หลังการยืดหน้าซ้ำของนายพันเอกพระยาพหลฯ นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม และนาวาตรีหลวงศุภชลาศัย ล้มรัฐบาลพระยามโนฯในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 และพระยามโนฯ ได้เดินทางไปลี้ภัยอยู่ที่เกาะปีนัง ดินแดนในปกครองของอังกฤษ ยังไม่ทันครบเดือน ปรากฏว่าในการประชุมสภาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 พระยาประมวญวิชาพูล อดีตรัฐมนตรีผู้ถูกการยุบสภาทำให้พ้นตำแหน่งไปครั้งนั้น ได้ลุกขึ้นปรึกษาสภาฯ เรื่องพระยามโนฯ ยุบสภาฯ ดังนี้
“เนื่องด้วยมีราษฎรยื่นคำร้องต่อเกล้าฯ ขอให้เกล้าฯ นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเรื่องที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แนะนำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 นั้น เกล้าฯ ได้พิจารณา ว่าการกระทำของพระยามโนฯ นั้นผิด เพราะฉะนั้นขอเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า การกระทำของพระยามโนฯ ที่กล่าวแล้วนั้นเป็นการกระทำผิดอาชญา ขอให้สภาฯ ลงมติตั้งกรรมาธิการขึ้นไต่สวนพระยามโนฯ…”
ญัตตินี้มีผู้รับรอง 2 ท่าน คือนายวิลาศ โอสถานนท์ กับหลวงอรรถสารประสิทธิ์ ประธานสภาฯ เจ้าพระยาพิชัยญาติยกเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ต้องการที่จะให้พิจารณาญัตตินี้ในวันนั้น เพราะไม่มีเวลาที่จะพิจารณา เพราะมีญัตติอื่นๆ เสนอค้างอยู่ก่อนแล้ว และการพิจารณาในเรื่องนี้จึงเลื่อนมาอีก 2 ครั้ง มาได้มีโอกาสพิจารณาในครั้งที่ 3 ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2476
ในการพิจารณาในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ปรากฏว่าได้มีการอภิปรายในเรื่องนี้กันมากพระยาประมวญฯก็บอกว่า “ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องการจะตัดหัวคั่วแห้งพระยามโนฯ ไม่ต้องการจะจองเวรต้องการระงับเวร ถือว่าใครทำกรรมอย่างไรกรรมนั้นก็ตามสนอง พระยามโนฯก็ได้เสวยกรรมอันนั้นแล้ว…”
นายมังกร สามเสน กล่าวว่า
“การที่สภาฯ ของเราถูกปิดไปครั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าสภาฯ ถูกปิดเพราะเหตุใด และเหตุที่ถูกปิดนั้นสมควรละหรือ? เพราะฉะนั้นเมื่อราษฎรได้กล่าวโทษพระยามโนฯ หนังสือพิมพ์ทุกฉบับก็ได้โฆษณา แต่ยังไม่มีใครรับรองจริงไหม? ย่อมเป็นมลทิน ข้าพเจ้าเห็นควรที่จะให้ความยุติธรรมทั้งราษฎรและพระยามโนฯ …”
สมาชิกบางท่านก็ว่าจะลงโทษการกระทำที่ล่วงมาแล้วไม่ได้
พระยานิติศาสตร์ฯ “…การกระทำซึ่งเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีบทลงโทษ”
ถกเถียงกันไปก็หาตกลงกันไม่ นายกรัฐมนตรีจึงเสนอให้หยุดพักการประชุม 10 นาที เมื่อกลับมาประชุมใหม่ ก็ได้ผลอย่างหนึ่งคือพระยา
ประมวญฯยื่นคำขอถอนญัตติเดิม แล้วก็เสนอญัตติใหม่ คือขอตั้งกรรมาธิการพิจารณาว่า พระราชกฤษฎีกาที่พระยามโนฯแนะนำให้ประกาศนั้นผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กับเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดละเมิดรัฐธรรมนูญ ควรจะมีกฎหมายหรือแก้ไขในรัฐธรรมนูญอย่างไรหรือไม่ จากนั้นก็ยังถกเถียงกันต่อไป ที่น่าสังเกตก็คือรัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลของพระยามโนฯบางท่าน ได้แสดงเจตนาจะขอไม่ร่วมประชุมสภาฯด้วย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีหรือพระยามานวราชเสวี ก็ตามเถียงกันนานตกลงไม่ได้ ประธานสภาฯจึงหยุดพักการประชุมอีกครั้ง เรื่องนี้เข้าใจว่าพระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรีเองก็น่าจะไม่เห็นด้วย ดังนั้นท่านยืนยันว่า
“เรื่องนี้รัฐบาลจะไม่เกี่ยวข้องและจะไม่แสดงความเห็นหรือลงมติแต่อย่างใด”
ในที่สุด ที่ประชุมก็ได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ จากบุคคลภายนอก ที่มี พระยาศรีสังกรเป็นประธาน และมีกรรมาธิการอีก 8 นาย คือ พระยานลราชสุวัจน์ พระชัยศาสตร์ราชสภาบดีพระสารนิติปัญญา พระมนูเวทย์วิมลนาท ดอกเตอร์ เดือนบุนนาค พระมนูภาณวิมลศาสตร์ พระสารสาสน์ประพันธ์ และ หลวงวุฒิสารเนติณัติ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี