คนที่ถูกส่งตัวจากฝั่งเมียนมา กลับมาเมืองไทย ในนามของ “เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์” ลอตแรก 260 คน
และกำลังจะตามมาอีกนับหมื่นคน (ยังไม่นับจากฝั่งกัมพูชาหลังจากนี้)
คนเหล่านี้ ได้ไปทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงต้มตุ๋น “เหยื่อตัวจริง” สูญเสียเงินทองทรัพย์สินมหาศาล บางคนฆ่าตัวตาย
บางคน อาจถูกบังคับจริงๆ ก็น่าเห็นใจ
แต่บางคน ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากการหลอกลวงต้มตุ๋นเหยื่อ เรียกว่า สมัครใจเป็นโจร
คำถามสำคัญ คือ จะรู้ได้อย่างไรว่า จะไม่มี “โจร” สวมรอยอ้างว่าเป็น “เหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์” หวังฟอกตัว ฟอกผิด กลับเมืองไทยมาด้วย ?
1. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า มีการปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์และผู้ที่ถูกหลอก ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในเมียนมาแล้ว 260 คน และยังมีอีกประมาณ 7,000 คนที่กำลังรออยู่
ยืนยันว่า มาตรการของไทย จะประสานประเทศปลายทาง ให้มารับตัวกลับได้โดยตรง ไม่ต้องตกค้างอยู่ที่ จ.ตาก
โดยลอตแรกผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทั้ง 260 คน กลับมา ได้รับการประสานและดูแลทั้งหมดโดยจเรตำรวจ
นอกจากนี้ รายงานข่าวจากหลายสำนักระบุว่า ยังคงมีเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตกค้างอยู่ในประเทศเมียนมาอีกมาก เป็นชาวจีนประมาณ 10,000 คน และชาวต่างชาติอีกประมาณ 7,000 คน
2. พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (จตช./ผอ.ศตคม.ตร./ผอ.ศปอส.ตร.) ระบุว่า จากการรวบรวมข้อมูลที่ผ่านมาของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง พบว่า มีคนหลายชาติใช้เส้นทางอำเภอแม่สอด จังหวัดตากทั้งแบบถูกต้องและเส้นทางธรรมชาติ ในการข้ามพรมแดน
มีกลุ่มคนที่ไม่มีแผนการท่องเที่ยวหรือที่พัก จำนวนมาก
ส่วนนี้ ตำรวจได้ทำการสืบค้นย้อนหลัง เพื่อตามหาว่ามีการข้ามไปและมีการกลับออกมาแล้วหรือไม่
“...ต้องยอมรับว่า ร้อยเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดน สมัครใจเดินทางไปเอง และยืนยันว่าไม่มีการถูกหลอกในประเทศไทย สำหรับผู้ที่ถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อาจเป็นการหลอกให้ไปทำงานโดยแจ้งว่าเป็นงานอีกประเภท
โดยผู้ที่ไปเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา นอกจากไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์แล้ว ยังไปทำงานอื่นๆ อีก ทั้งเอ็นเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ โรงแรม ร้านอาหาร และบ่อนพนันออนไลน์
สำหรับคนที่ถูกหลอกข้ามประเทศไปจริงๆ มีสัดส่วนที่น้อยมากเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เช่น กรณีของดาราจีน นอกนั้นการเดินทางไปด้วยความเต็มใจ
ช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการจับกุมชาวญี่ปุ่น 4 ราย ที่แม้จะมีแผนการเดินทางท่องเที่ยวชัดเจนในประเทศไทย แต่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เช่น ใช้ช่องทางธรรมชาติข้ามไปพรมแดนเพื่อนบ้านด้วยกระเป๋าหนึ่งใบ ไป-กลับหลายครั้ง ต่อมาจากการสืบสวนกลุ่มดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์...”
พล.ต.อ.ธัชชัย ยังเปิดเผยด้วยว่า การหลอกลวงให้ไปทำงานในฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา พบว่า มีกลุ่มผู้เสียหายหลายเชื้อชาติทั่วโลก โดยเริ่มต้นจากคนจีนหลอกคนในชาตินั้นๆ เพื่อไปกระทำการหลอกคนในชาติตัวเอง คนไทยจะเกี่ยวข้องในเรื่องของการไปรับจ้างเปิดบัญชีม้า แต่คนไทยที่จะถูกหลอกไปทำงานจริงๆ ส่วนมากจะถูกหลอกไปฝั่งประเทศกัมพูชา และลาว
“..การคัดกรองเหยื่อกับมิจฉาชีพ ปัจจุบันได้มีการใช้แบบสอบถามและขั้นตอนของกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism) หรือ NRM รวมทั้งใช้มาตรการสืบสวนสอบสวนเข้ามาร่วมด้วย โดยใช้ฐานข้อมูลจากระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลจากแต่ละสถานทูต มาเชื่อมโยงกัน เพื่อคัดแยกกลุ่มบุคคล
โดยล่าสุดในกลุ่ม 260 คน ที่ทางการไทยเพิ่งรับมา ทางประเทศฟิลิปปินส์ได้ให้ข้อมูลมาว่ามีหนึ่งบุคคลเป็นผู้ต้องหาในกระบวนการค้ามนุษย์ แต่มาแอบอ้างว่าเป็นเหยื่อ
ทั้งนี้ เชื่อว่าระบบของประเทศไทยเป็นไปด้วยดี ทำให้สามารถคัดแยกผู้เสียหายตัวจริงกับกลุ่มมิจฉาชีพที่มาแฝงตัวได้
เราไม่อยากเห็นคนที่ไปหลอกคนอื่น แล้วพอตอนกลับ ก็มาแสดงตัวเองเป็นเหยื่อ มันเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม
...ยืนยันว่า ไม่ใช่ทุกรายที่กลับเข้ามาในประเทศไทยจะถูกบรรจุว่าเป็นเหยื่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะคัดกรองโดยละเอียด ไม่ให้มีการปะปนกัน
และในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไม่ใช่เป็นการทำเฉพาะฝั่งเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา แต่จะปราบปรามฝั่งประเทศลาวและกัมพูชาด้วย” - จเรตำรวจแห่งชาติกล่าว
3. ต้องไม่ลืมว่า ประชาชนคนไทยยังได้รับความเสียหายเฉลี่ยต่อวัน 60-70 ล้านบาท จากขบวนการโจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์
ก่อนหน้านั้น เสียหายเฉลี่ยวันละ 80 ล้านบาท
ข้อมูลเฉพาะช่วงเดือนต.ค. 2566-พ.ย. 2567 มีจำนวนคดีออนไลน์รวม 402,542 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 42,662 ล้านบาท
กระทั่งว่า รัฐบาลต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยเพิ่มมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์และมิจฉาชีพ
รูปแบบการหลอกลวงสารพัด ส่วนใหญ่ มักจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือเอกชน เช่น เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือพนักงานขนส่ง แล้วหลอกว่าเหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความผิดต่างๆ เช่น ฟอกเงิน ค้ายาเสพติด หรือติดหนี้บัตรเครดิต จากนั้นจะสร้างสถานการณ์ให้เหยื่อตื่นตระหนก ต้องโอนเงินมาพิสูจน์ตัวเอง หรือโอนเงินเพื่อแก้ไขปัญหา
วิธีการอื่นๆ ได้แก่ การหลอกว่าได้รับเงินคืนภาษี รางวัล หรือโชคลาภ
แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อขอข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นปลอมเพื่อขโมยเงินในบัญชี
เหยื่อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยทำงานจนถึงผู้สูงอายุ อายุ 30-60 ปีขึ้นไปสูงถึง 248,800 คดี
รวมความเสียหายสะสมตลอดมาหลายแสนล้านบาท
ผลประโยชน์ที่ขบวนการโจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ไปถูกนำไปจัดสรรกันอย่างไร?
แบ่งเงินให้หัวหน้าโจร ?
แบ่งคนทำงาน(ที่อ้างว่าถูกบังคับไป) ?
แบ่งเจ้าหน้าที่สีเทา ?
เพราะฉะนั้น เหยื่อตัวจริง คือ ประชาชนคนไทยในประเทศที่ถูกต้มตุ๋นหลอกลวง บางคนหมดตัว บางคนล้มป่วย บางคนฆ่าตัวตาย ฯลฯ
อย่าปล่อยให้โจรแฝงตัวเป็นเหยื่อ ลอยนวลเข้าประเทศอย่างสบาย ฟอกตัว และเปลี่ยนสถานที่ก่ออาชญากรรมครั้งใหม่ต่อไปอีก หาเหยื่อ
รายใหม่อีก
เพราะโจรพวกนี้ ไม่มีทางเลิกเป็นโจร
4. แยกเหยื่อออกจากโจร
สิ่งที่ภาครัฐควรต้องตรวจสอบทุกคนที่ได้กลับมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
4.1 สอบปากคำ เดินทางไปเป็นเหยื่อได้อย่างไร ถูกบังคับอย่างไร ใครเป็นพยาน มีหลักฐานอย่างไรบ้าง น่าเชื่อถือหรือไม่ มีพิรุธหรือไม่?
4.2 ตรวจสอบบัญชีทางการเงินของเจ้าตัว ตรวจสอบทรัพย์สินของเจ้าตัวและครอบครัว ว่าระหว่างที่อ้างตกเป็นเหยื่อมีสถานะอย่างไร มีเงินไหลเข้า-ออกผิดปกติหรือไม่ หรือทรัพย์สิน เงินทอง บ้าน รถ ของมีค่า ฯลฯ เพื่อขึ้นผิดปกติหรือไม่? มีการใช้หนี้สินอะไรไปบ้างหรือไม่? ที่บ้านเอาเงินมากไหน?
4.3 ติดตามพฤติกรรมต่อเนื่อง ว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย มีข้อพิรุธ หรือไม่อย่างไร? ฯลฯ
หากใครตกเป็นเหยื่อ ถูกบังคับให้ทำงาน และไม่ได้รับผลประโยชน์ส่วนแบ่งตอบแทนจริงๆ ก็น่าเห็นใจ และควรช่วยเหลือดูแล
แต่ถ้าใครพบข้อพิรุธ ตั้งใจเดินทางไปทำงานกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เหมือนไปขุดทอง ทำงานกับมิจฉาชีพ เป็นมือเป็นไม้ในขบวนการโจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อได้รับส่วนแบ่งผลตอบแทนจากการต้มตุ๋นหลอกลวงเหยื่อตัวจริง
ถ้าแบบนี้ ไม่ควรละเว้น ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด อย่าปล่อยลอยนวล มิให้เป็นเยี่ยงอย่าง
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี