พิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตน แด่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ของทหารรักษาพระองค์ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๗ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ณ พระลานพระราชวังดุสิต โดยพลเอกหญิงสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ผู้บังคับการกองผสม และพลเอกหญิงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นองค์ผู้บังคับกองพันทหารม้ารักษาพระองค์ในพิธีดังกล่าว ต้องถือว่าเป็นพิธีการที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติยศเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งได้แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง พร้อมเพรียง มีระเบียบวินัยของทหารรักษาพระองค์ เป็นที่ชื่นชมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากประชาชนจะได้ชื่นชมในพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์แล้ว ยังได้มีโอกาสเห็นพิธีสวนสนามโดยเหล่าทหารรักษาพระองค์ในชุดเครื่องแบบเต็มยศของแต่ละกองพัน แล้วยังได้มีโอกาสเห็นการอัญเชิญธงชัยเฉลิมพลของเหล่าทัพต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นธงที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งของเหล่าทหารกล้าของชาติ
ธงชัยเฉลิมพลเป็นสัญลักษณ์ที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะไม่เพียงแต่เป็นสิ่งซึ่งเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพอีกด้วย ทั้งยังเป็นเครื่องหมายของ ๓ สถาบันหลักของชาติคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ อันเป็นหลักสำคัญของบ้านเมืองที่ทหารจะต้องรักษาไว้ เพื่อประโยชน์สุขแห่งประเทศชาติและประชาชน
ธงชัยเฉลิมพลเป็นธงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานให้กับหน่วยทหารต่างๆ ธงนี้ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของทหาร ที่ทหารทุกคนต้องเคารพสักการะและพิทักษ์รักษาไว้ด้วยชีวิต การปฏิบัติต่อธงทุกขั้นตอนเป็นไปตามแบบแผนพิธีการที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้โปรดให้สร้างธงชัยเฉลิมพลประจำกองทัพ โดยแต่เดิมนั้นธงจะถูกแยกออกเป็น ๒ ชนิดชนิดแรกคือ ธงชัยประจำกองทัพ อันได้แก่ ธงจุฑาธุชธิปไตยและธงไพชยนต์ธวัช และชนิดที่ ๒ คือธงประจำกองทหาร โดยได้พระราชทานธงจุฑาธุชธิปไตยให้แก่กองทัพไทยเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๑๘ เพื่อเปรียบเสมือนตัวแทนพระองค์ไปในกองทัพที่ยกไปปราบพวกฮ่อที่ก่อการจลาจลในแคว้นหัวพันทั้งห้าทั้งหกและแคว้นสิบสองปันนาของไทยในครั้งนั้น ส่วนธงไพชยนต์ธวัชพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เพื่อนำมาใช้คู่กัน
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานธงชัยเฉลิมพล ประจำกองทหารต่างๆ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๓๑ โดยได้มีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า “ทหารย่อมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับที่จะป้องกันพระราชอาณาเขต และเป็นเหตุที่จะให้อำนาจบ้านเมืองกว้างขวางมั่นคงยั่งยืน ทหารไม่เป็นแต่สำหรับที่จะต่อสู้ในเวลาที่เกิดการศึกสงครามอย่างเดียว ย่อมเป็นประกันห้ามการศึกสงครามมิให้เกิดมีได้ด้วย เพราะฉะนั้นจึงต้องกล่าวว่าการที่มีทหารประจำรักษาพระราชอาณาเขตอันพรักพร้อมไปด้วยเครื่องศาสตราวุธและมีความกล้าหาญนั้น เป็นเครื่องป้องกันการที่จะเกิดสงครามได้ เหตุฉะนี้กองทหารทั้งปวงจึงเป็นผู้ที่มีความชอบอยู่เป็นเนืองนิจ”
ลักษณะสำคัญของธงชัยเฉลิมพลคือเป็นธงสี่เหลี่ยม อาจจะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสหรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าขึ้นอยู่กับกองทัพ พื้นธงเป็นสีธงชาติ ตรงกลางของธงของทัพบกและกองทัพอากาศจะเป็นรูปอุณาโลม ส่วนของกองทัพเรือเรือจะเป็นรูปจักร และมีสมอสอดวงจักรโดยทุกธงจะมีพระมหามงกุฎประดับอยู่ ส่วนคันธงตรงตำแหน่งที่มีธง จะมีหมุดโลหะสีทอง ๑๕ หมุด หมุดที่ ๑ เป็นรูปประเทศไทย หมุดที่ ๒ เป็นรูปเสมาธรรมจักร หมุดที่ ๓ เป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อ หมุดที่ ๔ เป็นรูปรัฐธรรมนูญ หมุดต่อๆ ไปเป็นเครื่องหมายของเหล่าทัพ ส่วนยอดธงนั้นจะบรรจุเส้นพระเจ้าไว้ในพระกรัณฑ์(ผอบ) และไขปิดด้วยยอดซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานพระพุทธรูปที่เรียกกันว่าพระยอดธงไว้
ความหมายสำคัญของธงชัยเฉลิมพล มีอยู่ ๓ ประการคือ พื้นธงหมายถึงชาติ ยอดธงที่บรรจุพระพุทธรูปหมายถึงพระศาสนา และเส้นพระเจ้า(เส้นผม) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงกระทำพิธีพระราชทานธงชัยเฉลิมพลให้แก่ทหารกรมกองต่างๆ ทหารทุกคนจึงระลึกอยู่เสมอว่า ธงชัยนั้นจะต้องปลิวสะบัดอย่างสง่างาม เป็นมิ่งขวัญของชาวไทย ตราบเท่าที่ประเทศไทยดำรงความเป็นเอกราชอยู่ได้ เป็นหน้าที่ของทหารที่จะต้องระวังรักษาธงชัยเฉลิมพลไว้ด้วยความเคารพรักและเทิดทูนอย่างสูงยิ่ง เพราะธงชัยเฉลิมพลย่อมเป็นเกียรติยศของหน่วยทหารนั้นๆ เมื่อเวลาเข้าสู่สงครามทหารทั้งปวงต้องพิทักษ์รักษาธงชัยเฉลิมพลของหน่วยตนไว้ด้วยชีวิต ธงชัยเฉลิมพลจึงเป็นเครื่องนำความองอาจกล้าหาญแห่งหมู่ทหารทั้งปวงให้เข้าต่อสู้ข้าศึกศัตรู ให้ได้ชัยชนะกลับมา
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ มีการตราพระราชบัญญัติธงในมาตรา ๑๔ ให้ หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์มีธงชัยเฉลิมพลของหน่วยทหารมหาดเล็กเพิ่มขึ้นอีก ๑ ธงได้ โดยธงนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับธงชาติ เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๗๐ เซนติเมตร ยาว ๕๐ เซนติเมตร ตรงกลางมีรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีแดงกว้าง ๓๕ เซนติเมตร ยาว ๕๒.๕ เซนติเมตร และมีรูปช้างเผือกทรงเครื่องยืนอยู่ภายในรูปสี่เหลี่ยมนี้หันหน้าเข้าหาคันธง พื้นธงมุมบนด้านที่ติดกับคันธงมีรูปพระมหามงกุฎและเลขหมายประจำรัชกาลของพระมหากษัตริย์ที่พระราชทาน เป็นตัวเลขไทยสีเหลือง ภายใต้พระมหามงกุฎมีพระปรมาภิไธยย่อสีเหลือง และมีชื่อหน่วยทหาร เป็นแถบโค้งอยู่ใต้พระปรมาภิไธยย่อ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เริ่มพระราชทานธงนี้ให้หน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยหน่วยทหารที่ได้รับพระราชทานคือกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ที่ ๑ ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและหน่วยขึ้นตรง
การที่มีพรรคการเมืองบางพรรคหรือนักการเมืองบางคน ออกมาพูดในลักษณะของการหาเสียง ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องมีทหาร โดยหากมีโอกาสเข้ามาบริหารบ้านเมือง จะเริ่มต้นด้วยการปรับโครงสร้างของกองทัพ และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร จึงเป็นการพูดที่เต็มไปด้วยอคติ ขาดสติ ปัญญาและสามัญสำนึกของความรักชาติอย่างสิ้นเชิง
นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีแนวคิดในการที่จะแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ โดยไม่เคยสำนึกเลยว่าชาติไทยของเรานั้นกษัตริย์สร้างขึ้นมา จนเข้มแข็งอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ หาใช่นักการเมืองทั้งสิ้น
จะไม่กล่าวถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีนายกฯหญิงที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ตลอดจนความสามารถในการที่จะบริหารประเทศหลังจากที่เข้ารับตำแหน่งมาแล้วเกือบ ๔ เดือน ก็ไม่มีอะไรเป็นที่ปรากฏชัด และยังมีวุฒิภาวะบางอย่างที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากมาย ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศว่าไม่น่าจะเหมาะสมกับการเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดว่าเหตุใดนักการเมืองที่คิดว่าตัวเองมีประสบการณ์และอาวุโสมากกว่า ที่เคยผ่านเหตุการณ์ในสมัย เดือนตุลาคมในอดีตทั้งหลายนั้น กลับให้การสนับสนุนมากเหลือเกิน จนอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าเหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะถูกครอบงำโดยบุคคลบางคน ที่มีอำนาจเงินมหาศาลที่เคยทุจริตคอร์รัปชั่นต่อบ้านเมืองและยอมรับสารภาพในการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งปรากฏหลักฐานอยู่ในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นที่ทราบโดยทั่วกัน
แต่สิ่งที่ชาวไทยจำนวนมากกังวลและไม่ต้องการให้เกิดขึ้น คือการที่รัฐบาลนี้ มีทีท่าที่จะยอมให้ประเทศกัมพูชา ได้อ้างสิทธิ์ในทรัพยากรที่อยู่บริเวณรอบเกาะกูด ซึ่งเป็นแผ่นดินของราชอาณาจักรไทย โดยอ้างเอา MOU ๔๔ ที่เป็นบันทึกความเข้าใจมาบอกว่าเป็นสิ่งที่เราจะต้องปฏิบัติ และถ้าหากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง ก็เท่ากับชาติไทยได้เสียอธิปไตยบางส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวไทยคงจะไม่ยอม
ถึงเวลานั้นก็เชื่อว่าน่าจะมีทหารผู้รักชาติ และเคยกระทำสัตย์ปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพล ซึ่งหมายความว่าจะต้องเคารพสักการะพระมหากษัตริย์และพิทักษ์รักษาชาติไว้ด้วยชีวิต ออกมากระทำการบางอย่างร่วมกับประชาชนที่ยังมีความรักชาติ เพื่อปกป้องชาติบ้านเมืองและรักษาอธิปไตยของเราไว้อย่างแน่นอน
ปิยะ เนตรวิชัย
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี