เมื่อมีสภาก็น่าจะมีดาวสภา คือสมาชิกสภาที่อภิปรายแสดงความคิดเห็นมากในที่ประชุมหรือเป็นผู้ที่อภิปรายเล่นงานหรือซักถามรัฐบาลมากและเก่ง จึงมีคนอยากทราบเหมือนกันว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดแรก ที่เมืองสยามมีนั้นมีใครเป็นดาวสภาฯดวงเด่น ที่ปรากฏให้เห็นบ้าง ดังนั้นเรื่องเล่าจากสภาจึงนำเสนอถึงดาวดังของสภาฯยุคแรก ในบรรดาสมาชิก 70 นายที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาฯชั่วคราวชุดนี้ มีสมาชิกของคณะราษฎรอยู่ 33 นาย และไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎรอยู่ 37 นาย อาจคาดกันว่าผู้ที่จะอภิปรายแสดงความคิดเห็นมากน่าจะเป็นสมาชิกของคณะราษฎร ในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะสมาชิกสภาฯที่อยู่นอกรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่อภิปรายเป็นประจำ มีความคิดเห็นดี คารมแหลมคม กล้าท้วงติงรัฐบาลนั้น คือพระยานิติศาสตร์ไพศาล ท่านไม่ใช่สมาชิกคณะราษฎร แต่ก็เป็นบุคคลที่โน้มเอียงไปทางสนับสนุนคณะราษฎรค่อนข้างมาก
ในช่วงแรกนั้นนักกฎหมายใหญ่น้อยจะเป็นผู้อภิปรายซักหรืออธิบายความ ให้ความคิดเห็นหรือให้ความรู้เรื่องการประชุมสภาฯเรื่องเกี่ยวกับกฎ ข้อบังคับ กติกา รวมทั้งการพิจารณาร่างกฎหมาย มากกว่าใคร คนของคณะราษฎรที่อภิปรายให้ความคิดเห็นเกือบทั้งหมดเป็นฝ่ายพลเรือน และคนของคณะราษฎรฝ่ายรัฐบาลที่ต้องชี้แจงมากหน่อย คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม สมาชิกคณะราษฎรที่อภิปรายเสนอความเห็นบ้างสักครั้งสองครั้ง ก็มีนายประยูร ภมรมนตรี นายแนบ พหลโยธิน นายตั้วลพานุกรม นายยนต์ สมานนท์ นายบรรจงศรีจรูญ และนายจรูญ สืบแสง สมาชิกคณะราษฎรฝ่ายทหารน้อยรายมากที่จะอภิปรายในสภาฯเว้นแต่ว่าเป็นหน้าที่ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเช่น นายพันเอก พระยาพหลฯ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ที่อภิปรายชี้แจงเรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมหรือกองทัพบก ซึ่งรับผิดชอบอยู่ผู้นำทหารของคณะราษฎรคนอื่นๆ อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นพระยาฤทธิอัคเนย์ พระประศาสน์พิทยายุทธ นายพันตรี หลวงพิบูลสงครามนายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย ไม่เคยลุกขึ้นอภิปรายเลยในการประชุมหกเดือนแรกจนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลชุดที่สองของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ขณะนั้นเป็นนักกฎหมายอาวุโส เพราะท่านเป็นอธิบดีศาลอาญา ตามประวัติการศึกษา ท่านเรียนจบกฎหมายของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเข้าทำงานแล้วได้ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อด้านกฎหมายที่สำนักเกรย์อิน ประเทศอังกฤษ ท่านมีอายุอ่อนกว่าหัวหน้ารัฐบาล คือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาอยู่ 4 ปี ดังนั้น ในการทำงานทางด้านตุลาการท่านจึงเข้าทำงานหลังจากพระยามโนฯ ในการประชุมแทบทุกครั้ง ท่านจะแสดงความคิดเห็นหรือซักถามรัฐบาล บางทีก็คัดค้านรัฐบาล และไม่ยอมตามที่รัฐบาลเสนอง่ายๆ ถึงขั้นให้ลงมติก็มี แม้ฝ่ายรัฐบาลจะเป็นฝ่ายชนะก็ตาม ว่าถึงความรู้ในทางกฎหมายและเนื้อหาในการอภิปราย อธิบายความ หรือโต้แย้งนั้น กล่าวได้ว่าพระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ พูดดีมีเหตุผล และน่าสนใจทีเดียว
ในวันแรกที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 เมื่อถึงวาระเลือกประธานสภาฯ นายสงวนตุลารักษ์ ผู้ก่อการฯได้เสนอชื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธาน พระยานิติศาสตร์ไพศาลก็เป็นคนที่ 2 ที่เสนอชื่อหัวหน้าคณะผู้ก่อการฯ คือพระยาพหลฯให้เป็นประธานฯแข่ง และเมื่อพระยาพหลฯปฏิเสธ พระยานิติศาสตร์ฯ ยังเสนอคนใหม่ คือพระยามโนฯ เข้าแข่ง แต่พระยามโนฯก็ปฏิเสธ ฉะนั้นตั้งแต่วันเริ่มแรก ที่ประชุมก็น่าจะเห็นบทบาทของพระยานิติศาสตร์ฯเป็นอย่างดี พระยานิติศาสตร์ฯนี่เอง เมื่อมีการตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันนั้นท่านก็เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในเจ็ดของคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เมื่อคณะราษฎรต้องการแปลงร่างองค์กรเดิมของตนให้ทำหน้าที่แบบพรรคการเมืองในระบบการเมืองคือสมาคมคณะราษฎร พระยานิติศาสตร์ฯจึงได้รับเชิญไปเป็นประธานหรือนายกสภากรรมการของสมาคมการเมืองสำคัญแห่งนี้และภายหลังเมื่อพระยาพหลฯขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี พระยานิติศาสตร์ฯก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี