ในโลกปัจจุบันนี้ ความมั่นคงของประเทศไทยดูมีเสถียรภาพ ไม่เหมือนกับช่วงยุคล่าอาณานิคมของฝ่ายยุโรปตะวันตก หรือยุคสงครามเย็น (แห่งการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์เผด็จการคอมมิวนิสต์ กับอุดมการณ์เสรีนิยม รวมทั้งภยันตรายกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) อีกทั้งความระหองระแหงในเรื่องเขตแดนไทย-ลาว การปะทะสู้รบก็ยุติลง และกลับสู่โต๊ะเจรจา ส่วนเรื่องข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา ก็ได้ไปยุติที่ศาลยุติธรรมโลก ทั้งหมดนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราทุกประเทศที่ต่างเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ต่างมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือ และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นโอกาสของการเผชิญหน้ากันของกองทัพแต่ละประเทศจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก นอกจากนั้น โดยทั่วไปเราก็มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างราบรื่นกับทั้งจีน และสหรัฐอเมริกา ที่แม้จะมีความเป็นอริต่อกันและกัน แต่ก็ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำการคุกคามประเทศไทย อีกทั้งไทยยังมีการร่วมมือทางทหาร เช่น การร่วมซ้อมรบกับอีกแต่ละฝ่ายด้วย
ในรูปการณ์นี้ กองทัพไทยที่ต้องมีเอาไว้เพื่อป้องกันประเทศตามหลักปฏิบัติสากล ก็ควรมีอาวุธยุทโธปกรณ์ และกำลังคนที่เหมาะสมเท่าที่จำเป็น โดยในขณะเดียวกันกองทัพไทยก็อยู่ในฐานะที่จะร่วมมือกันกับประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนด้วยกัน ในเรื่องการลาดตระเวนร่วมเพื่อป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติต่างๆ ไปจนถึงการร่วมมือกันในกิจการพลเรือน เช่น การช่วยเหลือกู้ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยพิบัติที่มาจากอุบัติเหตุของน้ำมือมนุษย์ ไปจนถึงการร่วมกันป้องกันความมั่นคงปลอดภัยทั้งทางอากาศและทะเล นอกจากนั้น ในภาพใหญ่กองทัพไทยสามารถเข้าร่วมในกองกำลังสันติภาพขององค์การสหประชาชาติเพิ่มให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีต กองทัพไทยก็ได้เคยปฏิบัติการมาแล้วอย่างน่าชื่นชม
สำหรับการบังคับบัญชาของกองทัพไทยนั้น ก็มีประเด็นโต้เถียงกันในสังคมไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี เกี่ยวกับบทบาททางการเมืองของกองทัพว่า สมควรจะได้รับภาระหน้าที่ในการปราบปรามประชาชนพลเมืองในกรณีของการประท้วงและลุกฮือหรือไม่? อย่างไร?
รากเหง้าของประเด็นก็คือ การที่สังคมไทยได้รับเอาข้อคิด และวิธีการปฏิบัติของฝ่ายยุโรปตะวันตกในกรอบของสังคมประชาธิปไตยว่า ฝ่ายกองทัพต้องขึ้นกับการบังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองพลเรือน แต่ประเด็นปัญหาก็คือ ฝ่ายการเมืองมักจะมีแนวโน้มที่จะเข้าไปแทรกแซง และครอบงำฝ่ายกองทัพ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง มิใช่เพื่อผลประโยชน์ของชาติ อีกทั้งฝ่ายการเมืองพลเรือนเองก็มักจะทำตนไม่น่าเชื่อถือในการใช้อำนาจโดยมิชอบ แฝงไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น จนก่อให้เกิดการประท้วง และการเผชิญหน้าของมวลชนของแต่ละฝ่าย จนในที่สุดฝ่ายกองทัพก็จะใช้เป็นข้ออ้างเข้ามาแทรกแซงขัดตาทัพการขัดแย้ง ก่อนจะเข้าบริหารอำนาจรัฐ วนเวียนกันไปเป็นวัฏจักร กลายเป็นปัญหายืดเยื้อไม่จบไม่สิ้นในสังคมไทย ซึ่งหากจะจบได้ ก็คงจะต้องมีการคิดอ่านปรึกษาหารือร่วมกัน และหาข้อยุติร่วมกัน โดยคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ควบคู่กับหลักประชาธิปไตยแบบสากล
ในการนี้ก็ต้องระลึกทบทวนว่า แต่โบราณกาลองค์ประมุขหรือองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพ คนไทยแต่อดีตเป็นทั้งราษฎร และเป็นทหารด้วย (Citizen Soldiers) บ่งบอกว่าทุกคนมีหน้าที่ต่อบ้านเมืองทั้งในยามสงบ และในยามรบ ซึ่งการปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพ จะด้วยความทะเยอทะยาน หรือจะด้วยความรู้สึกรับผิดชอบต่อบ้านเมืองในยามคับขัน ก็จัดได้ว่าไม่เป็นสิ่งที่พึงควร เพราะเป็นการที่กองทัพมิได้คำนึงถึงสถานะของกษัตริย์ที่ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ผู้ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา และมิได้คำนึงถึงกฎหมายบ้านเมืองที่ฝ่ายกองทัพไม่มีบทบาททางการเมือง จึงถือเป็นการทำการเกินหน้าที่ ทั้งนี้เมื่อบ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะคับขัน ก็ต้องเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าถวายรายงานเพื่อขอให้ทรงวินิจฉัย ความใดก็เป็นข้อยุติ เพื่อให้บ้านเมืองก้าวไปข้างหน้าต่อไป
ด้วยการคิดแบบนอกกรอบ ก็ขอเสนอให้กองทัพไทยได้ขึ้นกับจอมทัพไทยองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง เป็นการปิดทางมิให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซง และเป็นการปิดทางมิให้กองทัพเข้ามามีบทบาททางการเมือง ทำการข้ามหน้าข้ามตาระบบความเชื่อถือ และระบบขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของประเทศไทย
ในขณะเดียวกันการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ก็ต้องเป็นภาระหน้าที่ของฝ่ายตำรวจ และฝ่ายปกครอง ซึ่งก็อาจจะมีการสำรอง และเสริมกำลัง ด้วยกองกำลังอาสาสมัครที่มีการฝึกฝนในเรื่องการรับมือกับการจลาจล หรือการรบกวนต่อความสงบสุขของบ้านเมือง
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี