เมื่อพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย ก็จะหมายถึงการแข่งขันทางการเมืองเพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองต่างๆ ด้วยวิธีการหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งโดยประชาชนพลเมือง ซึ่งเป็นการแสดงออกซึ่งความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน และการมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมในความเป็นไปของประเทศการมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อวางกรอบโครงสร้างและสาระเนื้อหาของประเทศภายใต้หลักการอยู่ร่วมกันโดยการเคารพและบังคับใช้กฎหมายอย่างทัดเทียมกัน การมีเสรีภาพในการดำรงชีวิตทำมาหากิน การมีระบบสื่อที่เป็นอิสระและการมีกระบวนการยุติธรรมที่มีความเป็นเอกเทศไม่เอนเอียง และไม่ตกอยู่ในอาณัติของผู้ใด เป็นต้น
ตลอดช่วง 300-400 ปีที่ผ่านมา ความเป็นประชาธิปไตยของโลกได้มีวิวัฒนาการมาเรื่อยๆ โดยเริ่มที่ทวีปยุโรป และแพร่ขยายไปทั่วโลก ผ่านลัทธิการล่าอาณานิคมที่ฝ่ายยุโรปออกไปครอบครองและเสริมสร้างอิทธิพลทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านความคิดอ่าน
จนเมื่อโลกยุคสงครามเย็นสิ้นสุดลงไปด้วยการล่มสลายของผู้นำโลกคอมมิวนิสต์เผด็จการพรรคเดียวนำพาสหภาพโซเวียต ในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ก็นับเป็นชัยชนะของโลกเสรีประชาธิปไตย ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวเรือใหญ่ และโลกทั้งโลกต่างก็หวังว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความเจริญก้าวหน้าภายใต้บรรยากาศของความเป็นเสรีประชาธิปไตย และการทำมาค้าขายด้วยระบบตลาดเสรีหรือทุนนิยม จึงมีผลให้ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ของโลกต่างมุ่งไปในทิศทางของการเป็นสังคมประชาธิปไตย ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมกับพวกยุโรปตะวันตกถึงกับมีความมั่นอกมั่นใจว่า จะเข้าไปช่วยเร่งความเป็นประชาธิปไตยด้วยวิธีการเข้าไปแทรกแซง เปลี่ยนแปลงประเทศหนึ่งใดให้เป็นประชาธิปไตยให้ได้ (Regime change)
แต่แล้วความคาดหวังคึกคักเกี่ยวกับการนำมาซึ่งประชาธิปไตยทั่วโลกนั้นก็ดำเนินไปได้ไม่นาน กลับต้องอ่อนตัวลงเพราะเกิดมีแรงต่อต้าน เช่น
ความรู้สึกนึกคิดว่า ประชาธิปไตยที่ควบคู่กับทุนนิยมนั้นมิได้นำมาซึ่งการได้รับชีวิตที่ดีกว่า หากแต่สังคมได้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ความไม่ทัดเทียม และคนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือถูกลืมเลือนสังคมในหลายๆ ประเทศเห็นว่าเรื่องประชาธิปไตยและทุนนิยมนั้นเป็น “ของนอก” ที่ฝ่ายอเมริกาและยุโรปยัดเยียดมาให้ ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายอารยธรรมระบบความเชื่อถือ และประเพณีวัฒนธรรมของตน อีกหลายสังคมก็ยังเห็นว่าไม่ควรจะมีการแยกออกจากกันระหว่างเรื่องศาสนากับเรื่องการปกครอง แต่ให้เป็นเรื่องเดียวกัน เช่นระบบกาหลิบ (Caliph) ที่ผู้นำทางศาสนาเป็นประมุขสูงสุดทั้งทางด้านศาสนาและการปกครองบ้านเมือง ซึ่งเท่ากับว่าไม่เอาด้วยกับความคิดแบบประชาธิปไตยตะวันตกที่แยกเรื่องศาสนาและเรื่องการเมืองออกจากกัน เป็นต้นฝ่ายจีนที่ตัดสินใจเปิดประเทศเข้าสู่ระบบการค้าเสรีหรือทุนนิยมเมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ได้คงระบอบการบ้านการเมืองแบบพรรคเดียวไว้ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างใหญ่หลวง และตั้งมั่นที่จะส่งออกซึ่งหลักและระบบการพัฒนาประเทศแบบผสมผสานระหว่างพรรคเดียวนำพา กับเศรษฐกิจการตลาดเสรีให้ชาวโลกได้นำไปพิจารณาเป็นแบบอย่างเป็นการแข่งขันโดยตรงกับหลักคิดและหลักปฏิบัติว่าด้วยประชาธิปไตยของฝ่ายตะวันตก
ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่อยู่กับระบอบประชาธิปไตยนั้น ต่างได้เห็นการผูกขาดอำนาจทั้งทางด้านการเมือง และเศรษฐกิจโดยกลุ่มคนน้อยนิดที่เป็นเจ้าของกิจการธุรกิจยักษ์ใหญ่ หรือเป็นผู้บริหารจัดการบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ ได้เข้าไปครอบงำระบอบการเมืองและความเป็นไปของสังคมประเทศ เสริมสร้างความเหลื่อมล้ำ และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนส่วนใหญ่ อีกทั้งในสังคมประชาธิปไตยต่างๆ เหล่านี้ นอกจากกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ดังกล่าวแล้ว ก็จะมีกลุ่มความคิดแบบขวาจัดในเรื่องการนับถือศาสนาและในเรื่องชาติพันธุ์ ที่ต้องการเป็นใหญ่ในแผ่นดินแต่ผู้เดียว และไม่ชอบ ไม่ให้เกียรติและไม่ให้ที่ยืนในสังคมต่อบรรดาผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในสังคมนั้นๆ
การณ์นี้ทั้งหมดดังกล่าวจึงส่งผลให้ความเป็นประชาธิปไตยถดถอยอย่างกว้างขวาง เนื่องจากประชาธิปไตยได้กลับกลายมาเป็นเครื่องมือกลไกให้กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชนต่างๆ ดังกล่าว เข้าสู่อำนาจรัฐ กดขี่ และเอารัดเอาเปรียบผู้คนส่วนใหญ่ ในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศกลุ่มผู้มีอำนาจอิทธิพลที่เข้ามาเป็นรัฐบาลในสังคมประเทศของตน ก็มักจะดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เอาประเทศของตนเป็นที่ตั้งเท่านั้น ไม่คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตยของสังคมโลก ของการร่วมมือในการจรรโลงโลกให้ก้าวร่วมกันไปข้างหน้า หรือการร่วมมือในการไปหาจุดร่วมเมื่อมีความต่างในเรื่องความคิดเห็น แต่มัวมุ่งจะเอาแพ้เอาชนะ เอารัดเอาเปรียบต่อกันและกัน
ในสังคมไทยเป็นเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นการกระจุกตัวของอำนาจอยู่ที่กลุ่มผู้คนที่มีความมั่งมี มั่งคั่งที่ได้เข้ามาสู่เวทีการเมืองหรือไม่ก็อยู่เบื้องหลัง สนับสนุนฝ่ายการเมืองต่างๆก็เป็นการเข้าสู่อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มตนและเครือข่ายเท่านั้น ไม่ได้มีการตอบสนองความต้องการของประชาชนพลเมืองอย่างจริงใจ เพียงแต่เห็นว่าประชาชนพลเมืองเป็นแค่ตัวเลข เป็นข้ออ้างต่างๆ นานาเพื่อจะได้ยืดเวลาการครอบครองอำนาจและกอบโกยเอาผลประโยชน์เข้าตน
ที่สหรัฐอเมริกาในวันนี้ ประชาชนพลเมืองกลุ่มหนึ่งก็มิได้นั่งเฉยหรือเพิกเฉย ผู้ที่เป็นพนักงานต่างๆ ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน ก็เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นสหภาพกันมากยิ่งขึ้น เพื่อต่อสู้เพื่อความยุติธรรมหลายๆ กลุ่มก็ร่วมมือกันเพื่อฟ้องร้องพฤติกรรมอันเป็นที่แคลงใจของฝ่ายรัฐและกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ในการฟ้องร้องศาลยุติธรรม นักการเมืองจากฝ่ายเสียงข้างน้อยที่ต้องการสู้เพื่อความยุติธรรมก็เริ่มออกมาแสดงตัววิเคราะห์สถานการณ์และเสนอข้อคิดเห็นว่าด้วยทางออก หรือการปรับปรุงแก้ไขความไม่ยุติธรรมในสังคมเป็นต้น
สถานการณ์ประชาธิปไตยถดถอยทั่วโลก ณ วันนี้ นั้นเป็นเรื่องจริงที่สัมผัสได้ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของประชาชนพลเมืองที่จะต้องคิดอ่านและร่วมกันต่อสู้ขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมประชาธิปไตยมีความก้าวหน้าและยืนยง โดยต้องเริ่มที่การควบคุมมิให้ผู้มีอำนาจบริหารประเทศสามารถใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก และกลุ่มทุน และต้องหันมาพิจารณาความเป็นรัฐสวัสดิการรวมทั้งการกระจายความเจริญที่จะช่วยให้ประชาชนชายขอบที่ก้าวไม่ทันเศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยีได้มีโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตดีพอที่จะขยับมาเป็นประชากรที่มีความสามารถในการทำหน้าที่พลเมืองอย่างมีประสิทธิภาพได้
มิเช่นนั้นแล้ว ประชาธิปไตยก็จะยังคงถูกมองว่าเป็นหน้ากากของทุนนิยมสามานย์ที่ใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน และในที่สุด ประชาธิปไตยจะถูกเมินจากสังคมโลก โดยแต่ละชาติจะหันเหเข้าสู่ลัทธิชาตินิยมเต็มที่ ต่างคนต่างอยู่ มุ่งสู้รบกัน จนสร้างความพินาศให้กับโลกเพราะชาวโลกนั้นไม่เห็นหนทางที่จะสามารถดำรงชีพได้อย่างสันติสุขอีกต่อไป
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี