กรณีรถ EV ยี่ห้อบีวายดีลดราคารถใหม่ป้ายแดงแบบกระหน่ำโหด แสนกว่าบาทต่อคัน
เกิดเสียงฮือฮา มีทั้งชอบ ทั้งผิดหวัง
คนที่ผิดหวัง ก็คือคนที่เพิ่งซื้อรถใหม่ป้ายแดงไป เพราะคล้อยหลังไม่ถึงเดือน รถที่ตัวเองถือครองเป็นเจ้าของอยู่ กลับมีราคาในท้องตลาดลดลงไปมากกว่าแสนบาท
เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายมุมมอง ดีหรือไม่ดี? หรือจะเป็นการดัมพ์ตลาด เพื่อทำลายคู่แข่งในประเทศไทยหรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ บางยี่ห้อ ก็ลดราคาตามแล้ว!
1. บีวายดี ยืนยัน ลดราคากระหน่ำ เพราะต้นทุนเปลี่ยน กำลังจะมีรถที่ผลิตจากโรงงานในไทย
หลิว เสวียเลี่ยง ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายขาย บีวายดี ออโต้ เอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาตลอด 2 ปี บีวายดี มียอดจองรวมกว่า 5 หมื่นคัน และไม่กี่วันที่ผ่านมา เราเปิดโรงงานที่จะผลิต Dolphin ในไทย และจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคชาวไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ให้ผู้บริโภคชาวไทยได้มีโปรดักส์ที่ดี คุ้มค่า มีเทคโนโลยีที่ดี เป็นสาเหตุที่บีวายดีเลือกตั้งโรงงานในไทย ซึ่งบีวายดีมองว่าจะเตรียมโปรดักส์ให้ดี ให้ผู้บริโภคชาวไทยใช้งานโปรดักส์ที่ดีและคุ้มค่า
“เมื่อโปรดักส์เราได้รับการตอบรับดี ทำให้เกิดสิ่งที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิต ทำให้บีวายดีสามารถสร้างสิ่งที่ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนราคา ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาของเศรษฐกิจ ซึ่งบีวายดีไม่มีวันที่จะลืมลูกค้าเก่าและลูกค้าที่ซื้อรถของเราตั้งแต่จุดเริ่มต้น เรามีแผนเยียวยา และกำลังเตรียมแผนเยียวยาร่วมกับกลุ่มเรเว่ ซึ่งมาตรการจะออกมาในอนาคต”
2. ลดราคาต่ำกว่าต้นทุน ดัมพ์ราคาทำลายคู่แข่ง ทำลายการแข่งขัน หรือไม่?
สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) โดยนายวิษณุ วงศ์สินศิริกุลเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เปิดเผยว่า ในแง่ของการทำธุรกิจ กรณีนี้ยังไม่เข้าข่ายการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากไม่ได้ลดราคาขายต่ำกว่าต้นทุน
ส่วนผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ก็จะมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ดูแลอยู่
“...พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 จะดูแลการประกอบธุรกิจเป็นหลัก ซึ่งการจะเข้าข่ายกระทำความผิดตามกฎหมายหรือไม่ จะมีหลายกรณี เช่น การลดราคาขายต่ำกว่าต้นทุน แต่จากการตรวจสอบข้อมูลขณะนี้ ผู้ผลิต ลดราคาโดยใช้วิธีการขาดทุนกำไร รวมทั้งราคาที่ขายในประเทศไทย ยังมีราคาสูงกว่าราคาในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิต ที่ถือเป็นปกติ
...กรณีนี้ ยังไม่เข้าข่ายการกระทำความผิด และยังไม่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด
แต่หากพบความผิดปกติ หรือพบพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การเอาเปรียบซัพพลายเออร์ บังคับให้ลดราคาตาม หรือการลดราคาทำเพื่อเอาเปรียบคู่แข่ง กฎหมายฉบับนี้ ก็เปิดช่องให้สามารถเข้าไปตรวจสอบ-เรียกเอกสารได้หรือเชิญมาพูดคุยได้
และก็เปิดช่องให้ผู้ผลิต สามารถลดราคาขายต่ำกว่าทุนได้ แต่จะต้องมีเหตุผลทางธุรกิจ โดยทำในระยะเวลาที่จำกัด เช่น สินค้าใกล้หมดสต๊อกหรือเพื่อต้องการทดลองตลาด อาทิ กรณี ซื้อ 1 แถม 1” – เลขาธิการ กขค.กล่าว
3. การลดราคา ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าได้มากขึ้น
ต้องยอมรับความจริงว่า การลดราคายานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะเมื่อมีการส่งเสริมการลงทุนและการตั้งโรงงานผลิตในประเทศ เป็นทิศทางที่ไม่เหนือความคาดหมาย
ที่ผ่านมา รัฐมีแพ็กเกจสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในหลายมิติ ตามมาตรการ EV 3.0
ทั้งมาตรการด้านภาษีของผู้ผลิต ทั้งด้านผู้บริโภค
ก็เพื่อให้คนเข้าถึงง่ายขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังจะเป็นตัวสร้างรายได้เข้าประเทศ สร้างการจ้างงานในประเทศ และการพัฒนาในประเทศต่อไปในอนาคตด้วย
ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์เซ็นสัญญาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการสนับสนุนอีวี 3.0 ของรัฐบาล (ปี 2565-2566) แล้ว 23 บริษัท ซึ่งจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก8% เหลือ 2% และได้รับเงินอุดหนุนคันละ7 หมื่น-1.5 แสนบาทตามขนาดของแบตเตอรี่ และมีเงื่อนไขว่าค่ายรถยนต์ดังกล่าวจะต้องมีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยเพื่อชดเชยการนำรถอีวีเข้ามาขาย 1 เท่าด้วย
โดยจะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2567-2568 ซึ่งขณะนี้ พบว่ามีค่ายรถยนต์ที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว คิดเป็นเม็ดเงินราว 4 หมื่นล้านบาท
นี่คือความพยายามจะสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีในไทย ให้กลายเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก
ล่าสุด นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างของบฯกลาง จากสำนักงบประมาณ อีกราว 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจ่ายเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) อีก 3.5 หมื่นคัน ตามมาตรการอีวี 3.0 ของรัฐบาล หลังจากที่ได้มีการจ่ายเงินอุดหนุนสำหรับรถอีวีที่เข้าเงื่อนไขในรอบแรกไปแล้ว ราว 4 หมื่นคัน คิดเป็นวงเงิน 7,000 ล้านบาท
“มาตรการอีวี 3.0 นั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับจ่ายเงินอุดหนุนราว 1.4 หมื่นล้านบาท
รอบแรก กรมจ่ายไปหมดแล้ว 4 หมื่นคัน 7,000 ล้านบาท
แต่ยังเหลือตกค้างอีก 3.5 หมื่นคัน ซึ่งได้ส่งเรื่องไปที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอใช้งบฯกลางอีกราว 7,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี” - อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว
4. รัฐบาลยังเดินหน้าสนับสนุนอุตสาหกรรมอีวีต่อเนื่อง ผ่านมาตรการอีวี 3.5 จนถึงปี 2570
รายงานข่าวระบุว่า ขณะนี้ มีค่ายรถยนต์เข้ามาเซ็นสัญญากับกรมสรรพสามิต เพื่อรับสิทธิประโยชน์แล้ว 8 ราย
รถอีวีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 1 แสนบาทต่อคันในปีแรก และ 7.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4
รถอีวีที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ จะได้รับเงินอุดหนุน 5 หมื่นบาทต่อคันในปีแรก และ 3.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 2 และ 2.5 หมื่นบาทต่อคันในปีที่ 3-4
และได้รับสิทธิประโยชน์ลดภาษีนำเข้า CBU ไม่เกิน 40% ในช่วง 2 ปีแรก (2567-2568) และลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2%
ปัจจุบัน จะเริ่มเห็นการผลิตรถอีวีในประเทศไทย จากค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.0 แล้ว
ส่วนค่ายรถยนต์ที่เข้ามาตรการอีวี 3.5 นั้น จะต้องเริ่มผลิตรถอีวีในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2569-2570
มาตรการสนับสนุนอีวีของรัฐบาลทั้งหมด จะจบลงในปี 2570 จะไม่มีการอุดหนุน หรือการลดภาษีให้แต่อย่างใด ดังนั้น มาตรการดังกล่าวถือเป็นแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดฐานการผลิตรถยนต์อีวีในประเทศไทย
“...ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากมาตรการสนับสนุนอีวีของรัฐบาล คือ ได้เม็ดเงินลงทุน ได้ฐานการผลิตที่ดึงอุตสาหกรรมใหม่ เช่น แบตเตอรี่ และพาร์ทต่างๆ ของอีวีซึ่งตอบโจทย์รัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิตและขับเคลื่อนยานยนต์สมัยใหม่ในอนาคต ดังนั้น แม้ว่าจะมีการปรับลดภาษีอีวีจาก 8% ลงมาเหลือ 2% รายได้ของกรมจะลดลง แต่ประโยชน์ที่เกิดกับประเทศ คือ ฐานการผลิตรถยนต์สมัยใหม่จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยอย่างมาก” - อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว
5. เห็นได้ว่า ยานยนต์ไฟฟ้า คือ ทิศทางหลักในอนาคตของประเทศ
แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน รัฐบาลก็ควรจะหามาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของรถยนต์น้ำมัน ทั้งในส่วนของผู้ผลิตและผู้บริโภคด้วย
แม้แต่ยานยนต์ไฟฟ้า EV เอง ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก็โกลาหลไม่น้อย
ดูจากวงการประกันยานยนต์ !
ล่าสุด ข้อมูลที่น่าสนใจจากประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย นายวาสิต ล่ำซำ (กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัยฯ) เปิดเผยกับ“ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับภาพตลาด EV ปัจจุบัน เทียบกับเมื่อต้นปี 2567 ในแง่ของยอดขายรถ ต้องถือว่าปีนี้ค่อนข้างออกมาต่ำกว่าความคาดหมายไปมาก และไม่ใช่เฉพาะรถ EV แต่รวมถึงรถสันดาปก็ติดลบด้วย ซึ่งมาจากหลายสาเหตุคือ
“1.สภาวะเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้คนไม่ค่อยลงทุนในการซื้อรถใหม่
2.การแข่งดัมพ์ราคาของผู้ผลิต EV จีน จากที่มีซัพพลายที่นำเข้ามา จึงทำให้เกิดภาวะลดราคาบ่อยและถี่ขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเลในการจะซื้อรถ เพราะกังวลว่าราคาจะลดลงอีก จึงชะลอการตัดสินใจซื้อรถออกไป
ดังนั้น คาดว่า จะกระทบกับเป้าเบี้ยประกัน EV ที่คาดไว้
จากเดิมประเมินว่าจะมีรถ EV ใหม่ปีนี้ระดับ 1.2-1.3 แสนคัน
น่าจะเหลือใกล้เคียงปีที่แล้ว แค่ระดับ 7-8 หมื่นคัน
โดยจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 2567 มีรถอีวีที่จดทะเบียนสะสม 1.5 แสนคัน
คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกัน EV ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท (เฉลี่ย 20,000 บาทต่อคัน)
ทั้งนี้ ยังมีความหวังว่าถ้าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังผงกหัวดีขึ้นมาก และราคาน้ำมันแพงขึ้น จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนตัดสินใจซื้อรถ EV มากขึ้น เพราะราคารถในวันนี้ถึงจุดที่น่าสนใจ ประกอบกับคาดหวังว่าสถาบันการเงินเริ่มผ่อนคลายในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นด้วย...” - นายวาสิตกล่าว
ทั้งหมด ทำให้กล่าวได้ว่า ประเทศไทยกำลังย่างเท้าเข้าสู่ยุค EV เต็มตัวแล้ว อย่างแท้จริง
นี่เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง จากการวางรากฐานไว้ในยุครัฐบาลลุงตู่ !
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี