565
ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้องจำเลยทุกราย และได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในเฉพาะคดีนี้
1.กรณียุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่มีการจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2022 วงเงิน 240 ล้านบาทนั้น
สุดท้าย โครงการกู้เงินมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ทำ เงินไม่ได้กู้ เพราะการกฎหมายกู้เงินดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดวินัยการเงินการคลัง ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ จึงได้แต่จัดอีเว้นท์
ขายฝันโครงการคมนาคมมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ยุคยิ่งลักษณ์ โดยมีพระเอกคือรถไฟความเร็วสูง มีการตระเวนจัดตามต่างจังหวัด เช่น หนองคาย โคราช พิษณุโลก เป็นต้น
การจัดจ้างดังกล่าว ถูกตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมฮั้วสื่อยักษ์ใหญ่ดำเนินการก่อนประมูล จัดซื้อจัดจ้างโดยมิชอบ กระทั่ง ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และยื่นฟ้องต่อ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ป.ป.ช.ระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างเดือน ส.ค. 2556-มี.ค. 2557 ฝ่ายการเมืองปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้างโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เอกชนบางราย
กล่าวหาว่า มีพฤติกรรมกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ให้เอกชนดังกล่าวเป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ 12 จังหวัด รวม 240 ล้านบาท โดยใช้งบกลางปี 2556 วงเงิน 40 ล้านบาท และงบประมาณทั่วไปปี 2557 วงเงิน 200 ล้านบาท
มีการเรียกเข้าพบที่ห้องทำงานเลขาธิการนายกฯ ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อรับทราบและตกลงเป็นผู้รับจัดงานอีเว้นท์ มีการสืบราคาจากสื่อในเครือเดียวกัน มีการลงนามในหนังสือสั่งจ้าง ก่อนจะได้รับเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณ ทั้งที่ส่วนราชการทราบดีว่า การลงนามสั่งจ้างนั้น ทำได้ต่อเมื่อสำนักงบประมาณแจ้งจัดสรรเงินงบประมาณมาให้แล้วเท่านั้น เป็นต้น
2.ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง
ทำไมจึงพิพากษายกฟ้อง?
2.1 ปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการนำงบกลาง มาจัดทำโครงการ Roadshow มีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหาย หรือโดยทุจริตหรือไม่
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า พยานหลักฐานได้ความว่า กำหนดเวลาเริ่มดำเนินโครงการ Roadshow เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 เอง และมิได้กำหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มาดำเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กำหนดเวลาไว้ ถือได้ว่าเป็นการกระทำในกรณีมีความจำเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ
ขณะที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่าร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน
เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารและผ่านมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณมีความเห็นว่าเห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้
กรณีย่อมมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทำไปบนพื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้นแม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ตราขึ้นโดยไม่ใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน ก็เป็นเพียงการวินิจฉัยถึงความชอบของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น ทั้งยังเป็นการวินิจฉัยภายหลังเกิดเหตุโดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดทางอาญาซึ่งต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในคดีนี้
เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นประการใดย่อมถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าโครงการ Roadshow ไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน แม้โครงการ Roadshow จะดำเนินการในพื้นที่เดียวกันกับโครงการกระทรวงคมนาคม แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่ 2 จังหวัดแรก ทั้งโครงการ Roadshow มีภารกิจครอบคลุมมากกว่า ถือไม่ได้ว่าเป็นโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน
2.2 ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทำโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่?
ศาลฎีกาฯ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจัดทำโครงการ Roadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน
จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 เข้ามานำเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จำเลยที่ 4
และที่ 5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น ที่จำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวก และจำเลยที่ 1
เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการ Roadshow โดยมีพนักงานของจำเลยที่ 4 และที่ 5 ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชน รวมทั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้างอนาคตไทย 2020 นั้น ก็มิใช่เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจหรือให้การรับรองการดำเนินการ ทั้งเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด
2.3 ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่?
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อน
สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลำดับชั้น
โครงการ Roadshow กำหนดเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556 และจำเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา ทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียนข้อความรับรองว่าตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทำโดยเร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
...ส่วนที่คณะกรรมการกำหนดราคากลางนำข้อเสนอราคาของจำเลยที่ 4 มาใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกำหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริตหรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคำสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จำเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้ก่อน
ประการสำคัญที่สุด หลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด วงเงิน 200,000,000 บาท ก็ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะใช้วิธีการประกวดราคาได้ กรณีนี้จึงมีเหตุผลเพียงพอให้จำเลยที่ 2 เข้าใจได้ว่า
การจัดจ้างโครงการ Roadshow อีก 10 จังหวัด เข้าเงื่อนไขตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นกัน
2.4 ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันดำเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับเงินประจำงวด โดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 (ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ)หรือไม่?
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า ที่มาของการดำเนินการดังกล่าว มิใช่เกิดจากการกระทำเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจำเลยที่ 3 เอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ต้องเสนอจำเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจำเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยที่ 2 จำเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทำโดยมิชอบ
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ด้วย ก็เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจำงวดเป็นดุลพินิจและอำนาจของคณะรัฐมนตรีโดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งหมด คือประเด็นหลักๆ ของข้อกล่าวหา และคำพิพากษาศาลฎีกาฯ
ติดตามต่อไปว่า จะมีการยื่นอุทธรณ์คดีต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไปหรือไม่?
เช่นเดียวกับคดียิ่งลักษณ์ย้ายถวิลเอื้อญาติ ที่ปัจจุบัน อัยการสูงสุดยังอยู่ระหว่างพิจารณาจะอุทธรณ์หรือไม่
ยิ่งลักษณ์จะรับโชค 2 ชั้นเลยหรือไม่?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี