เสียงของประชาชนส่วนหนึ่งจากจำนวน 16.82 ล้านเสียง ที่ไปลงประชามติเห็นชอบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนกำลังจะฉีกทิ้ง ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของ 2 พรรคการเมืองนี้ โดยเห็นว่าถ้าจะแก้ควรแก้“สันดาน”ของนักการเมืองก่อนจะดีกว่า
การประชุมร่วมรัฐสภาของ สส. และ สส. เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์เมื่อวานนี้เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน อันจะนำไปสู่การฉีกทิ้งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 แล้วเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ๒๐๐ คนขึ้นมายกร่างฉบับใหม่ ปรากฏว่า“ล่มปากอ่าว”เนื่องจากสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมหลังจากประชุมถกกันนานกว่า 3 ชั่วโมง
สรุปภาพให้เห็นง่ายๆ ชัดๆ ก็คือ เสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาของที่ประชุมร่วมระหว่าง สส.และสว.รวมทั้งพรรคเพื่อไทย ต่างก็เห็นว่า ควรจะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในมาตรา201วรรคหนึ่ง (2) ของรัฐธรรมนูญ ว่าสมาชิกรัฐสภามีอำนาจสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลยหรือไม่หรือว่าจะต้องทำประชามติก่อน โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ได้หยิบยกญัตติด่วนที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระในฐานะ สว.เป็นผู้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งโดยพรรคประชาชนและ สว.พันธุ์ใหม่เห็นว่าควรเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย สส.พรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคประชาชนไปก่อนเลย ไม่ต้องพิจารณาญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งรวมทั้งพรรคเพื่อไทย และสว.สายสีน้ำเงิน ล้วนเห็นด้วยกับญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ จึงเกิดการอภิปรายถกเถียงพร้อมทั้งมีการประท้วงกันอยู่ตลอดเวลา โดยที่ก่อนหน้านั้นสส.พรรคภูมิใจไทยซึ่งแต่งกายด้วยเสื้อสี้นำเงินเหมือนกันทุกคนได้ออกจากห้องประชุมตามมติของพรรคที่ได้ประกาศไว้ ว่าจะไม่ขอมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพราะขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบที่จะเลื่อนญัตติด่วนของนพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ขึ้นมาพิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 275 : 247 ส่งผลให้สว.สายสีน้ำเงินที่นัดกันสวมใส่เสื้อสีเหลืองอย่างพร้อมเพรียงเช่นกัน นำโดย พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์สว.และรองประธาน สว. พากันวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมและเมื่อที่ประชุมกลับเข้ามาเริ่มการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเดินหน้าต่อก็ยังเกิดการถกเถียงและประท้วงกันให้วุ่นวายไม่หยุด
สุดท้าย นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ได้เสนอให้นับองค์ประชุม ปรากฎว่ามีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน จากสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 692 คน (สส. 493 คน และ สว. 199 คน) ไม่ครบองค์ประชุมจึงทำให้ประธานรัฐสภาต้องสั่งนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น.ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.04 น.
อันที่จริงศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 201 วรรคหนึ่ง(2) มาแล้ว ว่าสมาชิกรัฐสภามีอำนาจในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256(1) หรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่ามีแต่ต้อง“ให้ประชาชนผู้มีอํานาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”
นั่นก็คือ ต้องให้ประชาชนออกเสียงประชามติก่อน ไม่ใช่คิดจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจของตนเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่พยายามจะฉีกทิ้งซึ่งเป็น“รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงนักการเมืองชั่ว”ฉบับนี้มาจากความเห็นชอบของประชาชนในฐานะผู้สถาปนา
หากย้อนกลับไปดูก็จะพบว่า ในการออกเสียงลงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพื่อรับรองรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือจะฉีกทิ้งกันอยู่นี้นั้นผ่านความเห็นชอบของประชาชนถึง 16,820,402 เสียง หรือ 16.82 ล้านเสียง คิดเป็นร้อยละ 61.35ของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด 29,740,677 คน หรือ 29.74 ล้านคน โดยมีผู้ไม่เห็นชอบ 10,598,037 เสียงคิดเป็นร้อยละ 38.65 ของผู้ออกมาใช้สิทธิ
ถามว่า สส.พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะ สส.พรรคประชาชนเอาอำนาจอะไรมาลบล้างอำนาจของประชาชน16.82 ล้านเสียงที่สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้
ดังนั้น พรรคภูมิใจไทยจึงแสดงจุดยืนชัดเจนว่าไม่“ร่วมสังฆกรรม”ด้วยทั้งจากมติของที่ประชุมพรรคภูมิใจเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยืนยันโดยนายไชยชนก ชิดชอบส.ส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรค ได้ลุกขึ้นแจ้งต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนเดินออกจากห้องประชุมในนามสส.พรรคภูมิใจไทยทั้งหมดว่า “เรามีความคิดเห็นว่า วาระที่จะถูกพิจารณาหลังจากนี้นั้น เข้าขั้นที่จะผิดและขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขออนุญาตไม่เข้าร่วมพิจารณา”
นอกจากนั้น หลังออกจากห้องประชุม นางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานีในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย ยังได้แถลงพร้อมกับ สส.ของพรรคภูมิใจไทยว่า“พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง-ชอบธรรม”
ฟันธงตรงนี้เลยว่า เด็กอ่อนหัดอย่างพรรคประชาชนนั้น“ว่าว”ประเภทฝันกลางวันแสกๆไม่มีทางไปถึงฝั่งฝัน ส่วนพรรคเพื่อไทยนั้นพวก“นกรู้” จึงไม่กล้าเสี่ยงกับการถูกยุบพรรคเลยตีชิ่งหันมายืนกับพรรคภูมิใจไทย คือต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี