การจะอนุญาตให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์เข้าฟังการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนั้น ได้มีความคิดเห็นในเรื่องนี้มาตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองฯใหม่ๆ แต่เรื่องก็เงียบหายไป กลับมาโผล่ขึ้นมาในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี โดยสภาฯมอบให้คณะกรรมาธิการที่มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานไปพิจารณายกร่างมา และนำเสนอสภา ในการประชุมสภาครั้งที่17/2476 เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2476
เดิมนั้นก็เสนอเพียงจะให้ผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้เข้ามาฟังการประชุม จะได้เอาไปเผยแพร่รายงานต่อประชาชนได้ ก่อนหน้านี้มีหนังสือพิมพ์อยู่ 34 ฉบับ โดยเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาจีน 4 ฉบับและภาษาอังกฤษ 2 ฉบับ แต่เมื่อมีการอภิปรายกันในสภาฯ จึงมีผู้เสนอว่าน่าจะประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศได้มีโอกาสเข้ามาฟังกับหูบ้าง ที่ประชุมก็เห็นว่าดี น่าจะให้ประชาชนด้วย พอเสนอถึงประชาชน เจ้าคุณอภิบาลราชไมตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ถามขึ้นว่าแล้วตัวแทนกงสุลกับทูตล่ะซึ่งการประชุมคราวก่อนก็เห็นว่าควรจะให้ทั้งหมด จึงมอบหมายให้คุณหลวงวิจิตรวาทการไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างมา
แต่พิจารณากันไปแล้วกลับมีบางท่านเห็นว่า ให้รอข้อบังคับของสภาฯก่อน เพราะยังเกรงว่าประธานจะลำบากในการควบคุมบุคคลภายนอกที่เข้ามาฟังการประชุม พระยาปรีดาฯบอกว่า “ประธานฯต้องรับผิดชอบ เช่นมีใครเข้ามาปาหัว …คนที่ถูกเสียหายจะต้องไปพูดกับประธานฯเป็นแน่ “หลวงวิจิตรจึงว่า” ตามที่ท่านประธานว่ายังไม่อยากใช้ข้อบังคับนี้
เจ้าคุณนายกมีทหารมากขอให้ส่งทหารมาช่วยก็ได้ “นายกรัฐมนตรี ยังรับปากว่า” จะให้ยืมทหารแทนตำรวจไปก่อน และให้ประธานมีอำนาจบังคับบัญชาเต็มที่ “ทั้งพระยาประเสริฐสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังบอกว่า “สั่งให้ทหารมาฟังคำสั่งได้” นั่นก็คือให้ทหารมาฟังคำสั่งประธานสภาฯเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในสภาได้นั่นเอง
ตรงนี้พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ กรรมาธิการคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการร่างข้อบังคับ ได้อภิปรายเสริมเรื่องตำรวจสภา เข้ามาว่า
“…เมื่อร่างข้อบังคับ เราตั้งใจจะให้มีตำรวจของสภาฯ ไหนๆ ก็ต้องมีตำรวจควรจะตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร จะให้มีในสองสามวันนี้หรืออีก 3 เดือน จึงจะมี เช่นนั้นก็มีเสียใน 2-3 วันนี้ก็ได้ ปัญหาว่าเราจะเอาตำรวจหรือจะเอาทหารมาก็ไม่ถูกเรื่อง ที่เรียกว่าตำรวจของสภาฯ ใช้ทหารก็ไม่เหมาะ จะเอาตำรวจมาใช้ก็ไม่สมเกียรติยศ ปัญหามีว่าจะทำอย่างไรดี จึงจะมีตำรวจของสภาฯได้ เรายังไม่มีพงษาวดารอย่างสภาฯของอังกฤษเขามีพงษาวดารยืดยาว เดี๋ยวนี้ของเราจะต้องเกิดขึ้นเป็นพิเศษ ต้องมีตำรวจของสภาฯ ข้าพเจ้าเป็นคนชอบหรูหราสักหน่อย จึงนึกว่าถ้าไม่มีใครขัดข้องอยากจะขอตำรวจหลวง ซึ่งสภาฯเป็นของหลวงเหมือนกัน ควรจะเอาตำรวจหลวงมาดูก็เข้าที”
หลวงวิจิตรนั้นอยากให้ข้อบังคับนี้ออกมาเร็วเพื่อให้ประชาชนเข้าฟังการประชุมสภาได้เร็ว เมื่อมีเสียงติงจะให้รอไปก่อน หลวงวิจิตร จึงว่า “รู้สึกเสียใจมาก …ข้าพเจ้าเห็นว่าข้อบังคับใช้ได้แล้ว การจัดสถานที่ก็ไม่ลำบาก การรักษาความปลอดภัยท่านนายกก็รักษาให้แล้ว”
จนนายกฯได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า ท่านต้องการให้สภาฯ ผ่านเรื่องนี้ นายกฯ กล่าว ว่า
“…เรื่องนี้เราไม่เห็นจำเป็นต้องมีคนรับใช้มากมาย ข้าพเจ้าได้เห็นมาที่เยอรมันและญี่ปุ่น เขาไปนั่งๆ กันเท่านั้น ไปนั่งฟังเท่านั้น เราเห็นตำรวจอยู่ข้างล่างบ้างและข้างนอกบ้าง เสร็จแล้วเราก็กลับ นอกจากนี้ไม่มีน้ำชาจะมาเลี้ยงเราเลย เพราะฉะนั้นจะเอาคนรับใช้มากกว่าเท่าที่มีอยู่ เห็นว่าไม่จำเป็น ส่วนการดูแลระวังรักษา จะมีทหารไปก่อนก็พอแล้ว เพราะฉะนั้นเห็นว่าเรื่องเหล่านั้นยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินให้นอกไปกว่านี้”
ผลคือ สภามีมติ 24 ต่อ 3 ให้ออกข้อบังคับมีผลใช้ได้”
นรนิติ เศรษฐบุตร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี