วันหนึ่งหลังจากพระยามโนฯเป็นนายกรัฐมนตรีมาได้ประมาณสามเดือน ก็มีเรื่องหนึ่งมาเข้าสภาฯ จนเป็นที่แปลกใจกันสำหรับคนที่อยู่นอกวงในของรัฐบาล ที่พระยานิติศาสตร์ฯสมาชิกสภาได้ตั้งกระทู้ถามด่วนในการประชุมสภาฯครั้งที่ 57 ในวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2475 พระยานิติศาสตร์ฯถามเรื่องการห้ามข้าราชการเป็นสมาชิกสมาคมคณะราษฎร สมาคมนี้คือพรรคการเมืองของคณะราษฎร ที่ดำเนินการจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯแทนคณะราษฎรเดิม
“…มาตรา 14 เราถึงว่าภายในบังคับแห่งกฎหมาย บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ ทีนี้ได้มีคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ออกห้ามมิให้ข้าราชการเป็นสมาชิกในสมาคมราษฎร เป็นการตัดเสรีภาพของเขา และในมาตรา 50 มีว่าผู้ได้รับแต่งตั้งให้บัญชาการกระทรวงทบวงกรม ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนต่อสภาผู้แทนราษฎรในทางรัฐธรรมนูญ”
พระยานิติศาสตร์ฯท่านเป็นนายกสภากรรมการของสมาคมคณะราษฎร ซึ่งคือหัวหน้าพรรคนี้ ท่านจึงทำหนังสือมาที่สภาฯและสำเนาหนังสือของปลัดทูลฉลองกระทรวงมาด้วย ท่านมีความเห็นมาว่าท่านไม่คัดค้านที่ประกาศ แต่จะทำได้ต้องทำเป็นกฎหมาย ซึ่งก็หมายความว่าต้องนำเรื่องเข้ามาเสนอสภาฯ ให้อนุมัติ เมื่อไปถึงตอนนั้นคงต้องมาต่อสู้กันในสภาฯนั่นเองทางฝ่ายรัฐบาลผู้ออกมาชี้แจงคือพระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หาใช่ตัวนายกรัฐมนตรีไม่
“คำสั่งที่ได้ออกไปแล้วนั้นก็ได้ปรึกษาหารือกัน โดยที่เห็นว่าที่ได้ห้ามก็มีแต่ข้าราชการประเภทประจำ จากซึ่งเสมือนว่าเป็นเช่นเดียวกับเครื่องมือของรัฐบาล ในการที่จะบริหารราชการแผ่นดิน ข้าราชการประเภทการเมืองนั้นมีเข้าๆ ออกๆ ตามข่าวตามสมัย ฉะนั้นจึงต้องอาศัยความชำนาญของข้าราชการประเภทประจำ ซึ่งคุ้นเคยแก่งานการมาแล้วเป็นเวลานาน ทั้งนี้จึงไม่จำเป็นที่จะต้องให้ข้าราชการประจำการเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อให้ราชการประเภทนี้มีความมั่นใจในราชการยิ่งขึ้น เรื่องเช่นนี้ในอารยประเทศก็มีห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำเกี่ยวข้องกับทางการเมืองเหมือนกัน ซึ่งเป็นระเบียบใช้กันทั่วโลก เหตุนี้จึงห้ามมิให้ข้าราชการประจำของเราเกี่ยวข้องกับสมาคมการเมืองใดๆ ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ตกอยู่ในฐานะที่เป็นข้าราชการประจำแล้ว ก็ไม่ขัดข้องประการใดในการที่จะเป็นสมาชิกในสมาคม”
เรื่องนี้พระยาปรีดานฤเบศ ขอให้เอาไปพิจารณาต่อในคราวหน้า เมื่อมีการประชุมครั้งถัดมา นายมังกร สามเสน ผู้ที่มิได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรได้อภิปรายว่า “การห้ามไม่ให้ข้าราชการเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ดังคำสั่งที่ออกไปแล้วนั้นไม่ชอบ เป็นการทำลายรัฐธรรมนูญมาตรา 14” คราวนี้ พระยาศรีวิสารวาจา ก็แย้งว่ายังสงสัยในข้อที่ว่าผิดรัฐธรรมนูญ แต่ที่น่าสนใจก็คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรมรัฐมนตรีในรัฐบาลได้ถามขึ้นมาว่า “คำสั่งรัฐมนตรีชนิดนี้ใช้ได้หรือไม่”
ถึงตอนนี้ก็ชัดเจนว่าน่าจะมีการขัดแย้งเรื่องนี้ในรัฐบาล สมาคมคณะราษฎรนี้พระยานิติศาสตร์ฯได้ยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2475 และได้รับอนุมัติในวัน
รุ่งขึ้น ผู้ก่อการฯ ทุกคนเป็นสมาชิกสมาคมนี้ และสมาคมนี้มีนายประยูร ภมรมนตรี เป็นอุปนายก นายสงวน ตุลารักษ์ เป็นเหรัญญิก นายวนิช ปานะนนท์ เป็นเลขาธิการ ส่วนกรรมการที่เหลือเกือบทั้งหมดเว้นเพียง 2 นายเป็นสมาชิกคณะราษฎร การดำเนินงานจึงก้าวหน้ามาด้วยดี มาถึงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2475 ปรากฏว่ามีกลุ่มอื่นที่มีหลวงวิจิตรวาทการได้ไปยื่นจดทะเบียนตั้งคณะชาติขึ้น เตรียมแข่งขันกับคณะราษฎร นายกรัฐมนตรีที่เคยยอมให้มีสมาคมคณะราษฎร กลับคิดไม่ให้มีสมาคมการเมือง โดยไม่ยอมจดทะเบียนคณะชาติ และจะหาทางล้มคณะราษฎร ความขัดแย้งในรัฐบาลเองจึงปรากฏ ในวันนั้นที่มีการพิจารณา ได้ลงมติลับ โดยที่ประชุมลงมติว่าการห้ามข้าราชการประจำเข้าเกี่ยวข้องกับการเมืองจะต้องออกเป็นกฎหมาย แสดงว่าทางฝ่ายรัฐบาลแพ้
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี