1. นำกัญชา กัญชง กลับเข้าสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5
เมื่อวันที่ 5 ก.ค.2567 การประชุมคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ครั้งที่ 32-8/2567
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานการประชุมแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ณรงค์ อภิกุลวนิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แห่งตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม
มีการพิจารณา (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. … ที่กำหนดให้กัญชาและกัญชงเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5เพื่อเป็นข้อเสนอต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า กัญชามีประโยชน์ในทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัย ไม่เห็นด้วยในการใช้เพื่อสันทนาการ
โดยคณะกรรมการมี 29 ท่าน ลาออกไป 3 ท่าน เหลือ 26 ท่าน (วันดังกล่าวมาประชุมไม่ครบ)
ที่ประชุมมีมติโดย เสียงข้างมาก เห็นชอบให้นำกัญชาและกัญชง กลับเข้าสู่บัญชีรายชื่อยาเสพติดประเภทที่ 5
โดยที่ร่างดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มกัญชากัญชง ในส่วนช่อดอก สารสกัด THC มากกว่า 0.2% เป็นยาเสพติด ยกเว้นกิ่ง ก้าน ราก ใบ เมล็ด
นพ.สุรโชค กล่าวว่า ตามร่างประกาศฯ ที่ได้เปิดรับฟังความเห็นมา คือ ส่วนของกิ่ง ก้าน ราก ใบ และเมล็ด ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ส่วนช่อดอกและสารสกัดที่มีปริมาณ THC มากกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก จะถือว่าเป็นยาเสพติด ส่วนความเห็นว่าควรกำกับให้การอนุญาตส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดจะต้องเป็นส่วนของกัญชาที่อยู่ในประเทศเท่านั้น ก็มีการเขียนในข้อเสนอแนะต่อ ป.ป.ส.
“มติในที่ประชุมวันนี้ ยังต้องส่งไปยัง ป.ป.ส. เพื่อพิจารณา ซึ่งอาจจะมีการปรับแก้อะไรอีกครั้ง ส่วนกฎหมายอื่นๆ ที่ประกอบกันก็ต้องดูคู่กันไป โดยประกาศชื่อยาเสพติดนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้มีระยะเวลาในการแก้ไขกฎหมายอื่นๆ ให้สอดคล้องกับประกาศ” - นพ.สุรโชค กล่าว
2. ความเห็นของเสียงข้างน้อย ที่น่ารับฟัง
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด
เป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อย ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำดอกกัญชา และกัญชงกลับเป็นยาเสพติด
นายปานเทพได้ออกถ้อยแถลง ระบุว่า “คำแถลงเตือนครั้งสุดท้าย ประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้เหมาะกับการแก้ไขปัญหากัญชา กัญชง และจะสร้างปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่า”
เนื้อหาที่น่าสนใจ บางส่วนสรุป ดังนี้
(1) อ.ปานเทพ ระบุว่า ในที่ประชุมจำนวน 18 คนเสียงข้างมากได้เห็นชอบให้เสนอแนะประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้ช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงให้กลับไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5
(2) ตนเป็นเสียงข้างน้อย ไม่ได้แปลว่าเห็นด้วยกับการปล่อยเสรีกัญชา หรือกัญชงแต่ในทางตรงกันข้าม ตนได้เสนอให้ร่างเป็นพระราชบัญญัติในการควบคุมกัญชา และกัญชงเป็นการเฉพาะแทน
(3) ผลสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดได้รายงานว่า ผลการสำรวจในปี 2563-2564 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องเสี่ยงใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมาย เพราะเข้าไม่ถึงกัญชาทางการแพทย์ และแพทย์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายกัญชา
โดยมีผู้ใช้กัญชานอกข้อบ่งใช้ในโรคที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขมากถึงร้อยละ 84 (ใช้อย่างผิดกฎหมาย) แต่มีผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นถึงดีขึ้นมากรวมร้อยละ 93 อีกทั้งยังลดและเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันร้อยละ 58 แต่คนเหล่านี้ย่อมเสี่ยงเป็นอาชญากรอย่างไม่เป็นธรรม
ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ที่ออกมาเมื่อปี’64 ในมาตรา 29 จึงไม่ได้ระบุ “ชื่อพืช” กัญชา หรือ กัญชง ให้อยู่ใน “ตัวอย่าง“เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต ก็เพื่อต้องการ “เปิดช่อง”ให้กัญชาและกัญชงสามารถถูกปลดล็อกออกจากยาเสพติดและมีกฎหมายควบคุมเฉพาะที่แตกต่างจากยาเสพติดอื่นๆได้
(4) กระบวนการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดจึงเกิดขึ้นหลังจากนั้นอีกประมาณ 3-4 เดือน และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เพราะในเวลานั้นมีผู้ป่วยใช้กัญชาเป็นผู้กระทำผิดต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดจำนวนมาก แต่ก็ใช้กฎหมายชั่วคราวอื่นๆ ควบคุมไปพรางก่อน โดยหวังว่าร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ซึ่งควรจะถูกตราขึ้นโดยสภาผู้แทนราษฎรให้ได้โดยเร็ว ก็กลายเป็นเกมการเมือง จนทำให้ไม่มีกฎหมายควบคุมในระดับพระราชบัญญัติจนถึงวันนี้
(5) หากคณะกรรมการ ป.ป.ส. หรือรัฐบาล ยืนยันว่า จะนำช่อดอกกัญชา และช่อดอกกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด จะส่งผลทำให้ “สถานพยาบาลที่จำหน่ายกัญชาอยู่แล้ว” เช่น คลินิกกัญชา (รวมถึงคลินิกแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์)ที่จำหน่ายช่อดอกกัญชา ช่อดอกกัญชง หรือสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2 อยู่ในปัจจุบัน จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 40 และ 95 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่บัญญัติว่าผู้ได้รับใบอนุญาต “การจำหน่าย” กัญชา กัญชงและสารสกัด จะต้องมี “เภสัชกรประจำและตลอดเวลาทำการ”
นอกจากจะทำให้สร้างภาระต่อสถานพยาบาลเหล่านี้แล้ว ยังอาจเข้าข่ายทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่เดิมเคยจ่ายยาสมุนไพรด้วยตัวเองได้ แต่กลับต้องอาศัยเภสัชกรในสถานพยาบาลแทน
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมาตรา 1 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด กำหนดว่าการ “ผลิต” ได้มีความหมายรวมถึงการ “ปลูก”ด้วย แปลว่านอกจากเกษตรกรผู้ที่ปลูกเพื่อให้ได้ช่อดอกกัญชา หรือช่อดอกกัญชง แม้เพียง 1 ต้นขึ้นไปจะต้องขออนุญาตแล้ว จะต้องมี “เภสัชกรประจำและตลอดเวลาทำการ” ในแปลงเพาะปลูกกัญชา กัญชงทั่วประเทศอีกด้วย ตามมาตรา 40 และ 95 ของประมวลกฎหมายยาเสพติด
เราจะแก้ปัญหาได้ดีขึ้นจริงหรือ
(6) อ.ปานเทพ จึงเห็นว่า ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เสนอให้นำช่อดอกกัญชา และช่อกัญชงกลับไปเป็นยาเสพติด นอกจากจะมีปัญหาเพราะไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ง่ายแล้ว
หากมีส่วนที่จะบังคับใช้กฎหมายได้ก็กลับสร้างภาระให้กับสถานพยาบาลที่จำหน่ายกัญชาอยู่ทั่วประเทศ และยังสร้างภาระให้กับเกษตรกรรายย่อยอีกด้วย และจะส่งผลทำให้มีผู้ป่วยและเกษตรกรที่กระทำผิดกฎหมายเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น เพราะประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหากัญชา กัญชง
(7) ควรตราเป็นพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะมากกว่า
เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะออกแบบการใช้ประโยชน์ การห้ามใช้ และการคุ้มครองกลุ่มคนที่ไม่ได้ใช้กัญชาหรือไม่ควรใช้กัญชาอย่างเป็นระบบ
ไม่ใช่การออกแบบภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ที่จะสร้างปัญหามากกว่า
3. พิจารณาแล้ว เห็นว่า การพยายามจับกัญชากัญชง ยัดกลับไปใส่ในบัญชียาเสพติดฯ นั้น ดูเป็นความพยายามแอ๊กชั่น ให้ดูว่าเอาจริงกับการจัดการกัญชา
แต่แท้จริงแล้ว เป็นการสร้างปัญหามากกว่า
จะมีผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ เกษตรกร ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ต้องได้รับความเดือดร้อนยิ่งกว่าเดิม
สภาพไม่ต่างกับพฤติกรรม “เผาป่าเอาเห็ดถอบ” คือ อยากได้ภาพว่าเอาจริงกับการจัดการกัญชา เลือกที่จะเผาป่า ทำลายการใช้ประโยชน์ที่สร้างสรรค์ของกัญชาหมด สิงสาราสัตว์ตายหมด สร้างมลพิษไปทั่วทั้งป่าทั้งเมือง
ต้องยอมรับความจริงว่า ระหว่าง “ยาบ้า” กับ “กัญชา” เป็นคนละเรื่อง คนละสปีชี่
“กัญชา” สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ การแพทย์ การรักษาโรคอื่นๆ การแปรรูปเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่เป็นประโยชน์ ฯลฯ แต่ “ยาบ้า” ไม่มีประโยชน์อื่นได้เลย นอกจากเป็น “ยาเสพติดให้โทษ”
การจับ “กัญชา” ยัดกลับไปเป็น “ยาเสพติด” ผิดกฎหมายเหมือน “ยาบ้า”มันจึงเป็นการแอ๊กชั่นที่ผิดบทบาท ผิดฝาผิดตัว ถึงขนาดหันกลับ 180 องศา ต่อไปคนปลูกกัญชา 1 ต้น ก็โดนจับ เพราะเป็นยาเสพติด โดยไม่ต้องดูที่พฤติกรรมว่าเขานำไปใช้ทำอะไร เอาไปเสพ หรือเอาไปรักษาทางการแพทย์ ทางสุขภาพ
เอากัญชากลับไปยัดใส่บัญชียาเสพติด = เผาป่าเอาเห็ดถอบ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี