สถานีวิทยุกองทัพเมียนมารายงานเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ว่า ซอ มิน ตุน โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาปฏิเสธคำขอของฮุน เซน ที่ขอให้พลเอกมินอ่อง หล่าย จัดให้เขาได้พูดโทรศัพท์แบบวีดีโอคอลกับนาง ออง ซาน ซู จี และซอ มิน ตุน ปราม นายทักษิณ ชินวัตร ว่า การพัวพันสนับสนุนผู้ก่อการร้ายที่ทำลายประเทศเมียนมานั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ
วิทยุกองทัพเมียนมา อ้างถึงกรณีสื่อในประเทศไทยเสนอข่าวครึกโครมว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทยได้พบปะเจรจากับ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต่อต้านรัฐบาลเมียนมาและผู้แทนรัฐบาลเงา หรือเอ็นยูจี ที่เคลื่อนไหวอยู่ตามชายแดนร่วมกัน (เคลื่อนไหวทั้งในดินแดนประเทศไทยและเมียนมา) ตลอดถึงสื่อในประเทศไทยรายงานว่า ชาติพันธุ์บางกลุ่มบางฝ่ายก็ได้รับการฝึกอาวุธและมีที่พักพิงอาศัยในพื้นที่ชายแดนร่วมกันนั้น มีสื่อมวลชนจากทั่วโลกหลายรายขอสัมภาษณ์ขอความเห็นจากข้าพเจ้าและเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบข่าวสารพร้อมกันจึงขอรายงานผ่านออดิโอ แมสเซนเจอร์ (บันทึกเสียง) ว่า..
“ไทยกับเมียนมา มีความสัมพันธ์อันดีกันมา มีความร่วมมือครอบคลุมทุกด้าน ดังนั้นหากมีใครไปพัวพัน กระตุ้น สนับสนุนกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำลายประเทศเมียนมา ถือว่าเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะ และไม่ควรทำ..” เสียงของซอ มิน ตุนปล่อยผ่านสถานีวิทยุกองทัพเมียนมา
ส่วนกรณีที่ นายฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ครองอำนาจเด็ดขาดเหนือประเทศกัมพูชามาเกือบสี่สิบปี โพสต์บนเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ว่า เขาได้พูดกับ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ทางวีดีโอคอล ขอให้พลเอกมินอ่องหล่าย จัดให้เขาได้พูดวีดีโอคอลกับ ออง ซาน ซู จีที่ถูกกักขังตั้งแต่ทหารยึดอำนาจในปี 2564 นั้นซอ มิน ตุน กล่าวว่า..
..กรณีที่มีผู้ขอให้ทางคณะบริหารรัฐจัดให้เขาพูดโทรศัพท์กับดอว์ ออง ซาน ซู จี นั้น “ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะอำนวยความสะดวกให้ในเวลานี้..”นอกจากนั้น สถานีวิทยุกองทัพเมียนมายังปล่อยเสียงซอ มิน ตุน พูดด้วยว่ารัฐทหารเมียนมาจะจัดให้มีการเลือกตั้งโดยไม่บกพร่อง แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดจะจัดให้มีเลือกตั้งเมื่อไหร่
อย่างไรก็ตามพลเอกมิน อ่อง หล่ายกล่าวเมื่อเดือนมีนาคมว่า อาจจัดเลือกตั้งได้บางส่วนในเมียนมาขณะที่ทหารยังต้องปราบปรามผู้ก่อการร้าย : รัฐบาลทหารเมียนมาขึ้นบัญชีกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People Defense Forces=PDF) ปีกติดอาวุธของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government=NUG) หรือรัฐบาลเงาเมียนมาเป็นผู้ก่อการร้าย : ผู้เขียน
ผู้ที่คุ้นเคยกับการทำข่าวเมียนมาจะรู้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า การตอบโต้หรือตอบคำถามสื่อผ่านสถานีวิทยุทหารนั้น มีนัยบอกถึงความไม่พอใจเป็นอย่างมาก ประสบการณ์ทำข่าวเมียนมากว่าสี่ทศวรรษพบว่า รัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวพร่ำเพรื่อเหมือนรัฐบาลและนักการเมืองในประเทศไทยที่เห็นกล้องทีวี เห็นไมโครโฟนเป็นต้องวิ่งเข้าใส่ การขอสัมภาษณ์ผู้นำเมียนมาต้องใช้เวลาเป็นเดือน และมีน้อยครั้งเต็มทีที่ได้รับตอบสนองจากผู้นำ หรือ โฆษกรัฐบาล ดังนั้น การที่โฆษกรัฐบาลทหารเลือกตอบคำถามสื่อจากทั่วโลกผ่านการบันทึกเสียงและถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุกองทัพนั้นมีนัยสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
คำพูดที่ว่า “ประเทศไทยกับเมียนมามีความสัมพันธ์ มีความร่วมมือที่ดีต่อกัน การพัวพัน สนับสนุนกระตุ้นผู้ก่อการร้ายที่มุ่งทำลายประเทศเมียนมาเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ” เป็นข้อความทั้งสอนทั้งปรามผู้ที่มีพฤติกรรมห่ามๆ ในประเทศไทยว่า..คุณไม่รู้หรือไงว่า “ฝ่ายมั่นคงตลอดถึงการต่างประเทศไทยนั้นประสานงาน
กับเมียนมามานานผ่าน สิ่งที่เรียกว่า การทูตเงียบ (Quiet Diplomacy) การร่วมมือกันแก้ปัญหาภายในเมียนมามันถึงได้คืบหน้า ถึงขนาดว่านายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ได้พบปะพูดคุยกับ ออง ซาน ซู จี ซึ่งทำหน้าที่นานชั่วโมงกว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 คุณไม่รู้หรือไงว่า นายดอน เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนเดียวในโลก ที่ได้พบนางซู จี ซึ่งๆ หน้า ตั้งแต่เธอถูกรัฐบาลทหารกักตัวหลังจากยึดอำนาจ นักการทูต ผู้นำทั่วโลกขอพบ ออง ซาน ซู จี ไม่เคยมีใครได้รับการตอบสนองที่ดีเหมือนอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยที่ใช้ Quiet Diplomacy อย่างมีวุฒิภาวะ
การตอบโต้อย่างแหลมคมของ ซอ มิน ตุน เหมือนการสอนและตอกหน้านักการตลาดนักการเมืองในประเทศไทย ชอบใช้การทูตโฉ่งฉ่างตามก้นอเมริกา ที่ขยับตัวอะไรหน่อยต้องเป็นข่าวดัง หรือ บางทีไม่ได้ทำอะไรเลยแต่ปล่อยให้ปฏิบัติการข่าวของซีไอเอเอาชื่อไปอ้างเจ้าตัวไม่ขัดขวางเพราะได้ดังได้มีแสงเพิ่มขึ้น สมุนบริวารได้เที่ยวอวดโอ้คุยโม้ว่าเห็นไหม #ไม่ใช่แค่นักการเมือง/ข้าราชการไทยก้มหัวให้ แม้แต่ทุกฝ่ายในเมียนมาก็มาซูฮก
นักวิชาการด้านความมั่นคง ถึงได้พูดว่า “ทักษิณเข้ามาพัวพันกับการแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองในเมียนมารังแต่จะทำให้ปัญหาซับซ้อนมากขึ้น”
อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่กลายเป็นนักโทษอยู่ระหว่างการพักโทษต้องสำเหนียกว่า รัฐบาลทหารเมียนมานั้นต่างกับนายฮุน เซน ที่เฮไหนเฮกัน เห็นข่าวปั้นกระแสว่า ทักษิณได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่อต้านรัฐบาลเมียนมาและได้พบกับผู้แทนจาก NUG ของฝ่าย ออง ซาน ซู จี ก็เซ่อซ่าไปขอให้เขาจัดให้ได้พูดทางโทรศัพท์ที่เห็นหน้าเห็นตากับนางซู จี บ้าง แล้วไงล่ะ...โฆษกเขาตอบกลับมาว่า “ไม่มีเหตุผลใดๆ ต้องจัดให้เวลานี้”
นายฮุน เซน อดีตเขมรแดงก็เหมือนกับอดีตทหารป่าในประเทศไทยที่มีวาสนาได้เป็นเสนาบดี ที่ไม่ประสีประสาพิธีการทูต ฮุน เซน คงไม่สำเหนียกว่า การที่ขอกับผู้นำสูงสุดของประเทศ คือ พลเอกมิน อ่อง หล่าย ให้ช่วยจัดวีดีโอคอลพูดกับออง ซาน ซู จี แต่ได้รับคำตอบจาก ระดับเจ้าหน้าที่โฆษกรัฐบาลว่า “ไม่มีเหตุผลใดๆ จะจัดให้ในเวลานี้”
อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สามสิบแปดปีซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีควบตำแหน่งประธานรัฐสภากัมพูชา ได้รับคำตอบจากระดับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารเมียนมาแบบมะนาวไม่มีน้ำนั้น ทางการทูต ถือว่าเสียหายที่ Counterpart ไม่ไว้หน้า ในทางการทูตเมื่อขอกับผู้นำสูงสุดของประเทศต้องได้รับเกียรติได้รับการตอบสนองจากผู้นำว่า ที่ขอไปนั้นสนองตอบอย่างไร
ส่วนนายทักษิณไม่มีอะไรเสียไปมากกว่านี้เพราะเขาไม่มีตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่สำคัญนายทักษิณยังอยู่ในสถานะนักโทษอยู่ระหว่างการพักโทษ ผู้ที่จะเสียวสันหลังอยู่บ้างก็คงเป็นกรมควบคุมความประพฤติตรงที่ ซอ มิน ตุน พูดว่า “พัวพัน สนับสนุนผู้ก่อการร้ายทำลายเมียนมาเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ควรทำ” คำว่าพัวพัวหรือสนับสนุน หรือแม้แต่พบปะกับผู้ที่รัฐบาลทหารเมียนมาตราหน้าเป็นผู้ก่อการร้าย อาจสร้างความเสียหายให้กับกรมควบคุมความประพฤติของประเทศไทยได้ ในแง่ของการละเลยปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี