กระทรวงการคลัง, โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุม“คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท-ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา..ว่ารัฐบาลยืนยันที่จะแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตและยังคงครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคนเช่นเดิม
โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์..ซึ่งเกือบหนึ่งปีที่เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง..เรียกว่างานการอื่นๆ ของกระทรวงการคลังดูเหมือนว่าแทบจะไม่ได้ทำ..โดยง่วนอยู่กับโครงการ“ดิจิทัลวอลเล็ต” ชี้แจงในรายละเอียดถึงผลการประชุมคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวว่า..สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลัง ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการนี้จากเดิม 5 แสนล้านบาท..โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อีกแล้ว
ที่ไม่ต้องใช้เงินจาก ธ.ก.ส.ตามที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เปิดเผย..ก็เนื่องจากพบว่า..ในการดำเนินโครงการของรัฐบาลในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา..ปรากฏว่ามียอดผู้ใช้สิทธิ์ไม่เกินร้อยละ 90 ของโครงการ
ทั้งนี้ จากเดิมที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นเจ้าของนโยบาย“ตกเขียว”แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท..โดยตั้งวงเงินไว้ 5 แสนล้านบาท..ด้วยการใช้วิธีซิกแซ็กดึงเงินจากจาก ธ.ก.ส.จำนวน 1.72 แสนล้านบาทมาผสมกับเงินงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินปี 2567 และปี 2568 ให้ครบ 5 แสนล้านบาทนั้น..เมื่อยอดผู้ใช้สิทธิ์มาลงทะเบียนไม่ครบจำนวน 50 ล้านคนตามเป้าที่วางไว้..ก็ทำให้วงเงินที่จะใช้ลดลงมาเหลือ 4.5 แสนล้านบาท
ส่วนเงิน 4.5 แสนล้านบาทจะนำมาจากไหน, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ชี้แจงว่า..”ใช้งบประมาณปี 2567 ที่จะมีการตั้งงบประมาณราว 1.6 แสนล้านบาท..ประกอบด้วยงบประมาณเพิ่มเติม 1.22 แสนล้านบาท และงบประมาณจากการบริหารจัดการในส่วนต่างๆ อีกราว 4.3 หมื่นล้านบาท..และใช้จากงบประมาณปี 2568 จำนวน 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากการตั้งงบประมาณ 1.52 แสนล้านบาท และจากการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนอื่นๆ อีกราว 1.32 แสนล้านบาท”
สำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ..ยังกำหนดไว้เหมือนเดิมต้องเป็นผู้มีอายุ 16 ปี..มีเงินได้ไม่เกินปีละ 8.4 แสนบาท โดยวัดจากฐานข้อมูลเงินได้ของกรมสรรพากร ณ ปี 2566 ซึ่งสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566..ไม่มีเงินฝากทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567
ส่วนเงินที่ได้รับแจกไม่สามารถซื้อ“เครื่องใช้ไฟฟ้า-สินค้าอิเล็กทรอนิกส์-มือถือ”ได้..ซึ่งตามเงื่อนไขเดิมนั้น สามารถซื้อสินค้า“อุปโภค-บริโภค”ทุกประเภทที่เข้าร่วมโครงการได้..ยกเว้นสลากกินแบ่งรัฐบาล, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ยาสูบ, กัญชา, กระท่อม, พืชกระท่อม, ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม, บัตรกำนัล, บัตรเงินสด, ทองคำ, เพชร, พลอย, อัญมณี, ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง, ก๊าซธรรมชาติ และรวมทั้งจ่ายค่าน้ำค่าไฟ
ขณะที่ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ..ซึ่งเป็นร้านค้าขนาดเล็กรวมถึงร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในแต่ละอำเภอ..โดยไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น..จะต้องมีการผูกเบอร์โทรศัพท์แบบรายเดือนเข้ากับระบบด้วย..นอกเหนือจากต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี
ทั้งนี้ แอปพลิเคชันที่จะใช้สำหรับแจกเงินดิจิทัลนั้น, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เปิดเผยว่า..สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและดำเนินการระบบกำลังจัดทำระบบอยู่..โดยนายจุลพันธ์ยืนยันว่าจะเสร็จทันภายในปีนี้แน่นอน..อันเป็นไปตามเป้าที่จะมีการแจกเงินให้แก่ประชาชนภายในไตรมาที่สี่ของปีนี้
อย่างไรก็ตาม..ข้อสรุปจากผลการประชุมของคณะอนุกรรมการที่นายจุลพันธ์ อมรพัน อมรวิวัฒน์ ชี้แจงนั้น..ยังจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่..คือ“คณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 1 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต”..ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พิจารณาตัดสินใจ..และหลังจากนั้นในวันที่ 24 กรกฎาคมจะมีการแถลงรายละเอียดเรื่องวันลงทะเบียน, วิธีการ และช่องทางต่างๆ ทั้งหมดของโครงการนี้
หากย้อนกลับไปดูนับตั้งแต่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี“หุ่นเชิด”ของนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร เข้าบริหารประเทศ..หลังจากแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566..ซึ่งโครงการ“แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท”นี้..ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล..โดยที่รัฐบาลอ้างว่า..สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยเปรียบเสมือนคนป่วยที่ได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านในช่วงเกิดวิกฤต“โควิด-19”
ดังนั้น..รัฐบาลโดยนายเศรษฐา ทวีสิน จึงได้แถลงต่อรัฐสภาว่า “นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต” จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงอย่างวาดฝันต่อสมาชิกรัฐสภาไว้ว่า..”เราจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง..และกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก..เกิดการจับจ่ายใช้สอย..ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจ..ที่จะขยายการลงทุน, ขยายกิจการ, เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น..นำไปสู่การจ้างงาน-สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ..รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปบบของภาษี..ฯลฯ”
นับเนื่องจนถึงวันนี้โครงการที่รัฐบาล“ฝันกลางวัน”ว่า..จะเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจเพื่อให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจในหลายๆ ส่วนฟื้นฟูขึ้นมา..จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ, กระตุ้นการใช้จ่าย และเพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดการลงทุน..ปรากฏว่าโครงการนี้เลื่อนแล้วเลื่อนอีก..จนกลายเป็นว่ารัฐบาลนั่นแหละที่ป่วยเป็น“โรคเลื่อน”เสียเอง..เพราะไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน..เพื่อนำมาสานฝันลมๆ แล้งๆ ให้เป็นจริงขึ้นมาได้
กระทั่ง ณ เวลานี้..เศรษฐกิจของประเทศไม่เพียงแต่จะถดถอยเท่านั้น แต่กำลังใกล้จะวิกฤตเต็มทน..เรียกว่านักลงทุนถอนการลงทุน-และไม่ย่อมเข้ามาลงทุน, หุ้นตก, ข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน, การทำมาค้าขายซบเซา, เงินทองฝืดเคือง ฯลฯ..และหาใช่ว่าเป็นเพราะมีผลมาจากการที่โครงการดิจิทัลยังไม่ถึงฝั่งฝัน
แต่เป็นเพราะรัฐบาลที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตพ่อค้าบ้านจัดสรรเป็นนายกรัฐมนตรี..ไร้น้ำยาและไร้ฝีมือในการบริหารประเทศ..จนถึงนาทีนี้..คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังคิดว่าโครงการ“ดิจิทัลวอลเล็ต”สุดท้ายก็คงล่มปากอ่าว
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี