nn อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ นอกจากผู้ผลิตรถยนต์แล้วก็ยังมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องหลายหมื่นราย ซึ่งทั้งระบบมีการจ้างงานหลายแสนตำแหน่ง...จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีส่วนสำคัญไม่น้อยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ เรื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2566โดยมีประเด็นสำคัญคืออุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2566 นั้น มีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย แต่ต้องจับตาความเสี่ยงจากกำลังซื้อและตลาดส่งออกที่อาจชะลอตัว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ...ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของอุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยได้แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน ดังนี้ 1. ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตได้ทั้งในด้านการผลิตและยอดขาย โดยคาดการณ์ยอดการผลิตอยู่ที่ราว 1.96 ล้านคัน หรือขยายตัว 4.2% จากปีก่อนอย่างไรก็ตาม ต้องติดตามความเสี่ยงจากภาคส่งออกที่คาดว่าจะหดตัวเพราะอุปสงค์ของคู่ค้าหลักที่ปรับลดลง สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตได้ที่ 3.4% โดยตลาดรถยนต์นั่งจะเป็นแรงส่งสำคัญเพราะได้รับอานิสงส์ของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ทั้งในแง่การจ้างงานและรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากต้องเผชิญแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ชะลอตัว
2.ตลาดรถบรรทุกและรถโดยสารขยายตัวได้สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยที่ทยอยกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถบรรทุกจะขยายตัว 2.7% ชะลอลงจากปีก่อนเล็กน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากแนวโน้มความต้องการขนส่งสินค้าทางบก
ที่ปรับลดลงตามภาคการส่งออก อย่างไรก็ดียังมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนก่อสร้าง กอปรกับการค้าชายแดนและผ่านแดนที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับยอดจดทะเบียนรถโดยสารมีแนวโน้มเติบโต 49.1% เร่งขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับอุปสงค์ในกลุ่มรถบัสรับส่งนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว อีกทั้งแรงส่งจากนโยบายเปลี่ยนผ่านรถโดยสารประจำทางไป สู่รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า
3.ตลาดรถจักรยานยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนเช่นกัน โดยคาดว่ายอดผลิตรถจักรยานยนต์จะขยายตัวที่ราว 8.0% ขณะที่ยอดขายจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 2.3% เป็นผลจาก 1) การชะลอตัวของรายได้ภาคเกษตรจากปัจจัยด้านราคา และ 2) ยอดส่งออกที่ชะลอตัว
เพราะแรงฉุดของตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ขณะที่อุปสงค์ของตลาดเอเชียยังฟื้นตัวได้ 4.ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังคงสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนรถ EVs ในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 4.95 หมื่นคัน หรือเติบโตสูงถึง 430%YOY ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.6% ของยอดขายรถยนต์นั่งทั้งหมด จาก 1.1% ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้กำลังการผลิตรถยนต์ EVs ของไทยก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราว 3.5 แสนคันต่อปี ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามอานิสงส์จาก
การลงทุนของผู้ผลิตยานยนต์ EVs รายใหม่ๆ ที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้านการจ้างงานและมูลค่าเพิ่มจากการพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย คาดว่าในระยะสั้นจะเผชิญแรงกดดันจากวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีแนวโน้มชะลอตัว นอกจากนี้ มาตรฐานการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงความเข้มงวดเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อในภาพรวมยังคงปรับแย่ลงสำหรับ ในระยะปานกลาง-ระยะยาว ภาคธุรกิจยานยนต์ยังจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันกับกระแสยานยนต์ไฟฟ้าและเทรนด์ ESG ที่กำลังมาแรง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงการที่ผู้บริโภคและนักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสำคัญและตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบมากขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่สร้างผลกระทบทางบวกทั้งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ปรับประมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2566 ใหม่จาก 1,950,000 คัน เป็น 1,900,000 คัน ลดลง 50,000 คัน หรือลดลง 2.56% โดยเป็นการปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศจาก 950,000 คัน เป็น 900,000 คัน หรือลดลง 5.56% หลังสถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์จากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของ GDP รวมทั้งส่งออกสินค้าอื่นๆ ของประเทศลดลงติดต่อกันหลายเดือนทำให้หลายอุตสาหกรรมลดกะการทำงานและลดการทำงานล่วงเวลา คนทำงานขาดรายได้ อำนาจซื้อลดลง
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นรวมทั้งค่าครองชีพสูงขึ้นผู้มีหนี้และประชาชนต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจึงระวังการใช้จ่ายทำให้อำนาจซื้อลดลง ธุรกิจหลายสาขาชะลอตัวลง เช่น วัสดุก่อสร้าง ร้านสะดวกสบาย supermarketฯลฯ และปัจจัยสำคัญอีกอย่าง คือ รถยนต์ไฟฟ้า(รถอีวี) ที่เข้ามีส่วนแบ่งตลาดรถยนต์มากกว่า 5%
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศใน มิ.ย. 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,440 คัน ลดลง1.04% จาก พ.ค. 2566 และลดลง 5.16% จากเดือนเดียวกันในปีก่อน เพราะการเข้มงวดของสถาบันการเงินในการอนุมัติสินเชื่อจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP ประเทศ ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีนี้ รถยนต์มียอดขาย 406,131 คันลดลง 4.95% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดเดือน มิ.ย. 2566 มีทั้งสิ้น 8,260 คันเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 54.74%
และจากข้อมูลกรมการขนส่งทางบก พบว่า ใน 6 เดือนปีนี้มีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ในประเทศทั้งสิ้น 31,515 คัน เพิ่มขึ้น 948.40%จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดว่าปีนี้น่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ถึง 70,000-80,000 คัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกที่เข้ามาขาย ในช่วงครึ่งปีหลังมากขึ้นหรือไม่ หากมีจำนวนไม่มากขึ้นคาดว่ายอดจดทะเบียนใหม่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 คัน
“รถยนต์ไฟฟ้าเป็นรถยนต์นำเข้าไม่ได้ผลิตในประเทศ โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศจีน ทำให้กลุ่มยานยนต์ จึงต้องลดเป้าการผลิตเพื่อขายในประเทศลงประมาณ 5% ของเป้าเดิม และคาดว่าในครึ่งปีหลัง หากยังมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกจากจีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากจีนพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการเร่งส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปทั่วโลก เพราะจีนเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นอันดับ 1 ของโลก ดังนั้น เราอาจจะต้องพิจารณาการปรับลดการผลิตในประเทศอีกครั้ง” นายสุรพงษ์กล่าว
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี