ข่าวการเลย์ออฟ (lay-off) พนักงานสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อสี่ห้าวันก่อน มิใช่เรื่องน่าประหลาดใจ สองสัปดาห์ที่แล้ว ก็มีข่าวสื่อยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง CNN และสำนักข่าว AP ประกาศเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก ด้วยเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ใครก็สามารถสร้างและรายงานข่าวผ่านสำนักข่าวของตนเองได้...ด้วยทุนจำนวนน้อย
ย้อนไปเมื่อ 12 ปีก่อน นักข่าวกลุ่มหนึ่งจาก The New York Times, The Wall Street Journal, The Economist และ Bloomberg ได้ร่วมกันสร้างเว็บไซต์ข่าวชื่อ Quartz หรือ qz.com ที่รายงานข่าวจาก 115 ประเทศ ใน 19 ภาษา โดยใช้ผู้สื่อข่าวและทีมงานอีกเพียงไม่กี่คนเท่านั้นประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย
นักข่าวเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจบใหม่ มีประสบการณ์ทำข่าวสัก 1- 2 ปี กำลังต้องการเห็นโลกกว้างเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิต เช่น บางคนอาสามาทำข่าวการรัฐประหารปี’57 ที่เมืองไทย โดยขอให้ Quartz จ่ายเพียงแค่ค่าที่พักแบบ guess house ราคาถูกแถวถนนข้าวสารพร้อมตั๋วสายการบินราคาประหยัดและค่าอาหารวันละ 100 ดอลลาร์ก็เพียงพอ หรือ บางคนอาสาไปรายงานข่าวความไม่สงบในตะวันออกกลางด้วยเงื่อนไขและงบประมาณเดียวกัน ขณะที่สำนักข่าวอย่าง CNN ถ้าเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับอิสราเอลก็มักจะส่งผู้ประกาศรุ่นใหญ่อย่าง Anderson Cooper หรือ Wolf Blitzer ซึ่งมีค่าตัวสูงมากไปรายงานข่าวกันแบบสดๆ ที่เยรูซาเลม
ปี 2015 (๒๕๕๘) Quartz เปิดตัวแอปพลิเคชั่น – Atlas อันเป็นแพลตฟอร์มสำหรับอ่านข่าว ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกหรือใหม่ในตอนนี้ แต่ถ้าย้อนหลังไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน ต้องถือเป็นนวัตกรรมในแขนงวิชานิเทศศาสตร์-วารสารศาสตร์และธุรกิจสื่อสารมวลชนที่ก้าวหน้ามาก
การทำงานและหน้าตาเจ้า Atlas ในตอนนั้น ก็คล้ายกับการแชตไลน์ในตอนนี้ ทันทีเข้าไปใช้งาน มันก็จะเริ่มต้นด้วยการสวัสดีทักทาย แล้วก็จะบอกว่าวันนี้มีข่าวอะไรที่น่าสนใจ ด้วยการไปสกัดข้อมูลจากข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์มาสักฉบับหนึ่งก่อน ซึ่งถ้าเป็นเรื่องที่เราสนใจ เราก็จะพิมพ์บอกให้มันส่งรายละเอียดให้เราได้อ่านต่อไป หรือถ้าไม่สนใจ มันก็จะไปหาข่าวใหม่จากฉบับอื่นมานำเสนอแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะพอใจ
ถ้าสิบปีที่แล้ว เว็บไซต์ข่าวสำนักเดียวทำได้ขนาดนี้ และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วในตอนนี้แล้ว...ลองจินตนาการดูครับว่า เจ้า Atlas จะมีความสามารถที่เพิ่มมากขึ้นอีกขนาดไหน
ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี AI และ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ทำให้โรบอท (robot) สามารถพูดคุยกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติมาก ในอีกไม่นานเมื่อเราเปิดแอปพลิเคชั่นข่าวของสำนักข่าวในอนาคต ก็จะได้ยินเสียงเจ้าโรบอทกล่าวทักทายผู้ใช้ไม่ต่างจากผู้ประกาศข่าวคนโปรดของเราพร้อมกับเล่าข่าวให้ฟังว่า วันนี้มีข่าวอะไรที่น่าสนใจบ้างซึ่งตัวอย่างบทสนทนาระหว่างแชตบอทกับผู้ใช้ก็อาจจะออกมาประมาณนี้....
“สวัสดีครับ/ค่ะ คุณธิติ วันนี้มีข่าวที่น่าสนใจ ดังนี้...ทรัมป์ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เม็กซิกันและแคนาดา, ราคาน้ำมันลงรับข่าวการหยุดยิงในตะวันออกกลาง และ ฯลฯ สำหรับข่าวในประเทศ ก็มีเรื่อง......ที่มติชนกำลังเกาะติดอยู่, ส่วนแนวหน้า วันนี้มีสกู๊ปเรื่อง..........ที่น่าสนใจ, แต่ถ้าเป็นข่าวอาชญากรรมของไทยรัฐ ก็มีเรื่อง.........., ส่วนบทความของป๋าเปลว วันนี้เขียนเรื่อง...... อยากจะให้อ่านข่าวไหนให้ฟังก่อนดี ครับ/ค่ะ” .... เจ้าแชตบอทบอกกับผม
“...โอเค งั้นอ่านสกู๊ปในแนวหน้าให้ฟังก่อน แล้วค่อยมาเล่าว่า Section Holiday Books ของ WSJ ฉบับสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา แนะนำหนังสือเรื่องอะไรบ้าง”
“...ได้ครับ/ค่ะ ค่าอ่านสกู๊ป 20 บาท ส่วนค่าอ่าน section แนะนำหนังสือใหม่ 30 บาท”
และเมื่อเราใช้มันมากและบ่อยขึ้น เจ้าแชตบอทตัวนี้ก็จะเริ่มจดจำ เรียนรู้และพัฒนาตัวมันเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเก็บรูปแบบการใช้ข้อมูลของเราจนรู้ได้ว่าสนใจข่าวประเภทใด ชอบอ่านสกู๊ปแบบไหน รสนิยมทางการเมืองเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องท้ายสุดนี้อาจจะนำมาสู่พฤติกรรมการเสพข่าวการเมืองที่นักจิตวิทยาเรียกว่า confirmatory bias หรือ myside bias เพราะในทางจิตวิทยาแล้ว มนุษย์ล้วนมีพฤติกรรมโน้มเอียงที่จะเลือกรับ ฟังและดู ในสิ่งที่ตรงหรือสอดคล้องกับจริตหรือความคิด ความเห็นของตัวเองมากกว่า ซึ่งนักรัฐศาสตร์เรียกพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ว่า partisan bias
เพราะปัจจุบัน AI หรือ เจ้าแชตบอทเหล่านี้ยังไม่สามารถแยกแยะ ข้อเท็จ-จริง จากข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ได้ดีเพียงพอ และในยุคสมัยนี้ที่ใครต่อใครก็สามารถแสดงบทบาทการเป็นสื่อหรือเป็นนักข่าวได้ ดังนั้นย่อมเป็นเรื่องง่ายมากที่นักสร้างข่าวปลอมจะอาศัยความไม่รู้ของผู้คนเพื่อการสร้างข่าวปลอมหรือ Fake News ขึ้นมาด้วยการให้ข้อมูลแบบผิดๆ หรือไม่ครบถ้วน (misinformation) การบิดเบือนข้อมูล (disinformation) ไปจนถึงการปล่อยข่าวลือ (rumor) เพื่อผลประโยชน์ของพวกเขาต่อไป
อันนำไปสู่ ปรากฏการณ์ นายกฯอำพรางนักโทษทิพย์ วิทยานิพนธ์เก๊ กฎหมายฉ้อฉล วิญญูชนจอมปลอม หมอขี้โกง ทนายโจรคนหิวแสง เซเลบสร้างภาพ.....ที่เกิดขึ้นในบางสังคม
ทุกวันนี้ มีเว็บไซต์ข่าวปลอมอยู่เป็นจำนวนมากทั่วโลก โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับบุคคลมีชื่อเสียง ดารา นักร้องและเรื่องการเมือง อย่างไรก็ตาม บางเว็บก็เขียนเตือนผู้ใช้ไว้ชัดเจนว่า เนื้อหาในเว็บนี้ล้วนเป็นเรื่องไม่จริง แต่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์เพื่อต้องการประชดประชันหรือเสียดสีทางการเมือง เช่น ทรัมป์ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบิล สาขาสันติภาพ เพราะความกล้าหาญที่ออกมาปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) หรือ รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก ในการปฏิบัติภารกิจลับ เพื่อนำผู้ลี้ภัยจำนวนมากเข้าสหรัฐ....ข่าวปลอมที่เสนอความจริงเฉพาะแต่เพียงบางด้านบางส่วน
เช่นนี้ บวกเข้ากับพฤติกรรม myside/partisan bias ก็จะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจ จินตนาการหรือการคิดไปเองแบบผิดๆ ของผู้เสพต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็กำลังพัฒนา AI กันอย่างไม่หยุดยั้ง อันทำให้ต่อไปการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของชุดข้อมูลที่ซับซ้อนเพื่อนำไปสู่การสกัดข้อมูลเแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ข่าวจริง กับ ข่าวปลอม ของ AI คงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น...
บางบริษัท ใช้วิธีนำข้อมูลที่สร้างขึ้นจาก AI ในรุ่นก่อนๆ มาพัฒนาการเรียนรู้ต่อยอดตัวเอง เป็นการสร้างไวยากรณ์ทางปัญญาแบบส่งทอดความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง อันทำให้ AI รุ่นใหม่ที่ออกมามีความฉลาดมากขึ้นไปเรื่อยๆ
บางบริษัท ใช้วิธีสร้างระบบคิดของ AI ให้เหมือนมนุษย์ แก้ปัญหาได้เป็นขั้นเป็นตอน แยกแยะปัญหา แก้ไขไปทีละส่วน แทนที่จะมุ่งหาคำตอบทั้งหมดในครั้งเดียว ดังเช่น วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการของพุทธศาสนา
บางบริษัท ใช้วิธีทำให้ AI เข้าใจและทำงานในโลกความเป็นจริงได้ดีขึ้น เช่น การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม มองเห็นและเข้าใจสิ่งรอบตัว เพื่อตอบสนองสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
ครับ ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ การปลดพนักงานของสำนักข่าวต่างๆ ข้างต้น คงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น....
ดร.ธิติ สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี