สำนวนไทย มีคำสอนที่เกี่ยวกับ “ปาก” หรือ “คำพูด” ของคนเอาไว้มากมาย อาทิ
“ปลาหมอตายเพราะปาก” มีความหมายว่า “คนที่ปากพล่อยชอบพูดจาไม่ดี จนตัวเองต้องได้รับผลกระทบจากคำพูดของตน”
“พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย” เป็นสำนวนไทยที่กล่าวมาแต่โบราณที่สอนว่า ถ้าพูดดีก็จะนำสิ่งดีมาสู่ตัว ถ้าพูดไม่ดีก็จะได้สิ่งไม่ดีตอบแทน
“มีปากเหมือนมีตูด คำพูดเหมือนลมตด” หมายถึง พูดไปเรื่อย พูดไม่คิด ปากเป็นแค่ทางผ่านของคำที่ไม่ได้ไปผ่านส่วนอื่นมาก่อน โดยเฉพาะสมอง สิ่งที่พูดจึงกลายเป็นสิ่งที่ประจานสติปัญญาของตัวเอง
“ผีเจาะปาก” เป็นสำนวนไทยโบราณ หมายถึง พูดตลอดเวลา, พูดไม่หยุด, ปากเสียตลอดเวลา
“ปากพาจน” หมายถึง พูดจนทำให้ตัวเองเดือดร้อนภายหลัง
ดูเหมือนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่นำโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะมีปัญหาเกี่ยวกับ “ปาก” หรือ “คำพูด” ที่พูดออกไปแล้วมักก่อปัญหา จนต้องตามมา “ขัดถู” คำพูดนั้นใหม่ ราวกับเป็น “โถส้วม” ที่ต้องคอยทำความสะอาดหลังจากถูกทำให้เลอะเทอะ
1) ไทยพีบีเอส รายงานว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในชั่วข้ามคืน หลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ประกาศกลางเวทีในงานสัมมนาหนึ่งว่า รัฐบาลมีแนวคิดปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็น 15% และปรับภาษีเงินได้นิติบุคคล 15% ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ขรมทั้งเมืองว่า รัฐบาลเพื่อไทย ถังแตกจนต้องใช้วิธีนี้รีดภาษีประชาชนเลยหรือ
2) ล่าสุดนายพิชัยออกมาแก้เกี้ยวว่า ยังอยู่แค่ขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น เนื่องจากหลายประเทศมีการปรับขึ้นภาษี ขณะที่ไทยยังคงใช้ฐานการเก็บภาษีอยู่ที่ 7% แม้ที่ผ่านมา ครม.เคยมีมติปรับขึ้นจาก 7% เป็น 10% ยังต้องขอกลับมติมาใช้ 7% เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จึงต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียก่อน
3) การโยนหินถามทางแบบแทบหาทางกลับบ้านไม่ถูก ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คนตกงานจำนวนไม่น้อย หลังบริษัทเลิกจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่าย ไม่เพียงส่งผลสะเทือนต่อนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แม้แต่ “นางสาวแพทองธารชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ก็ไม่พร้อมจะรับเผือกร้อนไว้ในมือโดยโบ้ยว่า ให้เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีคลังพิจารณา
4) ข้อมูลจากสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่าไทยเริ่มมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2535 ตามกฎหมายที่ออกไว้ครั้งแรก การจัดเก็บภาษีของไทย คือ 10% ไม่ใช่ 7% แบบที่จ่ายทุกวันนี้ โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% แบ่งออกเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจริง 9% ภาษีท้องถิ่น 1% ส่วนเหตุผลที่เก็บเพียง 7% จากตั้งไว้ที่ 10%เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษีเพื่อภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจริง ลดจาก 9% เหลือ 6.3% ส่วนภาษีท้องถิ่นลดจาก 1% เหลือ 0.7% รวมกันเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้กัน 7% และใช้มาจนถึงปัจจุบัน คนไทยจึงคุ้นชินกับตัวเลข ภาษี 7% กระทั่งเข้าสู่รัฐบาลเพื่อไทย 2 ที่มีแผนจะปรับโครงสร้างภาษี 15-15-15
5) อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลเดินหน้าเก็บภาษีจริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น นอกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ราคาสินค้าและบริการจะต้องปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 15% ประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่ม สำหรับสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร น้ำมัน หรือบริการสาธารณูปโภค ซึ่งกลุ่มรายได้น้อยได้รับผลกระทบหนักสุด
ด้วยว่า รายได้ส่วนใหญ่ต้องใช้ไปกับสินค้าและบริการพื้นฐาน เมื่อการบริโภคลดลงประชาชนลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยหรือบริการที่ไม่จำเป็น ก็จะส่งผลกระทบเป็นห่วงโซ่ไปยังภาคธุรกิจ ที่ต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับภาษี ส่งผลให้ยอดขายลดลงผู้ประกอบการรายย่อยอาจเสียเปรียบในการแข่งขันผู้บริโภคลดความต้องการสินค้าและบริการ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของธุรกิจ เลวร้ายสุดอาจถึงขั้นปิดกิจการเพราะไปต่อไม่ไหว
ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม เมื่อการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธุรกิจบางส่วนอาจต้อง
ปิดตัวลงหรือลดขนาดกิจการ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือ เช่น การลดภาษีสินค้าจำเป็น หรือให้สวัสดิการเพิ่มเติม คนรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากกว่า
5) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าอยู่ระหว่างการศึกษาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลโดยใช้สูตร 15:15:15 เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล-บุคคลธรรมดา รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ให้อยู่ที่ 15% ว่า
เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการที่จะหารายได้ภาษีให้เพิ่มขึ้นโดยการขึ้น VAT ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา รวมถึงต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศผ่านโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยหรือ
เปราะบาง ซึ่งการมีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงพอก็จะช่วยลดการกู้ ลดภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งปีนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 65.74% ใกล้เพดาน 70% เข้าไปทุกที
การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของรัฐบาล แม้จะมีเป้าหมายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องมีแผนปฏิรูปภาษีที่รอบคอบและสมดุล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยกระตุ้นการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ของประชาชน ในขณะที่การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แต่อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีทั้งสองประเภทจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐและเสถียรภาพทางการคลังอย่างรอบคอบ ซึ่งตนมองว่า การลดภาษีดังกล่าว ควรทำควบคู่กับการขยายฐานภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐและรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว
นอกจากนี้ การลดอัตราภาษีแบบ Flat Rate เหลือ 15% สำหรับทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ Flat Rate อาจ
ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำต้องรับภาระภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ ในขณะที่กลุ่มรายได้สูงได้รับประโยชน์มากกว่า และที่สำคัญไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากรายได้ประชากรไทยมีความหลากหลายและไม่สม่ำเสมอ ระบบ Flat Rate อาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ความเป็นธรรมทางภาษี
“ซึ่งผมขอเสนอว่าหากพิจารณานโยบาย Flat Rate ควรมีมาตรการเสริม เช่น การเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ และให้มีการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยพิจารณาการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมและลดช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากร และควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายนี้จะไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลังและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งระบบ Flat Rate เหมาะกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจมั่นคงและรายได้ประชากรสูงเท่ากันในระดับหนึ่ง หากนำมาใช้ในไทยซึ่งประชากรมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง จึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของประเทศด้วย” นายธนกร กล่าว
สำหรับการเพิ่มอัตราภาษี VAT แม้ว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐอย่างมาก แต่จะกระทบต่อค่าครองชีพ การเพิ่มVAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ในการบริโภค
การเพิ่ม VAT ลดกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัวและกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตนมองว่า ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการฟื้นตัวยังเติบโตไม่เต็มที่ ประชาชนมีรายได้ต่ำ มีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ควรไปเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ดังนั้น ควรมีมาตรการเสริม เช่น การยกเว้น VAT สำหรับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือการให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ใช้รายได้จากการเพิ่ม VAT เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสวัสดิการสังคม และให้พิจารณาการปรับ VAT อย่างค่อยเป็นค่อยไป การปรับเพิ่มอัตราควรทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวม
นายธนกร กล่าวอีกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้ตกผลึกก่อนตัดสินใจปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบหรืออาจจะทำทีละขั้นตอน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ในอนาคตยอมรับว่าจะต้องมีการปรับขึ้นแน่นอน แต่ควรดูเวลาที่เหมาะสม หากปรับขึ้นทันที จะส่งผลกระทบหนักแน่นอน เพราะจัดเก็บในอัตราที่สูงมากกว่าหนึ่งเท่าตัวจาก 7% กระโดดขึ้นไปถึง 15% ในเรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมีความกังวลเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะงักได้ หากจะปรับโครงสร้างภาษี VAT ควรจะทำควบคู่กับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับโครงสร้างพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า ค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ ให้พร้อมก่อนที่จะปรับขึ้นภาษีในภายหลังจะดีกว่า
“การปรับโครงสร้างภาษีโดยเฉพาะ VAT นั้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ถึงผลดีผลเสียที่จะได้ เนื่องจากรายได้ของพี่น้องประชาชนยังเท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเท่าตัว จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและการตัดสินใจใช้จ่ายเงินของประชาชนจะยิ่งลดลงด้วย ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในประเทศโดยตรง จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงการคลังพิจารณาปรับขึ้น VAT ในเวลาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา ทั้งนี้ ควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกภาคส่วน อาจจะใช้เวทีสภาเพื่อหารือในเรื่องนี้ ก็สามารถทำได้เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด”
6) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก และ X กรณีมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เป็น 15% ว่า “จากข้อกังวลใจของพี่น้องประชาชน ต่อเรื่อง VAT15%
วันนี้ ดิฉันได้พูดคุยหารือในประเด็นดังกล่าว กับท่านรองนายกรัฐมนตรีพิชัย ร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เพื่อความชัดเจน ดิฉันขอสรุป เพื่อชี้แจงต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้ค่ะ
1. ไม่มีการปรับ VAT เป็น 15%
2. กระทรวงการคลัง กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างภาษี ซึ่งต้องมองทั้งระบบให้ครบทุกมิติและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
3. การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศอื่นๆ ใช้เวลาศึกษาและปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป บางประเทศใช้เวลาปรับเปลี่ยนกว่า 10 ปี
4. นโยบายหลักของรัฐบาล คือการลดรายจ่ายของประชาชน ลดรายจ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐควบคู่ไปกับการหาโอกาสจากการสร้างรายได้ใหม่ให้ประชาชน ทั้งหมดนี้ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชนคนไทยค่ะ
“ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจค่ะว่า การทำงานของรัฐบาล เราดำเนินการด้วยความรัดกุม รับฟังทุกภาคส่วน และยึดประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยของเราทุกคนค่ะ”
สรุป ::
ไม่รู้ว่า ชั่วโมงไหน ที่รัฐบาลชุดนี้จะพ้นจากภาวะ “ใช้ประเทศไทยฝึกงาน”
ปากเจ้าปัญหา พานายกฯ อุ๊งอิ๊งค์ ร่อแร่มากี่งานแล้ว ตั้งแต่จะเล่นน้ำสงกรานต์ทั้งเดือน, น้ำจากเชียงใหม่ไหลลงแม่น้ำโขง, มีสามีเป็นคนใต้, นายภูมิธรรม เวชยชัย กล่าวหาคนห่วงปัญหาเกาะกูดกับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชาว่า “คลั่งชาติ” จนมาถึงกรณีนี้ จนอดไม่ได้ที่จะต้องถามว่า...
นั่นปากหรือตูด พูดแล้วต้องคอยตามเช็ด เหมือนคนขี้เสร็จแล้วไม่ได้ล้างก้น!!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี