กุ้งไทย เคยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ
แต่ไปๆ มาๆ กลายเป็นสูญเสียตลาด แถมยังมีกุ้งต่างชาติเข้ามาตีตลาดภายในประเทศไทย
การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 มีนาคม รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์กุ้งของประเทศไทย ประเด็นการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ รวมถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลของประเทศไทย และเห็นชอบในหลักการการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหากุ้งทะเลของประเทศไทย
มอบหมายให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการเสนอขอใช้งบประมาณในลำดับต่อไป
วงเงินรวมประมาณ 1.8 พันล้านบาท!
น่าติดตามว่า จะสามารถกู้วิกฤตกุ้งไทย ได้จริงหรือไม่? อย่างไร?
1. สถานการณ์กุ้งของประเทศไทย
กุ้งทะเลเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เคยสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทยปีละมากกว่าแสนล้านบาท
ในอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกกุ้งทะเล โดยมีผลผลิตสูงสุดเกือบ 600,000 ตัน ในปี 2552
แต่จากวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่จากโรคตายด่วนในกุ้ง ที่ทำให้กุ้งตายอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2555-2557 ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จนเหลือประมาณ 300,000 ตันต่อปี ส่งผลให้กุ้งทะเลของไทยออกสู่ตลาดน้อยลง
ประเทศคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย ได้แก่ สาธารณรัฐเอกวาดอร์ (เอกวาดอร์) สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) ที่ไม่มีรายงานการเกิดโรคระบาดสามารถผลิตกุ้งทะเลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดส่งออกแทนประเทศไทย
ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
จากการรายงานของบริษัท Rabobank พบว่า ผลผลิตกุ้งโลกในปี 2566 มีประมาณ 5.60 ล้านตัน
และในปี 2567 คาดว่าผลผลิตกุ้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.80 อยู่ที่ประมาณ 5.88 ล้านตัน
2. ตลาดสำคัญ
ตลาดสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย
สหรัฐนำเข้ากุ้งทะเลจากเอกวาดอร์ อินเดีย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ที่มีราคาต่ำกว่าประเทศไทย
ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดของกุ้งทะเลจากประเทศไทยลดลงต่อเนื่อง
เกษตรกรไทยที่มีต้นทุนการผลิตสูงมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน
3. มาตรการป้องกันลักลอบการนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศ
ประเทศไทยและประเทศผู้ผลิตกุ้งทะเลเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) จะต้องปฏิบัติตามความตกลงภายใต้ WTO
การกำหนดมาตรการต้องไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้า หรือข้อกีดกันทางการค้าของประเทศสมาชิก
ดังนั้น กรมประมงจะประกาศงดการออกหนังสืออนุญาตนำเข้ากุ้งทะเลจากต่างประเทศในกรณีฉุกเฉินและมีเหตุอันควรโดยจะใช้ชั่วคราวเท่านั้น เช่น การตรวจพบโรคระบาด หรือการตรวจพบสารตกค้าง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้ยกระดับมาตรฐานการควบคุมการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ ดังนี้
1) เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบสินค้าประมง ดังนี้
(1) การตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ร้อยละ 100 โดยตรวจสอบ เอกสาร หมายเลขซีล สินค้าประมงนำเข้า และติดซีลที่คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันการสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างการขนส่ง
(2) ตรวจสอบชนิดและปริมาณสัตว์น้ำนำเข้า การขนถ่ายสัตว์น้ำขึ้นท่าของเรือประมงต่างประเทศให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต และตามมาตรการรัฐเจ้าของท่า (PSM)
2) ออกประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการขออนุญาตและการอนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2567 ลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 กำหนดเอกสารประกอบการนำเข้าที่ชัดเจนมากขึ้นต้องมีบัญชีรายละเอียดภาชนะบรรจุ (Packing list) และกำหนดให้ระบุสถานที่จัดเก็บสินค้า
3) ขอความอนุเคราะห์ให้จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดกาญจนบุรี พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการนำเข้า เพื่อควบคุมสินค้าสัตว์น้ำนำเข้าที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ และการค้าของประชาชนภายในประเทศ
4) จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการนำเข้าส่งออกสินค้าประมงผิดกฎหมาย เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยมีการดำเนินคดีไปแล้ว จำนวน 330 คดี และแต่งตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ ตรวจสอบ ควบคุม ป้องกัน การลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายเข้าประเทศตามแนวชายแดน เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5) จัดเก็บข้อมูลสถิติการนำเข้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ผ่านระบบการขออนุญาตในระบบเชื่อมโยงคำขอกลาง และระบบสนับสนุนใบอนุญาตและใบรับรองผ่านอินเตอร์เนต กรมประมง (FSW) ซึ่งสามารถเรียกข้อมูลการนำเข้าในแต่ละชนิดสัตว์น้ำ
6) ควบคุมการส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยให้ผู้ประกอบการส่งออกแสดงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ ซึ่งต้องมาจากการทำประมงโดยชอบด้วยกฎหมาย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
4. การยกระดับมาตรการในการแก้ไขปัญหากุ้งทะเล
กรมประมงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาด้านกุ้งทะเลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบ
โดยการลดต้นทุน การผลิตด้านอาหาร ด้านพลังงาน และด้านโรคซึ่งเป็นต้นทุนแฝงของเกษตรกร รวมถึงการเชื่อมโยงการตลาดเพื่อจำหน่ายผลผลิตให้กับเกษตรกร
โครงการระยะสั้น จะใช้งบประมาณทั้งหมด 1,854 ล้านบาท
1) โครงการสนับสนุนอาหารกุ้งทะเลที่มีระดับโปรตีนที่เหมาะสม
เพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไม ปี 2567/68
(เริ่มดำเนินโครงการนับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ เป็นระยะเวลา 1 ปี)
เพื่อสนับสนุนอาหารเม็ดสำเร็จรูปที่ระดับโปรตีนร้อยละ 32 และร้อยละ 35 ให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงไม่เกิน 40 ไร่ จำนวน 8,961 ราย
จะใช้งบประมาณ 352 ล้านบาท (เสนอของบกลางฯ)
2) โครงการพลังงานทางเลือก ลดต้นทุน และสนับสนุนการผลิตกุ้งทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ลดต้นทุนค่าพลังงานเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งโดยโซลาร์เซลล์ขนาดเล็ก)
(เริ่มดำเนินโครงการในปี 2567-2568)
เพื่อสนับสนุนโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กและมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง จำนวน 1 ชุด ให้กับเกษตรกรที่มีพื้นที่เลี้ยงไม่เกิน 40 ไร่ จำนวน 8,961 ราย รายละ 1 ชุด
จะใช้งบประมาณ 366 ล้านบาท (เสนอของบกลางฯ)
(3) โครงการขยายฐานการผลิตจุลินทรีย์เพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความเห็นชอบแล้ว)
(เริ่มดำเนินโครงการในเดือนเมษายน-กันยายน 2567)
เพื่อจัดตั้งศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ของกลุ่มเกษตรกรเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เดิมของทั้งหน่วยงานภาครัฐและกลุ่มเกษตรกร
จะใช้งบประมาณ 24 ล้านบาท [ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อของบกลางฯ]
(4) โครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปี 2567 (กรมการค้าภายใน)
(คณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เห็นชอบให้เสนอกรมการค้าภายในพิจารณาจัดทำโครงการ)
เพื่อเชื่อมโยงการจำหน่ายผลผลิตกุ้งทะเลในประเทศ เป้าหมายรวม 7,000 ตัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ชดเชยส่วนต่างราคากิโลกรัมละ ไม่เกิน 20 บาท และค่าดำเนินการด้านการตลาดกิโลกรัมละไม่เกิน 10 บาท
จะใช้งบประมาณ 210 ล้านบาท [เสนอของบกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร]
(5) โครงการกระจายผลผลิตกุ้งทะเลคุณภาพสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ
(เริ่มดำเนินโครงการนับจากวันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณเป็นระยะเวลา 1 ปี)
เพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศ จากเกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรง 2,000 ตัน โดยสนับสนุนค่าขนส่งภายในประเทศผ่านระบบที่เหมาะสมในการรักษาคุณภาพสินค้าให้กับเกษตรกร 50 บาท/กิโลกรัม รายละไม่เกิน 10,000 บาท
จะใช้งบประมาณ 102 ล้านบาท (รวมค่าบริหารโครงการร้อยละ 2) (เสนอของบกลางฯ)
(6) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กุ้งทะเลด้วยระบบป้องกันโรคตลอดห่วงโซ่การผลิต (Shrimp Sandbox)
(เริ่มดำเนินโครงการในปี 2568 – 2570)
เพื่อลดต้นทุนแฝงจากการเกิดโรคกุ้งทะเลระหว่างการเลี้ยง เช่น การซื้อปัจจัยการผลิต ยาและสารเคมีของเกษตรกร เป็นต้น
จะใช้งบประมาณ 800 ล้านบาท
(ด้านป้องกันโรค 500 ล้านบาท ด้านสายพันธุ์ 300 ล้านบาท) (เสนอของบกลางฯ)
กรมประมง ระบุว่า หากดำเนินการตามมาตรการการยกระดับการแก้ไขปัญหากุ้งทะเลตามที่กรมประมงเสนอ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลจะมีต้นทุนการผลิตลดลง
สามารถจำหน่ายผลผลิตมีรายได้เพิ่มขึ้น
รวมทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องยังคงดำเนินกิจการได้ต่อไป
5. ประการสำคัญ โครงการที่จะต้องใช้งบประมาณแผ่นดินรวม 1,854 ล้านบาทนั้น ได้มีการศึกษากลั่นกรองรอบคอบ มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพที่จะแก้ปัญหา กู้วิกฤตกุ้งไทยได้จริงหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?
ในสถานการณ์ที่สหรัฐกำลังทำสงครามการค้าโลก
โครงการเหล่านี้ ต่างอย่างไรกับโครงการที่เคยทำมาก่อนหน้านี้?
ในนามของโครงการตามข้อสั่งการของนายกฯอุ๊งอิ๊งค์ ปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการการจัดทำโครงการเพื่อแก้ไขปัญหากุ้งทะเลของประเทศไทยดังกล่าว และมอบหมายให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการเสนอขอใช้งบประมาณในลำดับต่อไปแล้ว
โดยจะขอใช้งบประมาณจาก 2 แหล่ง ได้แก่
งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (งบกลางฯ) วงเงินรวม 1,644 ล้านบาท
และกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) วงเงินรวม 210 ล้านบาท]
ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
น่าสนใจติดตามว่า โครงการเหล่านี้ จะบรรลุผลแค่ไหน เพียงใด หรือจะเป็นการตำน้ำพริกละลายบ่อกุ้ง?
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี