วันนี้ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๗ เป็นวันครบรอบ ๑๐๙ ปี “ชาตกาล นิลวรรณ ปิ่นทอง” สตรีไทยคนแรกที่ได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ในปี ๒๕๐๔ ผู้ที่ผมผูกพันมาตั้งแต่ยังเยาว์วัย
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในพื้นที่ฝั่งพระนครมีการทิ้งระเบิดจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผู้คนฝั่งพระนครอพยพมาอยู่ฝั่งธนบุรี บ้านริมคลองมอญที่ผมโตมาอยู่กันเป็นครอบครัวแบบขยายขนาดใหญ่ จึงมีผู้คนอพยพหลบภัยสงครามมาอยู่หลายครอบครัวด้วยกัน รวมทั้งครอบครัวของอาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทองที่มีทั้งคุณพ่อ คุณแม่และพี่น้องของท่าน ทำให้ผมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับอาจารย์นิลวรรณ และเรียกท่านว่า “คุณน้านิล” มาตลอด....
ทุกเช้า คุณน้านิลจะต้องทานกาแฟ สมัยนั้นตอนเช้าและเย็นจะมีพ่อค้า-แม่ค้าพายเรือมาขายของในคลองมอญ เรียกได้ว่าเป็นตลาดน้ำตามธรรมชาติ และจะมีเรือกาแฟ คือกาแฟที่ชงด้วยถุงที่พ่อค้านำลงเรือมาขายโดยบีบแตรให้รู้ คุณน้านิลก็จะผมไปซื้อกาแฟที่ท่าน้ำมาทานเกือบทุกเช้า คลองมอญถูกขุดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระไชยราชาธิราช มีปากคลองไปออกที่แม่น้ำเจ้าพระยาข้างอาคารราชนาวิกสภากับหอประชุมกองทัพเรือ กาแฟสมัยนั้นแก้วหนึ่งราคาประมาณ ๕๐ สตางค์ ไม่ถึงหนึ่งบาท โดยหากมีสตางค์ทอนจากการไปซื้อกาแฟ คุณน้านิลก็จะให้ผมเก็บไว้ใช้เป็นประจำ ตอนนั้นผมกำลังเรียนอยู่ประถมต้น ก็ได้เอาเงินส่วนนี้มาใช้เป็นค่าขนมไปโรงเรียน
คุณน้านิลเป็นคนที่มีระเบียบเคร่งครัดมาก การที่ท่านให้เงินค่าขนมแก่ผมหรือใครก็ตามจะต้องมาจากการทำงาน สำหรับผมนั้น ด้วยที่บ้านคลองมอญเลี้ยงสุนัขไว้หลายสิบตัวและดุมาก ที่ตรงนี้จึงถูกชาวบ้านเรียกว่า “คุ้งหมาดุ” ใครผ่านเข้ามาจะโดนสุนัขกัดอยู่เสมอ ตอนเช้าก็เป็นธรรมดาที่สุนัขจะทำสกปรกไว้ที่ถนน ผมก็จะมีหน้าที่เช็ดทำความสะอาด สมัยนั้นใช้ขี้เถ้ากับกากมะพร้าวเช็ด คุณน้านิลเห็นเข้าก็จะเรียกถามว่า “วันนี้กี่กอง” สมมติว่าวันนี้ ๓ กอง ท่านก็จะให้ ๓๐ สตางค์ สมัยนั้นถือว่าเยอะมากทีเดียว ซื้อขนมซื้อข้าวได้ ซึ่งความจริงแล้วแม้ไม่ให้เงิน ก็ต้องเช็ดอยู่ดีเพราะเป็นบ้านเรา แต่เมื่อคุณน้านิลเห็นก็ให้เป็นค่าตอบแทน นี่ก็เป็นชีวิตประจำวันที่ผูกพันกับคุณน้านิลมาตั้งแต่ตอนนั้น
ยิ่งกว่านั้น ก็เป็นคุณน้านิลนี่เอง ที่ช่วยสอนให้ผมอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ จนอ่านออกเขียนได้ แม้โตแล้วก็ยังไปหาท่านอยู่เสมอที่โรงพิมพ์ “สตรีสาร” ที่ท่านเป็นบรรณาธิการโดยจะเอา มะม่วงพิมเสนมันและ มะม่วงพราหมณ์ขายเมีย ที่อร่อยและมีลูกดกที่บ้านคลองมอญไปฝากท่านประจำ
คุณน้านิลเป็นนักเรียนอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รุ่นที่ ๓ แต่เป็นรุ่นแรกที่คณะเปิดสอนระดับปริญญาเป็นปีแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ท่านเลือกเรียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ท่านเล่าว่าที่ชอบเรียนภาษาก็เพราะครูอาจารย์ทั้งไทยและฝรั่งสอนอย่างมีเสรีภาพทางวิชาการ แนะนำวิชาแปลกใหม่กว่าที่เรียนในชั้นมัธยมมาสอน
เช่น ภาษาไทยก็เรียนนิรุกติศาสตร์ กับท่านอาจารย์ พระยาอนุมานราชธน ส่วนหลักภาษาและวรรณคดีเรียนกับอาจารย์ พระยาอุปกิตศิลปสาร และ พระวรเวทย์พิสิฐ วิชาภูมิศาสตร์เรียนกับอาจารย์ หลวงปราโมทย์จรรยาวิภาช และ หลวงปิยะวิทยาการ ประวัติศาสตร์เรียนกับอาจารย์ พระราชธรรมนิเทศ ซึ่งท่านยังจำถ้อยคำที่อาจารย์ได้พูดว่า การเรียนประวัติศาสตร์นั้น คือ We look back in order to look forward.
ภายหลังจบการศึกษาในปี ๒๔๘๐ ท่านก็ได้เป็นครูสอนโรงเรียนวังสมเด็จบูรพาและโรงเรียนสวนสุนันทาประมาณหนึ่งปี จากนั้นจึงย้ายไปรับราชการที่แผนกเอกสาร กองเผยแพร่ความรู้ กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน) อยู่ประมาณ ๙ ปี คุณน้านิลเล่าให้ฟังว่า ช่วงที่ทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ อยู่ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ช่วงนั้นกรมโฆษณาการนิยมแนวทางประชาสัมพันธ์แบบอิตาลีที่เรียกว่า โปรปะกันดา (propaganda) ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองตอนนั้นกำลังชื่นชมกับอิตาลีและเยอรมัน เป็นยุคการสร้างผู้นำ เอาอย่างเขาต่อมากองทหารญี่ปุ่นก็เข้ามาในเมืองไทย ช่วงนั้นการโกงญี่ปุ่น การแกล้งญี่ปุ่นได้ ถือว่าดีในสังคมเราต่อมาเกิดการขาดแคลนสินค้า ทางราชการของเราเวลาอยากกว้านซื้อสิ่งของ ก็อ้างว่า ถ้าไม่ซื้อญี่ปุ่นจะซื้อไปหมด
ภายหลังลาออกจากกรมโฆษณาการ ในปี ๒๔๙๒ คุณน้านิลก็ได้มาทำงานเป็นบรรณาธิการนิตยสารสตรีสาร เพราะบรรณาธิการคนเก่าลาออกไป ขณะนั้น “สตรีสาร” พึ่งออกได้หนึ่งปี
ท่านได้ทำให้สตรีสารเป็นนิตยสารผู้หญิงที่มีคุณภาพอยู่ในระดับแถวหน้า และมีคุณค่าเป็นที่กล่าวถึงอยู่มาจนปัจจุบัน สตรีสารดำเนินกิจการอยู่
๔๘ ปี ก็ได้หยุดกิจการในปี ๒๕๓๘ โดยความตั้งใจของบรรณาธิการเอง ท่ามกลางความเสียใจและเสียดายของนักอ่านและบรรณาธิการด้วย
ในระหว่าง ๔๘ ปี ที่ทำสตรีสารอยู่นั้น ท่านได้ออกนิตยสารควบคู่กันไปอีกสองฉบับ คือ ปี ๒๔๙๘ ออก “ดรุณสาร” นิตยสารสำหรับ
นักอ่านรุ่นเยาว์ และ “สัปดาห์สาร” นิตยสารที่เน้นเรื่องของข่าวสาร แม้จะปิดตัวไปในเวลาไม่นานนักทั้งสองเล่ม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้มีความคิดริเริ่มทดลองทำสิ่งใหม่อยู่เสมอ
คุณน้านิล เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี ๒๕๐๑ คณะกรรมการชุดแรกมีศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน เป็นนายกและคุณน้านิล ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ต่อมาในช่วงปี ๒๕๒๕-๒๕๓๐ ท่านก็ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ หลังจากนั้นดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ เรื่อยมา
ตอนที่ท่านได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ สาขาบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ นักข่าวถามถึงความรู้สึกที่เธอได้รับรางวัลนี้ คุณน้านิลตอบว่า
“....ลำพังดิฉันคนเดียว ไม่สามารถทำงานเหล่านั้นเป็นผลสำเร็จได้ ที่ทำได้ก็เพราะ ดิฉันได้รับความเมตตาสนับสนุนช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์ ท่านที่เคารพ ญาติ และมิตรสหาย ซึ่งมีจิตใจและอุดมคติตรงกัน ดิฉันเป็นหนี้พระคุณท่านเหล่านี้เป็นที่สุด....”
ความถ่อมตน เป็นอุปนิสัยเฉพาะตัวของคุณน้านิลอยู่เสมอเช่นนี้ ดังคำกล่าวที่ว่า “คนพูดน้อยมักทำงานมาก ส่วนคนพูดมากก็มักทำงานน้อย”
คุณน้านิลต้องการที่จะทำงานให้ได้ผลจริงๆ มากกว่าจะมาพูด พูด และพูด.....กันเท่านั้น และท่านก็ทำด้วยสำนึกว่าเป็นคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำงานร่วมกับคนไทยทุกๆ คนด้วยสามัคคี เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมืองไทยของเรา
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี