การพยายามระบายข้าวที่ตกค้างจากโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องที่ถูกต้องในเชิงหลักการอย่างแน่นอน
ไม่มีเหตุผลที่จะเก็บไว้ หรืออาจจะเรียกว่า “จะเก็บไว้ทำซากเหรอ” ประมาณนั้น
แต่จะต้องไม่มีเจตนาซ่อนเร้น หรือวาระแอบแฝงที่จะทำให้การตัดสินใจบิดเบี้ยวไปจากผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติอย่างแท้จริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องไม่ซ่อนเร้นเจตนาสร้างความชอบธรรมในการฟอกโกงเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว
1. ความจริง ข้าวเก่าเก็บ 10 ปี รมยามากว่า 120 รอบ ตกค้างสต๊อกจากโครงการจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์
รัฐมนตรีพาณิชย์ถึงขนาดพาสื่อไปดู 2 รอบ กินข้าวโชว์ 2 รอบ แม้ว่าจะต้องซาวข้าว 15 น้ำก็ตาม
หากคิดโดยปราศจากอคติ ย่อมคิดได้ว่า นี่เป็นข้าวที่ไม่เหมาะจะให้มนุษย์ทั่วไปกินแน่นอน
เพราะคงไม่มีใครจะไปซาวข้าว 120 น้ำ หรือกินข้าวเก่าถึงขนาด 10 ปี รมยา 120 รอบ โดยไม่จำเป็น
คิดโดยสามัญสำนึก ลองถามตัวเองดูก็ได้ ว่าถ้าแจกฟรี พร้อมจะนำข้าวลอตนี้ไปหุงหาให้ตนเองและครอบครัวกินเป็นประจำตลอดทั้งปี (ไม่ใช่กินแค่ไม่กี่คำ) จนกว่าจะหมด 1.5 หมื่นตัน หรือไม่?
เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปิดประมูลขายข้าวลอตนี้ รัฐบาลก็ควรตรวจสอบให้ชัดเจนถึงความปลอดภัย อย่างมีมาตรฐานวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่การกินข้าวโชว์
การกินข้าวโชว์ ไม่ว่าจะให้ใครกินโชว์ก็ตาม ล้วนเป็นเพียงกิจกรรมการตลาด ในเชิงจิตวิทยาเท่านั้น
อย่างมาก ก็บอกได้เพียงความเชื่อมั่นของคนที่กินโชว์เท่านั้น
เพราะสารตกค้าง-สารพิษในข้าวจะไม่ออกฤทธิ์ทันทีในระหว่างกินโชว์มื้อเดียวหรือไม่กี่คำ แต่จะตรวจพบได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบตามขั้นตอนวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีมาตรฐาน น่าเชื่อถือ
2. รองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำตัวอย่างข้าว 10 ปี ที่ได้จากนักข่าว และส่งไปให้ลูกศิษย์ที่อยู่ศูนย์วิจัยข้าว ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อตรวจสอบหาเชื้อราพิษจากข้าวดังกล่าว คือ อะฟลาทอกซิน (aflatoxin) ซึ่งองค์การอนามัยโลก WHO กำหนดไว้ว่าเป็นสารก่อมะเร็งหากรับประทานอย่างต่อเนื่องจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย
โดยสารอะฟลาทอกซินที่อยู่ในข้าวระดับปลอดภัยจะต้องต่ำกว่า 20 ppb
แต่จากการตรวจ 3 ครั้ง โดยใช้เทสคิด (Test kit) ที่ใช้ประจำของศูนย์วิจัยข้าว พบว่า ค่าสารอะฟลาทอกซินนั้นต่ำกว่า 20 ppb จำนวน 2 ครั้ง แต่มี 1 ครั้ง พบค่าอะฟลาทอกซินมากกว่า 20 ppb
อ.อ๊อดยังกล่าวเตือนด้วยว่า อย่ากินข้าวนั้น
อย่างไรก็ตาม รอติดตามผลการตรวจสอบของหน่วยงานองค์กรอย่างเป็นทางการต่อไป
3. ควรขายข้าวหรือไม่? ขายอย่างไร?
แน่นอนว่า ควรขายข้าวลอตนี้อย่างยิ่ง จะได้เงินกลับคืนมาจ่ายหนี้จำนำข้าวที่รัฐบาลยังค้าง ธ.ก.ส.อยู่กว่า 2 แสนล้านบาท
ส่วนจะขายได้เงินมาก-น้อย ก็สุดแต่สภาพข้าว
ขั้นตอนที่ควรทำ คือ ตรวจสอบสารพิษ สารตกค้างในข้าวลอตนี้เสียก่อน เพราะมีเหตุอันควรสงสัย (ข้าว 10 ปี สภาพกายภาพข้าวก็น่าสงสัยแล้ว)
ถ้าพบสารอันตรายตกค้าง อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานการบริโภค ก็ต้องห้ามขายไปให้มนุษย์กิน ไม่ว่าจะกินในประเทศ หรือส่งออกไปต่างประเทศ แต่ก็ยังสามารถขายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ถ้าพบว่า อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย รัฐบาลก็ยังอาจพิจารณาต่อไปได้ว่า จะขายให้เข้าสู่ตลาดการบริโภคหรือไม่ อย่างไร? จึงจะไม่กระทบชื่อเสียงภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นที่มีต่อข้าวไทย ในสายตาผู้บริโภค โดยเฉพาะตลาดโลก ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่าจำนวนเงินที่หวังจะได้จากการขายข้าวลอตสุดท้ายนี้อย่างแน่นอน
ลองคิดดู จะเป็นอย่างไรถ้าบริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์เบอร์หนึ่งของโลก ประกาศว่าจะเอายางรถยนต์เก่าเก็บมา 10-20 ปีขายออกสู่ตลาดแบบเดียวกับสินค้าใหม่ๆ ของตนเอง
กรณีข้าว เป็นอาหาร ยิ่งอ่อนไหวในความรู้สึกของผู้บริโภคทั่วโลก
อย่าลืมว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกมีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 13.5% (รองจากอินเดียที่มีส่วนแบ่งตลาด 38.8%) และยังมีคู่แข่งอื่นๆ อาทิ เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และจีน เป็นต้น
แต่ละปี ไทยเรามีผลผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 31-33 ล้านตัน ซึ่งนำไปสีเป็นข้าวสารได้ประมาณ 20-22 ล้านตันใช้บริโภคภายใน ประเทศเฉลี่ย 10-12 ล้านตัน (ส่วนที่เหลือส่งออกและสต๊อก)
ความจริง ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็น 4% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกมีสัดส่วนเพียง 11.1% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก เนื่องจากข้าวเป็นพืชที่ปลูกเพื่อความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศเป็นหลัก)
“ข้าว” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกหลักของประเทศไทย มีพื้นที่เพาะปลูกมากที่สุด (คิดเป็น 43.7% ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของประเทศ) และครอบคลุมครัวเรือนถึง 5.1 ล้านครัวเรือน (คิดเป็น 63.6% ของจำนวนครัวเรือนภาคเกษตรทั้งหมด)
รัฐบาลไทยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องป้องกันมิให้ข้าวคุณภาพเยี่ยมทั้งหมดนี้ พลอยได้รับผลกระทบจากข้าวด้อยคุณภาพลอตสุดท้ายจากโครงการจำนำข้าวนี้ด้วย
4. ขายข้าว ต้องไม่ฟอกโกง
4.1 ต้องไม่ลบล้างคดีที่เกี่ยวข้องกับข้าวลอตดังกล่าว
เพราะเหตุที่ข้าวลอตนี้ยังตกค้างมากว่า 10 ปี เพราะอะไร?องค์การคลังสินค้า (อคส.) เคยมีการประมูลไปแล้วหลายครั้ง แต่ก็มีปัญหาการชำระเงิน ในปี 2557, 2558 และ 2563 ทุกครั้งมีปัญหา จนต้องบอกเลิกสัญญา พร้อมดำเนินคดีและประมูลใหม่
คดีเหล่านั้นเป็นอย่างไร? ใครแพ้ ใครชนะ?
บางโกดัง มีรายงานข่าวว่า เอกชนที่เคยประมูลแล้วไม่รับมอบข้าว ก็คือเจ้าของโกดังเอง จนต้องยกเลิกสัญญา และข้าวก็ค้างอยู่ในโกดังต่อมา กินค่าเช่า-ค่ารมยาต่อมาเรื่อยๆ
4.2 ต้องไม่ฟอกโครงการจำนำข้าว และไม่ลบล้างคดีจำนำข้าวของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์
อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุก 5 ปี (คดีถึงที่สุดแล้ว) คดีหมายเลขดำ อม.22/2558 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
ศาลฎีกาฯ ชี้ว่า การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้ง 5 ฤดูกาลผลิต แม้ว่าจะพบความเสียหายหลายประการ เช่น การสวมสิทธิ์การรับจำนำ, การนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์, ข้าวสูญหาย, การออกใบประทวนให้ชาวนาอันเป็นเท็จ, การใช้เอกสารปลอม, การโกงความชื้นและน้ำหนัก เพื่อกดราคารับซื้อจากชาวนา, ข้าวสูญหายจากโกดัง, ข้าวเสื่อมสภาพ,ข้าวเน่าและข้าวไม่ตรงตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีรายงานจากการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศรวม 105 คดี แต่เป็นความเสียหายที่เกิดจากฝ่ายปฏิบัติ …กรณีความเสียหายในส่วนนี้ ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ
“...แต่ในกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ในสัญญา 4 ฉบับ พบว่ามีการแก้ไขสัญญาในยุคที่มีนายภูมิสาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการระบายข้าว และยังทำในรูปแบบซื้อขายหน้าคลังสินค้า ซึ่งไม่ใช่การซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ และยังใช้สกุลเงินบาทในการซื้อขาย ซึ่งเป็นพิรุธ ประกอบกับไม่พบว่ามีการส่งข้าวไปยังจีน แต่ในสัญญากลับระบุการซื้อขายข้าวนับล้านตัน ทั้งที่มีการนำข้าวออกไม่เท่ากับที่สัญญาระบุไว้ และเป็นการขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่รับจำนำ ทำให้เอกชนได้รับประโยชน์จากส่วนต่างในราคากว่า 3 พันบาทต่อตัน โดยยังปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทเอกชนในกลุ่มของ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง ที่มีความสนิทกับนายทักษิณ พี่ชายของจำเลย ก็ได้รับประโยชน์จากพฤติการณ์ที่สมอ้างว่าสัญญาระบายข้าวเป็นแบบรัฐต่อรัฐ…”
ศาลฎีว่าฯ ชี้ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์มีความผิด เพราะไม่ระงับยับยั้งการขายข้าวแบบจีทูจีที่มีการทุจริต
“...จําเลยมีเวลาเพียงพอที่จะระงับยับยั้งการส่งมอบข้าวตามสัญญาที่ยังไม่ได้ส่งมอบไว้ก่อนก็ย่อมกระทําได้ตามอํานาจหน้าที่ แต่จําเลยในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาลและประธาน กขช.ซึ่งมีอํานาจหน้าที่โดยตรงในการควบคุมตรวจสอบกํากับดูแล การปฏิบัติตามนโยบาย วางมาตรการโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ทั้งมีอํานาจสั่งการข้าราชการทุกกระทรวง ทบวงกรม ในการกํากับดูแลการระงับยับยั้งหรือแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการทุจริตในขั้นตอนการระบายข้าว แต่จําเลยกลับมีพฤติการณ์ในการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมาย ส่อแสดงเจตนาออกโดยแจ้งชัดอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ นายบุญทรง กับพวกแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรับจํานําข้าว โดยการแอบอ้างนําบริษัท GSSG และบริษัท Hainan grain เข้ามาทําสัญญาซื้อข้าวในราคาที่ต่ํากว่าท้องตลาดตามประกาศของกรมการค้าภายใน แล้วมีการหาประโยชน์ที่ทับซ้อนโดยทุจริตได้ข้าวส่วนต่างจากราคาข้าวตามสัญญาซื้อขาย ๔ ฉบับ อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินการคลังของประเทศและเกิดผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดินโดยตรง ถือได้ว่าเป็นการกระทําทุจริตต่อหน้าที่...”
ศาลพิพากษาว่ายิ่งลักษณ์มีความผิด ไม่เกี่ยวกับข้าวเน่าหรือไม่เน่า การพยายามพิสูจน์ว่ามีข้าวไม่เน่า จึงไม่อาจลบล้างความผิดของยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด
และอย่าลืมว่า นโยบายจำนำข้าว ได้ทำลายตลาดข้าวไทยทั้งระบบ เสียหายมหาศาลมากกว่า 5 แสนล้าน ทำคุณภาพข้าวไทยตกต่ำ จากการแทรกแซงตลาดขนานใหญ่ บนข้อสมมุติฐานที่ผิดพลาด เพราะตลาดข้าวโลกเป็นตลาดที่มีลักษณะเฉพาะและมีความผันผวนสูง
ความจริง ผลผลิตข้าวในโลกต่อปีมีปริมาณเกือบ 400 ล้านตัน แต่มีการค้าขายกันเพียงร้อยละ 7-8 เท่านั้น ตอนนั้นรัฐบาลหลงผิดคิดว่าถ้าไทยเก็บข้าวเข้าโกดัง ไม่ส่งออก ราคาตลาดโลกจะสูง ซึ่งผิดพลาดมาก แถมยังเกิดการทุจริตมโหฬาร ไม่ยอมประมูลขายทั่วไป แต่เก็บไว้ขายจีทูจีเก๊ ขาดทุนมากกว่าที่ควรจะเป็น
ดังนั้น การขายข้าวลอตสุดท้ายของโครงการจำนำข้าว ควรทำเพื่อสรุปบทเรียน
มิใช่บิดเบือนประวัติศาสตร์ หรือฟอกโกงจำนำข้าว ล้างมลทิน หวังสร้างความชอบธรรมในการฟื้นโครงการ หรือช่วยคนหนีคดีกลับมา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี