เรื่องการยุบ 6 พรรคการเมือง ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กกต. หลังจากมีผู้ยื่นคำร้องต่อ กกต.ตั้งแต่ปีที่แล้ว ให้พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย, พรรคภูมิใจไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ ที่ยินยอมให้“ทักษิณ ชินวัตร”ในฐานะบุคคลนอก“ครอบงำ-ชี้นำ” ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ทางการเมือง ซึ่งอาจจะทำให้เกิด“สุญญากาศทางการเมือง”ได้
ปมปัญหาของเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีตั้ง“ทนายถุงขนม-พิชิต ชื่นบาน”เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่าในวันเดียวกันนั้น “ทักษิณ ชินวัตร”ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ก็ได้เรียกแกนนำของ 6 พรรคการเมืองที่ถูกร้อง เข้าประชุมหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพิจารณาเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี แทนนายเศรษฐา
จากการกระทำดังกล่าว จึงทำให้มีการยื่นร้องต่อ กกต. โดยมีผู้ร้อง 4 ราย ประกอบด้วย ผู้ร้องที่ถูกระบุว่า เป็นบุคคลนิรนาม, น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี , นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 ด้วยเห็นว่า“ทักษิณ ชินวัตร” และพรรคการเมืองทั้ง 6 พรรคกระทำผิด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 และมาตรา 29 จึงขอให้ กกต.พิจารณาและเสนอศาลรัฐธรรมนูญ สั่งยุบพรรคตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (3) ต่อไป
หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่เพิ่งจะผ่านมาไม่ถึงหนึ่งปี ซึ่ง“หนังสือพิมพ์แนวหน้า”ได้พาดหัวข่าวในวันรุ่งขึ้นว่า “ ‘ทักษิณ’ เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลถกด่วน‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ หลัง ‘เศรษฐา’ หลุดเก้าอี้นายกฯ”
เนื้อข่าวรายงานว่าอย่างนี้ “14 สิงหาคม : ตั้งแต่เวลา 17.00 น. บรรยากาศที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 บรรดาสื่อมวลชนเกาะติดความเคลื่อนไหวบริเวณหน้าบ้านอย่างคึกคัก ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากการเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย”
“โดยมีกระแสข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เชิญแกนนำของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลหารือ ในประเด็นบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันว่าเป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย ในฐานะที่มีคะแนนเสียง สส. มากที่สุด”
“ทั้งนี้ กองทัพผู้สื่อข่าวได้มีการดักรอสังเกตการณ์ที่บริเวณหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ตั้งแต่เวลา 17.00 น. พบว่ามีรถเข้าออกหลายคัน ผ่านไปกว่า 2 ชั่วโมง ในเวลา 19.16 น. พบว่าการพูดคุยเสร็จสิ้น บรรดาแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดินทางออกจากบ้านจันทร์ส่องหล้า ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ, นายวราวุธ ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ”
“นอกจากนี้ ยังมีแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย เช่น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน, นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอชื่อ เดินทางเข้าร่วมหารือที่บ้านจันทร์ส่องหล้าด้วย”
อย่างไรก็ตาม การประชุมสุมหัวที่“บ้านจันทร์ส่องหล้า” ตามที่ยกมาให้ดูจากข่าวเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งในเวลาต่อมา“ทักษิณ ชินวัตร”ตอบเฉไฉกับผู้สื่อข่าว จากการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 หลังจากมีการร้อง กกต.ให้ยุบ 6 พรรคการเมือง ว่า “ไม่มีอะไรเลย ไปกินมาม่า มาม่าอร่อย”นั้น
ปรากฏว่า ในวันรุ่งขึ้น คือเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมงจากข้อสรุปในตอนแรกที่ว่า “ทักษิณ ชินวัตร” เคาะนายชัยเกษม นิติสิริ วัย 75 ปี ซึ่งเคยวูบระหว่างหาเสียงเลือกตั้งในปี 2566 ที่จังหวัดน่าน จากอาการป่วยก้อนเลือดแห้งอยู่ในสมอง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายเศรษฐา ทวีสิน ก็เปลี่ยนตัวมาเป็น“แพทองธาร ชินวัตร” ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่ง
เหตุผลที่มีการเปลี่ยนตัว จากนายชัยเกษม นิติสิริ มาเป็น“แพทองธาร ชินวัตร” ก็เพราะทางพรรคเพื่อไทยเกรงว่านายชัยเกษมจะเป็นเป้านิ่งให้ถูกโจมตี เนื่องจากในสมัยที่นายชัยเกษม ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี“หวยบนดิน” ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งสำนวนให้ฟ้อง“ทักษิณ ชินวัตร” รวมทั้งยังสั่งไม่ฟ้องการทุจริตในโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนอกจากนั้น นายชัยเกษมก็ยังเคยลงชื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 อีกด้วย
และ“แพทองธาร ชินวัตร” ในวัย 37 ปี ก็ได้รับการโหวตเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย เพราะ“พ่อจัดให้” ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นแบบนอนมา 319 ต่อ 145 เสียง จากการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567
สรุปแล้ว เรื่องนี้ต้องถือว่าเป็น“กรรมติดจรวด” ซึ่งหลายท่านบอกว่าเป็น“นาฬิกากรรม” กำลังทำหน้าที่ล้างความสกปรกโสมมของนักการเมืองและพรรคการเมือง..อันเป็นกรรมที่เกิดจากการกระทำ เพราะการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองโดยแท้
สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องหมายเหตุไว้ก็คือ อดีตนักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ ชินวัตร ทำตัวอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือกฎหมายทุกฉบับในประเทศนี้ จึงทำให้ระบบนิติรัฐและหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ถูก“ทักษิณ”เซาะกร่อนบ่อนทำลายอยู่ทุกเวลานาที และ“ทักษิณ”เองก็มีคดีความเป็นบ่วงมัดคอเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน
มิหนำซ้ำ การประชุมหารือแบบสุมหัวที่“บ้านจันทร์ส่องหล้า”ในวันที่ 14 สิงหาคมปีที่แล้ว โดยมีแกนนำ 6 พรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ระดับหัวหน้าพรรค, รองหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรค เข้าไปร่วมวง“กินมาม่า”ด้วยนั้น “ทักษิณ ชินวัตร”ก็ยังมีสถานภาพเป็นนักโทษซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษ นั่นก็เท่ากับกลายเป็นว่าบ้านนี้เมืองนี้ มีแต่คนเถื่อนๆ ที่ไม่เคารพกฎหมายอยู่เต็มไปหมด และเป็นคนเถื่อนที่เป็นผู้บริหารประเทศเสียด้วย
ถ้าหากว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบ 6 พรรคการเมืองที่ถูกร้อง และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง และถูกเพิกถอนสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง นอกจากอาจจะทำให้เกิด“สุญญากาศทางการเมือง”แล้ว
แผ่นดินนี้ก็น่าจะสูงขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง !
รุ่งเรือง ปรีชากุล
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี