ที่ จ.สุโขทัย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยว่า รัฐบาลที่ดี รัฐบาลที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ เสถียรภาพเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพรรคเพื่อไทยไม่ได้เชิญพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าร่วม การแก้กฎหมายต่างๆ ต้องมีเสียงมากพอ ไม่เช่นนั้นการแก้กฎหมายช่วยเหลือประชาชนอาจสะดุดได้
“วันนี้ฝ่ายบริหารพรรคประชาธิปัตย์ไม่เหมือนในหลายทศวรรษ การที่เราร่วมรัฐบาลกัน ไม่ได้แปลว่าพรรคเพื่อไทยยอมรับการกระทำของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเยอะมาก เราต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ การได้เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ คือปัจจัยที่ทำให้เรามีเสียงมากพอ” น.ส.แพทองธาร กล่าว
เมื่อถามว่าคนเสื้อแดงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการร่วมงานกับพรรคประชาธิปัตย์ น.ส.แพทองธาร ชี้มือมาที่ตัวเอง แล้วพูดว่า “นี่คือคนเสื้อแดง” ก่อนกล่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายอย่างชัดเจนว่าต้องแก้ไขปัญหาให้ประชาชนให้ได้ และผลักดันนโยบายต่างๆ ให้สำเร็จ นี่คือความตั้งใจ เราทำนโยบายสำเร็จมาเยอะ ในเรื่องของการเมืองมีส่วนหนึ่งที่เราต้องทำให้มีเสถียรภาพให้ได้ ผ่านมาแล้ว 10-20 ปี หลายอย่างเปลี่ยนไป ผู้บริหารก็เปลี่ยนไป
“แม้ชื่อจะยังเป็นประชาธิปัตย์เหมือนเดิม แต่หลายอย่างในนั้นเปลี่ยนไปมาก คิดว่าเราต้องเดินหน้าต่อไป ถ้าเรามัวแต่คิดเรื่องการเมืองกันต่อไป ก็จะถ่วงหลังประเทศ และการฟ้องร้องอะไรต่างๆ ที่เป็นเรื่องเล็กๆ มากมาย มันไม่ได้จำเป็นสำหรับการบริหารประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่าจะบอกคนเสื้อแดงอย่างไรที่เห็นต่าง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ในฐานะนายกฯ ตนสัญญาจะเป็นนายกฯ ของคนไทยทุกคน นี่คือสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น ตนมาอยู่ตรงนี้จะทำเพื่อประชาชนทุกคน ตนเข้าใจความรู้สึกของคนเสื้อแดงดี เรื่องเสื้อแดงจะพูดไม่ได้เลยว่าไม่เข้าใจ ตนเข้าใจ แต่วันนี้เราพร้อมหรือยังที่จะก้าวไปข้างหน้า เห็นประเทศชาติที่ดีขึ้นเตรียมไว้ให้ลูกหลาน วันนี้เราต้องเป็นผู้ใหญ่ที่เราต้องพร้อมด้วย นี่คือสิ่งสำคัญ
เมื่อถามว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของพรรคประชาธิปัตย์อย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มันเหมือนประเทศที่เป็นเผด็จการมา เราไม่ทำการซื้อขายด้วย แต่วันหนึ่งเมื่อเขาเปลี่ยน เป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เราก็ซื้อขายกับเขาต่อ เป็นการมองไปข้างหน้า มองไปที่อนาคต ลักษณะจะเป็นเช่นนั้น เราจึงต้องให้ความสำคัญตรงจุดนั้น อยากขอให้สื่อให้กำลังใจและผลักดันประเทศไปพร้อมกัน อย่าไปให้ความสำคัญอะไร อะไรที่ไม่สำคัญ อย่าให้ความสำคัญกับการฟ้องที่ไม่สำคัญ หรือประเด็นอะไรที่ไม่สำคัญ ขอให้ช่วยกันเพราะหน้าที่ตรงนี้หนักและไม่ง่าย ต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย
1) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวพาดพิงถึงพรรคประชาธิปัตย์ กรณีไม่สามารถยอมรับการกระทำของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตได้นั้นว่าหลายครั้งหลายคนในพรรคเพื่อไทยพยายามพาดพิงการดำเนินการกิจกรรมทางการเมืองในอดีตของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องตั้งคำถามกลับว่าอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มีใครเคยติดคุก เคยโกงประเทศหรือไม่มีหัวหน้าพรรคที่เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีต้องหนีคดีโกงชาติบ้านเมืองออกนอกประเทศบ้างหรือไม่
นายราเมศ กล่าวว่า ผู้บริหารชุดปัจจุบันนำประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล แต่มีสมาชิก มีประชาชนที่มีความเห็นต่างไม่เห็นด้วย อดีต สส. อดีตรัฐมนตรี บุคคลที่ยังรักและศรัทธาพรรคที่ยังยืนหยัด เขายังรักศักดิ์ศรีและคุณความดีในอดีตของพรรคที่ได้สร้างได้สะสมมา การจะมาว่ากล่าวทับถมอดีตคงไม่ถูกต้อง เพราะถ้ากล่าวถึงอดีต นับแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทยพูดวันหนึ่งคงไม่จบ โดยเฉพาะเรื่องคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วเดือนหนึ่งไม่รู้จะพูดกันจบหรือเปล่า
2) นายราเมศ กล่าวอีกว่า การที่คนของพรรคเพื่อไทยพยายามพูดถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคเรื่องการสลายการชุมนุม ล้วนแล้วแต่เป็นเท็จทั้งสิ้น กระบวนการทุกอย่างได้ดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมาย ผ่านกระบวนการยุติธรรม ผ่านคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)และที่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดตามคำพิพากษาของศาลว่า การชุมนุม มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม เรื่องนี้มีการหยิบยกมาฟ้องร้องกันในหลายคดีข้อเท็จจริงจบไปแล้วนายอภิสิทธิ์ไม่ได้กระทำความผิด ที่พยายามพูดว่ายังรับเรื่องนี้ไม่ได้ก็เพื่อให้พรรคเพื่อไทยดูดีในสายตาของกลุ่มผู้ชุมนุม
“ต้องแยกพรรคประชาธิปัตย์กับมติให้ร่วมรัฐบาลออกจากกัน เพราะศักดิ์ศรีของพรรคทั้งหมดที่ผ่านมาไม่ได้จบตรงมติที่ให้ร่วมรัฐบาล ที่จะให้ใครมาย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นประชาธิปัตย์ในอดีตได้ ขอให้นายกรัฐมนตรีย้อนกลับไปดูอดีตพรรคของคุณจนมาถึงปัจจุบัน และอนาคตจะมาถึงเร็วๆนี้ ว่าจะมีจุดหมายปลายทางเป็นอย่างไร” นาย
ราเมศ กล่าว
3) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการร่วมรัฐบาล ของพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ว่า สิ่งแรกต้องบอกว่า ไม่ได้แปลกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่มองเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว และจริงๆ แล้วเป็นเหตุผลที่วันที่ตนลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เข้าไปคุยกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนปัจจุบัน ก็เข้าใจว่าทิศทางจะเป็นอย่างนี้ ตนถึงได้ตัดสินใจที่จะลาออกมาเพราะฉะนั้นเลยไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร และทราบมาตลอดว่า มีความพยายามในการติดต่อกันมาแบบนี้
“ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นเวลานานและผูกพันอยู่กับพรรค เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมากซึ่งยังคบหาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ก็ต้องบอกว่า การกระทำครั้งนี้ กระทบกระเทือนจิตใจของสมาชิก อดีตสมาชิก และผู้สนับสนุนจำนวนมาก และจะสังเกตเห็นว่าในบรรดาบุคคลที่ไม่เห็นด้วย ในการลงมติเข้าร่วมรัฐบาลก็เป็นอดีตหัวหน้าพรรคฯ ทั้งสามคนที่ยังมีตำแหน่งอยู่ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่าคงส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ในแง่คนที่เคยสนับสนุนพรรคมาอย่างยาวนาน และในช่วงหนึ่งถึงสองวันที่ผ่านมา ที่มีคนมาพูดคุยหรือแสดงความคิดเห็นกับผมไปในทิศทางเดียวกันหมด แต่เมื่อตัดสินใจแล้วก็กลายเป็นทิศทางของพรรค ที่ผู้ที่เป็นผู้บริหารก็ต้องเดินหน้าและรับผิดชอบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
4) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้เข้าใจว่า มันไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งในอดีตหรือการยึดติดกับเรื่องเก่า อันนี้เป็นเรื่องที่เขากระทบกระเทือนจิตใจ มองว่ามันขัดกับความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ยึดถือกันมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของอุดมการณ์ที่เคยประกาศไว้ ตั้งแต่ก่อตั้งพรรคกับแนวทางที่พรรคทำงานทางการเมืองมาตลอด
ตนขอย้ำว่าประชาธิปัตย์ที่อยู่ได้มาอย่างยาวนานในอดีตที่ผ่านมา มีเหตุผลหลักๆ นอกเหนือจากแนวคิดแนวทางในการทำงานแล้ว ก็คือ การพร้อมที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และไม่ได้มุ่งแสวงหาในเรื่องของอำนาจโดยไม่มีเงื่อนไข นี่คือสิ่งที่ทำให้ประชาธิปัตย์แตกต่างกับหลายพรรคในอดีต และจะสังเกตเห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคไหน สูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปก็ยากที่จะกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา
“ผมสันนิษฐานว่าทางผู้บริหารพรรคฯ เขาก็มีเหตุผลของเขา แต่ไม่แน่ใจว่า แนวความคิดที่มองว่า เป็นรัฐบาลการเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว ช่วยสร้างผลงาน จะช่วยสร้างผลงานหรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อที่จะเรียกคะแนนนิยมมา แต่สังคมก็มองเห็นชัดเจนว่า การเข้าไปครั้งนี้ ไม่ได้มีผลในเชิงเสถียรภาพของรัฐบาลเพราะไม่มีพรรคประชาธิปัตย์รัฐบาลก็มีเสถียรภาพอยู่แล้ว และการเข้าไปร่วมครั้งนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีนโยบายอะไรที่พรรคประชาธิปัตย์ จะเข้าไปผลักดันในตำแหน่งที่ได้มา ที่จะทำให้คนมองเห็นว่า ไปสร้างความแตกต่างเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเรื่องที่ผู้ที่ตัดสินใจจะต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปดังนั้นผมมองว่าการกระทำครั้งนี้ ส่งผลค่อนข้างรุนแรงกับบรรดาผู้สนับสนุนพรรค ที่สนับสนุนมายาวนาน ผมต้องติดตามไปต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้น ในแง่ของผลจากการตัดสินใจครั้งนี้ และความรับผิดชอบที่จะตามมา” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
5) เมื่อถามว่าเลขาธิการพรรคฯ ชุดปัจจุบันระบุว่า ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้มาโดยตลอดจึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้พรรคเติบโต อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เดี๋ยวรอพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่าในการพ่ายแพ้ที่ผ่านมา ทุกคนก็พูดชัดเจนว่า หลายครั้งเราอาจจะทำด้วยวิธีอื่น แล้วก็ประสบความสำเร็จมากกว่านี้ก็ได้ แต่ความเป็นประชาธิปัตย์ทำให้เราไม่ทำ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งตนขอย้ำมีคำว่าที่ประชาที่ประชาธิปัตย์อยู่มายาวนาน ไม่ใช่เพราะว่าอะไรก็ได้ เพื่อก้าวเข้าสู่อำนาจ
เมื่อถามว่ามีการอ้างว่าที่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลในครั้งนี้เพราะผู้บริหารเมื่อปี’53 ไม่อยู่ในพรรคแล้ว นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของแต่ละคนที่จะมอง ตนไม่ไปตอบโต้หรือวิจารณ์อะไร เพราะตนคิดว่าไม่ใช่เรื่องผู้บริหารยุคใดยุคหนึ่ง กรณีนี้เป็นเรื่องของอุดมการณ์ แนวทางของพรรคที่ทำกันมาช้านาน สำหรับตนจึงอยู่ที่จริงอยู่ที่คนอาจจะบอกว่า พรรคแต่ละยุคแต่ละสมัย อยู่ที่ตัวคนหรืออยู่ที่ผู้บริหาร ความจริงสิ่งที่จะยึดเหนี่ยวเพราะบุคคลไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า ให้ความเป็นพรรค เป็นพรรคได้คือความคิด อุดมการณ์ ตนไม่ได้เป็นสมาชิกแล้ว แต่ตนคิดว่าตนยังยึดถืออุดมการณ์ประชาธิปัตย์อยู่
เมื่อถามย้ำว่าการอ้างเช่นนี้เหมือนกับให้นายอภิสิทธิ์เป็นแพะหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ติดใจอะไรเพราะเหตุผลหนึ่งที่ตนลาออกมาจากพรรค เพราะรู้ว่าจะเป็นความขัดแย้งเป็นปัญหาและตนถือว่าเมื่อพรรคได้เลือกผู้บริหารชุดนี้ก็ต้องให้เขาทำงานอย่างเต็มที่ แต่จริงๆ การตัดสินใจเข้าไปร่วมไม่ร่วม ตนคิดว่าสังคมก็มองไปในทางเดียวกันว่าความจำเป็นมันไม่มี แต่เป็นเรื่องของการอยากเข้าสู่อำนาจมากกว่าหรือความเชื่อ ที่ว่าการจะประสบความสำเร็จทางการเมืองได้ต้องเข้าไปมีอำนาจ
6) เมื่อถามว่ามีการมองว่าระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยก็ต่อสู้กันมายาวนาน สุดท้ายจบแค่ที่ว่า มีอำนาจร่วมกัน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าอย่าไปเจาะจงเฉพาะประชาธิปัตย์ ตนคิดว่าตั้งแต่การเลือกตั้งในปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากที่สนับสนุนหลากหลายพรรคก็มีความรู้สึกว่ามีการละทิ้งหลายสิ่งหลายอย่าง ที่เคยบอกกับสมาชิกหรือผู้สนับสนุนไว้ ดังนั้นนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พรรคประชาชน (ปชน.) ถูกมองว่าจะมีความเข้มแข็งขึ้น เพราะไม่ได้เข้ามาอยู่ในขบวนการแบบนี้และต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย สำหรับตนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในจุดที่น่าจะมีโอกาส ในการสร้างพื้นที่ใหม่ ทางการเมือง สำหรับประชาชนที่เขามีความรู้สึกว้าเหว่ ว่าความเชื่ออุดมการณ์ ความคิดที่อยากทำการเมืองที่ดีหายไปมันหายไปเกือบหมด และอาจจะไม่ได้เห็นตรงกับพรรคประชาชนในหลายเรื่อง
เมื่อถามว่ามองว่า การเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ได้อะไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า “ได้ตำแหน่ง”
7) เมื่อถามว่าตอนนี้ ตอนนี้เหมือนบางคนมองว่าการเมืองวิปริต วิกฤตอุดมการณ์แล้ว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นสภาพการเมืองเป็นอย่างนี้มาระยะหนึ่งแล้ว พอผ่านพ้นตรงนี้ไปแล้ว สิ่งที่ไปผลไปทำหน้าที่รัฐบาลตอนนี้ ต้องทำอย่างเดียวคือสร้างผลงานให้กับประชาชน ที่จะหาทางเรียกคะแนนนิยมกลับมาสำหรับตนสิ่งที่น่าเสียดายคือ ประเทศอยู่ในช่วงที่ ค่อนข้างจะมีปัญหาในเชิงโครงสร้างเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขีดความสามารถทางการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำสังคมสูงวัย และอีกหลายอย่าง ซึ่งกำลังต้องการระบบการเมืองที่ดีเข้ามาจัดการ ทั้งประสิทธิภาพและคุณธรรมแต่ขณะนี้ ในรอบปีกว่าที่ผ่านมาเกือบทุกองค์กรทุกสถาบัน กำลังถูกตั้งคำถามทั้งกระบวนการยุติธรรม นโยบายที่ใช้ในการหาเสียง สิ่งเหล่านี้มันบั่นทอนศรัทธา และการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการที่จะทำให้การบริหารประเทศแก้ปัญหายากๆ ได้
8) เมื่อถามว่ามีการวิจารณ์ว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะกลายเป็นพรรคต่ำ 10 หรือสูญพันธุ์ได้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนว่าไม่มีใครทราบ แต่ก็หนักใจแทนผู้บริหารอยากจะบอกว่าตรรกะที่บอกว่าถ้าเข้าไปมีอำนาจแล้วมีผลงานซึ่งก็ใช้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี’62 ซึ่งตน พูดตั้งแต่ตอนนั้นว่ามันไม่ใช่ สำหรับผู้ที่สนับสนุนพรรคมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ คือ เรื่องของจุดยืน เรื่องของความมั่นคง และหลักอ้างอิงในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
เมื่อถามว่าโอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะกลับมากอบกู้พรรคประชาธิปัตย์อีกครั้งเป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนพูดไปแล้วว่าตนไม่ได้คิดตั้งพรรค ไม่ได้คิดจะไปไหนอยู่แล้วแต่ ตอนจะกลับมาประชาธิปัตย์ได้ ก็ต้องเป็นอุดมการณ์ประชาธิปัตย์แบบที่ตนเข้าใจ
เมื่อถามว่ามีการพูดถึงว่าพรรคประชาธิปัตย์บอบช้ำใกล้จะตาย แต่จะกลับมาฟื้นใหม่ได้โดยมีนายอภิสิทธิ์กลับมากอบกู้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีใครทราบอนาคตและการจะกอบกู้อะไรต่างๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เวลาในขณะนี้เป็นตัวพิสูจน์ก่อนว่า แนวทางที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันเชื่อในที่สุดมันเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นจริงหลายคนที่วิเคราะห์ก็ผิด และพรรคก็เติบโตไป แต่สำหรับตนไม่ได้ยินดียินร้ายอะไรกับการเติบโตด้วยวิธีแบบนี้ จึงอยู่ที่ผู้บริหารเขาจะตัดสินใจอย่างไร
สรุป : พรรคประชาธิปัตย์ถึงจุดอวสานแล้วใน“ความรู้สึกเฉพาะหน้า” ของใครหลายคน แต่ก็มีอีกหลายคนแยกได้ว่า การตัดสินใจร่วมรัฐบาลครั้งนี้ เป็นการตัดสินใจของ “คนอยากเป็นรัฐมนตรี” กลุ่มหนึ่งไม่ใช่คนที่มีสำนึกแบบ “ประชาธิปัตย์” ที่แท้จริง จึงรอดูท่าทีต่อไป ยังไม่ “อวสาน”!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี