การประชุมระดับผู้นำระหว่างกลุ่มประเทศ BRICS กับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา (Leaders’ Meeting of the BRICS Member Countries in the Outreach/BRICS Plus Format) หรือ BRICS Plus Summit ในวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ณ เมืองคาซาน รัสเซีย
ประเทศไทย ในฐานะชาติที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ ได้รับคำเชิญเข้าร่วมประชุม จากวลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
แต่นายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ไม่ได้เดินทางไปเอง
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ เดินทางเข้าร่วมประชุมแทน
ถูกมองว่า เป็นการไปชิมลางดูก่อน
เพราะไทยเราเอง ก็ยังสมัครเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) อยู่ด้วย
เรียกว่า ไทยไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่งแบบเด็ดขาด ในขั้วอำนาจภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน
1. ในการประชุมสุดยอดกลุ่มบริกส์ครั้งนี้ จัดขึ้นที่เมืองคาซาน ทางด้านตะวันตกกลางของรัสเซีย มีผู้นำจากนานาประเทศเข้าร่วมหารือ
มีทั้งประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ อย่างจีน อินเดีย ตุรกี อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้าร่วมการประชุม
หัวข้อหารือ เช่น การพัฒนาระบบการชำระเงินข้ามพรมแดนของบริกส์ และปมความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ประธานาธิบดี วลาดีมีร์ ปูติน กล่าวเปิดประชุมอย่างเป็นทางการ ประกาศมุ่งหน้าสร้างระเบียบโลกแบบที่มีหลายขั้วอำนาจ
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเรียกร้องให้สมาชิกบริกส์กระชับความร่วมมือด้านการเงินและเศรษฐกิจ พร้อมชี้ว่าจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างระบบการเงินระหว่างประเทศอย่างเร่งด่วนยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเรียกร้องให้ปลดชนวนความขัดแย้งในวิกฤตยูเครน และให้มีการหยุดยิงในเลบานอนและกาซา
ระหว่างการประชุม ปรากฏภาพการหารือใกล้ชิด ระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกบริกส์ ทั้งรัสเซีย จีน กับประธานาธิบดีมาซูด เปเซชเคียน ของอิหร่าน รวมถึงประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ของเวเนซุเอลา
เลขาธิการสหประชาชาติ กูเตอร์เรส ก็เดินทางไปร่วมประชุม ตามคำเชิญของผู้นำรัสเซีย กระทั่งสร้างความไม่พอใจให้แก่ยูเครน
กลุ่มบริกส์ (BRICS) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2009 โดยมีสมาชิกเริ่มแรกเพียง 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ภายหลังขยายเป็นบริกส์ เมื่อรับแอฟริกาใต้เข้าเป็นสมาชิกรายที่ 5
ก่อนหน้านี้ ได้เปิดรับประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อีกหลายรายเข้าเป็นสมาชิก อาทิ อียิปต์ เอธิโอเปีย เวเนซุเอลา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน ฯลฯ
ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย
โดยมีซาอุดีอาระเบียที่สมัครและได้รับเชิญเข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำกระบวนการรับรองให้สัตยาบัน
ส่วนประเทศไทยเรา เป็นหนึ่งในประเทศที่ยื่นสมัครไปแล้ว ยังไม่ได้เป็นสมาชิก
2. ชุย อี๋เหมิง ภาคภาษาไทย ศูนย์เอเชียแอฟริกา แห่งสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG) วิเคราะห์ถึงบทบาทและความต้องการของจีนในครั้งนี้น่าสนใจ ระบุว่า
“...จีนในฐานะประเทศผู้ก่อตั้งกลไกความร่วมมือบริกส์ที่สำคัญ เป็นผู้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์บริกส์อย่างแข็งขัน และเป็นแกนนำในการส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือในกลุ่มประเทศบริกส์
เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เดินทางไปเมืองโจฮันเนสเบิร์กเพื่อร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 15 นายสี จิ้นผิงประกาศว่า จีนได้ตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาระดับโลกและความร่วมมือใต้-ใต้ เป็นเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะจัดสรรเงินทุนพิเศษวงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับดำเนินโครงการริเริ่มเพื่อการพัฒนาของโลกโดยเฉพาะ
วันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา นางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในการแถลงข่าวของกระทรวงที่จัดขึ้นประจำ ว่าจีนมีความคาดหวังอะไรจากการประชุมครั้งนี้ หลังมีการประกาศว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มบริกส์ ครั้งที่ 16
นางเหมา หนิงกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีเริ่มต้นของ “ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ที่ใหญ่ขึ้น”การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกหลังกลุ่มบริกส์รับสมาชิกเพิ่ม ทำให้ประชาคมโลกให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยนับตั้งแต่ก่อตั้ง กลุ่มประเทศบริกส์ได้ยึดมั่นในเจตนารมณ์ที่เปิดกว้าง กลมกลืน ดำเนินความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ด้วยกัน ยืนหยัดปณิธานเดิมสามัคคีและพัฒนาตนเอง มุ่งพิทักษ์แนวคิดพหุภาคี และกลายเป็นพลังการสร้างสรรค์ที่แข็งขันมั่นคง และดีงามในกิจการระหว่างประเทศ
ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะร่วมการประชุมผู้นำทั้งกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ และการเสวนาของผู้นำกลุ่มบริกส์พลัส พร้อมกล่าวสุนทรพจน์ที่สำคัญแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกกับผู้นำประเทศต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมของกลุ่มบริกส์ การพัฒนากลไกบริกส์และประเด็นสำคัญที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน
โดยจีนยินดีใช้ความพยายามร่วมกับทุกฝ่าย ผลักดัน“ความร่วมมือของกลุ่มบริกส์ที่ใหญ่ขึ้น” ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เปิดศักราชใหม่แห่ง Global South หรือกลุ่มประเทศโลกใต้ รวมตัวและพัฒนาด้วยตนเอง ร่วมส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาของโลก
การเพิ่มสมาชิกกลุ่มบริกส์ที่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวไว้ หมายความว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคมปีนี้ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน และเอธิโอเปียได้เข้าเป็นสมาชิกครอบครัวกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ กล่าวได้ว่า การเพิ่มสมาชิกครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศ BRICS ที่จะร่วมมือสมานสามัคคีกับประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาคมโลก และสอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา การเพิ่มสมาชิกครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของความร่วมมือบริกส์ซึ่งจะเป็นพลังใหม่ให้กับกลไกความร่วมมือบริกส์และสร้างพลังแห่งสันติภาพและการพัฒนาของโลกมากขึ้น
จนถึงขณะนี้ มี 30 กว่าประเทศสมัครเข้ากลุ่มบริกส์ เหตุใดประเทศต่างๆ จึงพากันสมัครเข้ากลุ่มบริกส์มากขึ้น?
ประเทศเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา สำหรับประเทศเหล่านี้ การพัฒนาให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมมีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งก็เป็นหนึ่งในลักษณะพิเศษที่สำคัญที่สุดของกลไกความร่วมมือบริกส์ กลุ่มบริกส์ยังได้ก่อตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ ไม่เพียงแต่ช่วยประเทศสมาชิกให้ได้เงินกู้ในอัตราพิเศษ หากยังกระชับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการสร้างความทันสมัยในหมู่ประเทศสมาชิก
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมปีนี้ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนงของไทยในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยเชื่อว่า การเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ช่วยยกระดับบทบาทของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ เพิ่มโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ดังที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนกล่าวไว้ว่า โลกทุกวันนี้เข้าสู่ยุคใหม่ของความวุ่นวายและการเปลี่ยนแปลง กลุ่มประเทศบริกส์เป็นกำลังสำคัญในการกำหนดภูมิทัศน์ระหว่างประเทศ เป็นตัวแทนทิศทางความก้าวหน้าของสังคมมนุษย์ และจะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อกระบวนการพัฒนาของโลกอย่างแน่นอน...”
3. นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย
กระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยว่า การประชุมนี้ถือเป็นการประชุมในกรอบ BRICS Plus ครั้งที่ 4 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BRICS and the Global South: Building a Better World Together” เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก และแนวทางการส่งเสริมระบบพหุภาคีเพื่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น
การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้ฝ่ายไทยได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นในการยกระดับปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม BRICS หลังจากที่ไทยได้ยื่นหนังสือแสดงความประสงค์ในการสมัครเข้าเป็นสมาชิก BRICS เมื่อเดือนมิถุนายน 2567
ทั้งนี้ นอกเหนือจากประเทศสมาชิก ยังมีประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่จะเข้าร่วมการประชุม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สปป.ลาว เวียดนาม คาซัคสถาน
อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้
เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศ นายมาริษ เคยให้สัมภาษณ์หลังเข้าร่วมการประชุมหารือระหว่างสมาชิกกลุ่มบริกส์ (BRICS) กับประเทศกำลังพัฒนา ที่เมืองนิจนีนอฟโกรอด ประเทศรัสเซีย
ระบุว่า เหตุผลที่ไทยต้องการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์ เพราะบริกส์เป็นประเทศตลาดใหม่ ซึ่งมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจสูง และมีศักยภาพในการผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของโลก ไทยมองว่าหากสามารถเป็นสมาชิกและร่วมทำงานกับประเทศบริกส์ บทบาทของประเทศไทยจะชัดเจนมากขึ้น และจะสามารถปกป้องผลประโยชน์ของไทยทั้งในฐานะประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้
นอกจากนี้ ยังบอกด้วยว่า
“ไทยได้ประกาศตัวเองและแสดงเจตจำนงที่จะเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศบริกส์
ไทยไม่ได้มองการเข้าเป็นสมาชิกบริกส์ว่าเป็นการเลือกข้าง หรือมองว่าบริกส์เป็นการรวมกลุ่มที่จะไปคานอำนาจใคร
รัฐบาลไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) และบริกส์ เพราะต้องการทำให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้น และต้องการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยเพื่อให้สามารถมีบทบาทร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาแล้ว ในการชี้นำหรือวางแนวทางการพัฒนาของประชาคมโลกต่อไป เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเสมอภาค ไม่ว่าจะกับประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศกำลังพัฒนา...
...ไทยมีลักษณะพิเศษ คือ เราเป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูของใคร
เราสามารถเป็นสะพานเชื่อมกับประเทศกำลังพัฒนา กับประเทศสมาชิกบริกส์ และยังช่วยเชื่อมบริกส์เข้ากับกลุ่มอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกบริกส์มีพลังมากขึ้นในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ประชาคมโลกได้เห็นความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่” - รมว.มาริษ กล่าว
4. แนวทางที่กระทรวงการต่างประเทศยุครัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์เพื่อไทยขับเคลื่อนนี้ พยายามจะไม่แสดงออกถึงการเลือกข้างอย่างชัดแจ้ง
ต้องรอพิสูจน์ว่า เป็นแนวทางที่ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์สูงที่สุด เสี่ยงน้อยที่สุด จริงหรือไม่?
แต่ที่แน่ๆ ไทยเราต้องอยู่ท่ามกลางสงคราม ความขัดแย้ง และการต่อสู้ขับเคี่ยว ทั้งทางเศรษฐกิจและการทหาร ช่วงชิงอำนาจภูมิรัฐศาสตร์โลกที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างแน่นอน
ผู้นำอ่อนประสบการณ์ และไม่มีบารมีในทางอำนาจอย่างนายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ จะสร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทยทั้งประเทศได้หรือ?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี