ใครกล้ายืนยันบ้างว่าเมืองไทยไม่มีการทุจริตในวงการราชการ แล้วมีข้าราชการไทยคนไหนบ้างกล้ายืนยันว่าระบบราชการไทยไม่มีการทุจริต และจะมีนักการเมืองหน้าไหนบ้างที่กล้ายืนยันว่าไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการการเมืองไทย
การคอร์รัปชั่น การทุจริต โกงกินในบ้านเมืองของเรา เกิดมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และไม่เคร่งครัดกับการรักษากฎหมาย แล้วยังเกิดมาจากการใช้อำนาจรัฐโดยไม่ชอบธรรมในหมู่ของผู้มีอำนาจรัฐ อันได้แก่ นักการเมืองทุกระดับตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับชาติ แล้วยังมีปัญหาที่ข้าราชการอีกด้วย
แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองของเราก็มาจากระบบอุปถัมภ์ ระบบเจ้าขุนมูลนาย และการเล่นพรรคเล่นพวก ยิ่งมีระบบอุปถัมภ์มากเท่าไร ก็จะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นมากขึ้นเท่านั้น เพราะระบบอุปถัมภ์เป็นต้นตอสำคัญของการเล่นพรรคเล่นพวก และการละเลยต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
หลายคนอาจบอกว่าแปลกใจที่เมืองไทยมีการทุจริตมากมาย ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ทั้งๆ ที่บ้านเมืองของเรามีกฎหมายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นมากมายหลายฉบับ แต่ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย และการเล่นพรรคเล่นพวกของคนในสังคมไทย รวมถึงการที่ระบบราชการไทยละเลยเพิกเฉยกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่สามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ความเชื่อและแนวคิดอย่างหนึ่งที่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมืองของเราเบ่งบานตลอดเวลาคือ โกงไม่ว่า แต่โกงแล้วแบ่งให้กูบ้างก็แล้วกัน หรือบางกลุ่มก็ใช้แนวคิดผลัดกันโกง คราวนี้เอ็งโกง คราวหน้าข้าโกง หรือบางกลุ่มก็ใช้การโกงรวมกัน ร่วมกันโกง แล้วเอาเงินและผลประโยชน์ที่โกงได้ไปแบ่งกัน ซึ่งกรณีนี้มีอยู่ในกลุ่มการเมืองที่ผลัดกันโกงผลัดกันกินคราวนี้ตาของเอ็ง คราวหน้าตาของข้า
มีคำวิพากษ์ว่าคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทยคุ้นชินกับการทุจริต และไม่มองว่าการทำทุจริตเป็นเรื่องผิดหรือบาป ก็ต้องบอกว่าความเชื่อและความคิดดังกล่าวน่าจะจริง แต่ก็จริงกับเฉพาะกลุ่มที่ทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ หรือกลุ่มที่มีอำนาจการเมืองหนุนหลัง เมื่อคนกลุ่มดังกล่าวเห็นว่าตนเองกระทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ ก็ย่ามใจ หรือไม่เกรงกลัวต่อความผิด เพราะผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ หรืออาจถูกลงโทษ แต่ทว่าไม่ต้องได้รับโทษจริง ดังมีตัวอย่างชัดเจน เช่น กรณีนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ที่ทำผิด และถูกศาลตัดสินลงโทษ แต่ทว่าในความเป็นจริง นักโทษชายทักษิณไม่ได้ถูกลงโทษแม้แต่เพียงวันเดียว
ปรากฏการณ์นักโทษชายทักษิณ ทำให้คนในสังคมไทยและสังคมโลกที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเห็นตรงกันว่า การทำผิดในประเทศไทยไม่จำเป็นต้องถูกลงโทษเสมอไป หากมีอำนาจรัฐช่วยปัดเป่าให้พ้นจากความผิด
ประเทศไทยถูกมองโดยชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยด้วยกันเองว่า เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องฉ้อโกง ทุจริต คอร์รัปชั่นสารพัดรูปแบบ และเป็นดินแดนที่มีการฉ้อโกง ทุจริตมาอย่างยาวนาน ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยทุกชุดรับรู้เรื่องนี้มายาวนานแล้ว แต่ทว่า ไม่มีรัฐบาลใดเลยที่สามารถขจัดการฉ้อโกงได้อย่างจริงจัง แต่เราจะพบแค่เพียงว่ารัฐบาลทุกชุดเล่นละครตบตาประชาชนว่า รัฐบาลต้องการปราบโกง แต่ก็เป็นเพียงคำโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น เพราะทุกคน โดยเฉพาะคนที่ประสบปัญหาการฉ้อโกงในแวดวงการเมือง และแวดวงราชการก็ยังคงต้องเผชิญปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเรื่อยมาและที่สำคัญนั้น หลายคนบ่นตรงกันว่า ยิ่งนับวัน ยิ่งพบว่าการทุจริตในบ้านเมืองของเราจะยิ่งนักข้อยิ่งขึ้น
ถามว่าคนไทยรู้หรือไม่ว่านักการเมืองจำนวนไม่น้อยในบ้านเมืองนี้มีพฤติกรรมโกงกิน ตอบว่า รู้ และรู้ดีเสียด้วย แต่ก็ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาการโกงกินโดยนักการเมืองได้ แล้วนักการเมืองจำนวนไม่น้อยก็พยายามลากพาตัวเองเข้าไปมีอำนาจรัฐ ก็เพราะรู้ดีว่าเมื่อมีอำนาจรัฐแล้วจะสามารถโกงกินได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงไม่ประหลาดใจที่เราจะพบว่านักการเมืองจำนวนไม่น้อยในบ้านเมืองนี้โกงทั้งโคตร โกงทั้งตระกูล และโกงทั้งครอบครัว แต่ถึงกระนั้น ก็ยังคงมีคนไทยเลือกนักการเมืองโคตรขี้โกงเข้าไปเป็น สส. แล้วนักการเมืองจอมโกงจำนวนไม่น้อยก็ได้ขึ้นไปกินตำแหน่งรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี
ถามต่อไปอีกว่า คนไทยรู้ไหมว่างบ้านเมืองไทยไม่เจริญทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว มีปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองจำนวนไม่น้อย และข้าราชการอีกจำนวนไม่น้อย ตอบว่า คนไทยรู้เรื่องนี้ดี แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยก็ยังคงปล่อยให้นักการเมืองและข้าราชการโกงบ้านกินเมืองต่อไป
คนไทยบางคนไม่กล้าต่อสู้กับพวกทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะเกรงว่าตนเองจะได้รับความเดือดร้อน แต่กลับไม่คิดว่าการไม่ต่อสู้กับคนโกงบ้านกินเมืองจะทำให้บ้านเมืองพินาศบรรลัย
ขอให้ผู้อ่านลองถามตัวเองว่าเคยได้ยินคำต่อไปนี้หรือไม่ เงินใต้โต๊ะ ค่าน้ำร้อนน้ำชา ค่าหล่อลื่น ค่าคุ้มครอง เงินที่ถูกยักยอก สินน้ำใจ ค่าอำนวยความสะดวก ค่าปิดปาก กินตามน้ำ กินทวนน้ำค่าเสียเวลา
แล้วคำถามต่อมาคือคุณเคยจ่าย หรือเคยรับเงินตามที่กล่าวชื่อในข้างต้นหรือไม่ ถามต่อไปว่าทำไมต้องจ่าย และทำไมต้องรับ
คนบางคนตั้งใจเข้าไปเป็นข้าราชการ เพราะต้องการเป็นใหญ่เป็นโต ซึ่งคำว่าเป็นใหญ่เป็นโตก็ส่อสะท้อนว่าเมื่อมีตำแหน่งแห่งที่ใหญ่โตแล้วจะได้หาเศษหาเลย หาเงินที่ไม่ชอบได้โดยง่าย ใช่หรือไม่ ฉันใดก็ฉันนั้น คนบางคนตั้งใจเข้าไปเป็นนักการเมือง แล้วตะกายไปเป็นรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็เพราะต้องการใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบให้ตนเองแต่ปากของคนที่โกงบ้านกินเมืองก็จะตะโกนตลอดเวลาว่าเข้ามาทำงานราชการ หรือทำงานการเมืองเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงคือเข้ามาเพื่อหวังโกงกินคอร์รัปชั่นเท่านั้น
บ้านเมืองที่หาความโปร่งใสไม่ได้ คือบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และบ้านเมืองที่เต็มไปด้วยขั้นตอนทางราชการที่สลับซับซ้อน ผู้ไปติดต่อราชการต้องเดินจากโต๊ะนี้ไปโต๊ะโน้น แล้วเดินจากโต๊ะโน่นไปโต๊ะนั้น เดินกลับไปกลับมา ไปติดต่องานราชการแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานเป็นเดือนๆ หรือเป็นปี บ้านเมืองแบบนี้เต็มไปด้วยอำนาจจากการพิจารณาตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจรัฐ บ้านเมืองแบบนี้จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น
แต่หากบ้านเมืองใดก็ตามที่มีความโปร่งใส ผู้ที่ไปติดต่อกับหน่วยราชการจะรู้ได้โดยทันทีว่าเรื่องนี้ใช้เวลากี่วัน ต้องชำระเงินค่าบริการเท่าไร และทราบขั้นตอนที่ชัดเจน บ้านเมืองเช่นนี้จะปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น การทำมาค้าขายจะเจริญรุ่งเรือง การทำธุรกิจจะคล่องและสะดวก เพราะทุกคนรู้ตรงกันว่าต้องใช้เวลาสำหรับพิจารณาเรื่องแต่ละเรื่องนานกี่วัน และต้องเสียค่าใช้จ่ายแน่นอนเป็นจำนวนเท่าไร แต่เรื่องแบบนี้เกิดในเมืองไทยน้อยมาก เพราะว่าบ้านเมืองของเรานั้นเน้นการทำงานโดยทุกอย่างอยู่ที่ดุลพินิจของผู้มีอำนาจรัฐ ดังนั้น หากผู้ไปติดต่อราชการให้สินบาทสินบนกับข้าราชการ ก็จะได้รับบริการที่รวดเร็ว แต่หากไม่จ่ายใต้โต๊ะก็ต้องรอเรื่องไปนานนับเดือนหรือนับปี แล้วแต่ว่าผู้มีอำนาจรัฐจะสั่งการลงมา หรือแล้วแต่ว่าจะให้บริการให้วันเวลาใด ซึ่งก็ต้องรอไปเรื่อยๆ จนกว่าจะยอมจ่ายเงินใต้โต๊ะให้กับข้าราชการ
ตัวอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเพิ่งประสบมาเมื่อเร็วๆ นี้คือ การไปรออัยการเจ้าของสำนวนที่สำนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี โดยผู้เขียนไปทำหน้าที่เป็นนายประกันให้กับผู้ร่วมงานข่าวรายหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนไปตามวันเวลาของหนังสือราชการที่นัดหมาย คือไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 น. แต่ปรากฏเมื่อถึงเวลานัด ก็ไม่มีการติดต่อใดๆ จากข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงาน ครั้นเมื่อผู้เขียนสอบถามว่าจะไดดำเนินเรื่องต่อในเวลาใดเพราะขณะนี้เลยเวลานัดหมายไปแล้ว 40 นาที ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานตอบว่าต้องรออัยการ ผู้เขียนถามว่าต้องรอถึงเวลาใด เพราะเลยเวลานัดมาแล้วกว่า 30 นาที ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตอบด้วยน้ำเสียงไม่พอใจ แล้วบอกว่าต้องรอ เพราะอัยการยังไม่ตอบลงมา ผู้เขียนจึงถามว่า แล้วอัยการจะให้รออีกนานแค่ไหนเพราะนัดเวลา 10.00 น. แล้วทำไมไม่รักษาเวลานัด เจ้าหน้าที่ตอบว่าอัยการยังไม่เสร็จธุระ ผู้เขียนจึงตอบว่า แล้วนัดเวลา 10.00 น.เพราะอะไร ทำไมไม่รักษาเวลานัด หากนัดแล้วไม่รักษาเวลานัดก็ไม่ต้องนัด เพราะคนอื่นบนโลกใบนี้มีธุระต้องทำกันทุกคน ไม่ใช่อัยการมีธุระเพียงคนเดียว หากนัดแล้วไม่รักษาเวลาก็ไม่ต้องนัด หรือหากจำเป็นต้องเลื่อนเวลานัด ก็ต้องบอกกล่าวว่าจะเลื่อนเป็นเวลาใด ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนรอราวกับมาขอส่วนบุญ
นี่คือปัญหาหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความไม่เป็นมืออาชีพของข้าราชการไทยบางจำพวก และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ปัญหาที่หนักกว่าคือประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากราชการไทย ไม่กล้าทวงถามความยุติธรรม บางคนเลือกที่จะรอไปเรื่อยๆ โดยอ้างว่ากลัวว่าท่านจะโกรธ แล้วกลั่นแกล้งเอาได้
เรื่องนี้แม้จะไม่ได้มีการเรียกเงินใต้โต๊ะก็จริง แต่ก็ถือว่าไม่รักษาเกียรติของข้าราชการ และไม่ทำงานแบบข้าราชการมืออาชีพ แล้วยังแสดงท่าทางราวกับว่าประชาชนเป็นขี้ข้า เพราะเมื่อประชาชนทวงถามถึงความถูกต้อง ก็กลับถูกข้าราชการเจ้าหน้าที่แสดงความไม่พอใจใส่ แล้วบอกว่าต้องรอ เพราะว่าอัยการยังไม่ว่าง แต่ข้าราชการหาได้มีความสำนึกสำเหนียกไม่ว่า ตนเองนัดประชาชนแล้ว เมื่อไม่สามารถรักษาเวลานัดหมายได้ ก็ต้องแจ้ง ต้องบอกกล่าวว่าเกิดข้อขัดข้องอะไร ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนรอไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ว่าต้องรออีกนานกี่ชั่วโมง
สำหรับกรณีที่ผู้เขียนยกตัวอย่างมานี้ ก็สรุปตรงที่ว่า ในที่สุดเมื่อเวลาเกือบ 12.00 น. ข้าราชการออกมาแจ้งว่าอัยการขอเลื่อนนัด เพราะต้องสอบปากคำเพิ่มเติม คำถามคือทำไมต้องให้ประชาชนรอโดยเปล่าประโยชน์นานถึงสองชั่วโมง แล้วทำไมจึงไม่รักษาเวลานัดหมาย สิ่งเหล่านี้เรียกได้ว่าเข้าข่ายทุจริตในหน้าที่เช่นกัน แม้ไม่ได้เรียกรับเงิน แต่ก็ทำให้ประชาชนเสียเวลาทำมาหากิน โดยต้องไปนั่งรอโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งอันที่จริง หากข้าราชการรักษาหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด ก็ต้องทำตามเวลานัดหมายได้โดยสมบูรณ์ ไม่ใช่นัดตามอำเภอใจ นัดแล้วไม่สามารถรักษาเวลานัดได้ แถมเมื่อผิดเวลานัด ก็ยังไม่แจ้งไม่บอกกล่าวฝ่ายที่ตนนัดหมายอีกด้วย เรื่องแบบนี้คือการแสดงอำนาจบาตรใหญ่ข่มประชาชนโดยปริยาย ซึ่งนับเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของราชการไทย
แม้เรื่องนี้ยังไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทุจริตเงินทองแต่ก็นับได้ว่าทุจริตเวลาของประชาชน และยังแสดงอีกว่าข้าราชการไทยจำนวนไม่น้อยไม่เคารพประชาชน ไม่ให้เกียรติประชาชน และไม่รักษาเกียรติของข้าราชการไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการทุจริตในหน้าที่ประการหนึ่ง
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี