การถึงแก่อนิจกรรมของ ดร. เฮนรี คิสซิงเจอร์ (Dr. Henry Kissinger) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ณ บ้านพักในคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา รวมสิริอายุได้ 100 ปี ได้สร้างความสนใจแก่ชาวโลกอย่างมาก ตำแหน่งสุดท้ายของคิสซิงเจอร์ คือ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐ บทบาทล่าสุด คือ ผู้แทนทางการทูต เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพบปะกับประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายสี จิ้นผิง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
คิสซิงเจอร์ หรือ นามเดิมว่า ไฮนทซ์ อัลเฟรท คิสซิงเจอร์ (Heinz Alfred Kissinger) เป็นชาวเยอรมัน เชื้อสายยิว ที่ได้อพยพลี้ภัยการเมืองนาซีเยอรมนีและมาตั้งถิ่นฐานในสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2481 จนมีชื่อเสียงจากการเป็นนักการเมือง นักการทูต และที่ปรึกษาด้านภูมิรัฐศาสตร์ของชาวอเมริกันในเวลาต่อมา โดยบทบาททางการทูตในลักษณะเดินสายเจรจาลดความขัดแย้ง มีอิทธิพลต่อนโยบายต่อการต่างประเทศของสหรัฐอย่างต่อเนื่องจบจนบั้นปลายชีวิต
คิสซิงเจอร์ ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐและที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ บทบาทของเขาที่ผลักดันข้อตกลงสันติภาพปารีสจนทำให้เกิดการหยุดยิงในสงครามเวียดนาม ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2516 ท่ามกลางความเห็นแย้งของบรรดาคณะกรรมการรางวัลโนเบลฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย กล่าวหาว่า เขามีส่วนกับกรณีเหตุการณ์รัฐประหารนองเลือดฝ่ายซ้ายในประเทศชิลี และท่าทีเมินเฉยกับความรุนแรงต่อประชาชนของรัฐบาลอาร์เจนตินา
แนวทางนโยบายลดความตึงเครียดระหว่างค่ายสังคมนิยมและค่ายประชาธิปไตย เริ่มในยุคสมัย ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เจอรัลด์ คิสซิงเจอร์ มีบทบาทเป็นผู้ผลักดันให้ประธานาธิบดีนิกสัน เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ ริชาร์ด นิกสัน ใน พ.ศ. 2515 ก่อนการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม (เมื่อ พ.ศ. 2518) ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการฟื้นฟูความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐกับสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนทั้งที่ในขณะนั้น สหรัฐยังถือว่าจีนเป็นหนึ่งในฝ่ายตรงข้าม
ในช่วงเวลาดังกล่าว สาธารณรัฐประชาชนจีน มี เหมา เจ๋อ ตุง เป็นประธานาธิบดี และมี โจว เอินไหล เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของจีน การเริ่มความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนในสมัยนั้น ใช้กีฬา ปิงปอง เป็นสื่อ โดยสหรัฐเป็นฝ่ายส่งนักกีฬาปิงปอง ไปแข่งที่ประเทศจีนกับนักปิงปองของจีนเพื่อเป็นการกรุยทางให้ ประธานาธิบดี นิกสัน ไปเยือนประเทศจีน จึงเป็นที่มาของคำว่า “การทูตปิงปอง”
ขณะนั้น สหรัฐมีความเชื่อในทฤษฎี โดมิโน ที่เป็นชื่อของเกมส์ชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเสียง และเป็นที่นิยมมาก เกมส์นี้ เมื่อชิ้นที่วางตัวหนึ่งล้มลง จะทำให้ชิ้นที่วางตัวอื่นล้มตามไปด้วย ทฤษฎีจึงเปรียบเทียบว่า หากประเทศหนึ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นที่อยู่ใกล้กัน จะเปลี่ยนตามไปด้วย ซึ่งสหรัฐยอมไม่ได้เพราะถือว่า เป็นผู้นำโลกฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นเหตุให้สหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับสงครามเวียดนาม เพราะไม่ต้องการให้ภูมิภาคเอเชียเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ไปทั้งหมด
เมื่อกล่าวถึง บทบาทของ คิสซิงเจอร์ ผู้มีชื่อเสียงแห่งสหรัฐ ในการชักนำให้สหรัฐเปิดประตูเพื่อสานสัมพันธ์กับประเทศจีน ทำให้อดไม่ได้ที่จะระลึกถึง หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช (ฯพณฯ ศาสตราจารย์ พลตรี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช) อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 13 ของประเทศไทยที่มีบทบาททางการทูตที่โดดเด่นในลักษณะเดียวกันที่ทำให้ประเทศไทยเริ่มเปิดประตูเพื่อคบหากับประเทศจีน
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 รวมสิริอายุได้ 84 ปีเศษถือเป็นปูชนียบุคคลสำคัญท่านหนึ่งของไทย ผู้มากหลายความสามารถโดดเด่น ทั้งด้านการเมือง (เป็นนายกรัฐมนตรี จากพรรคกิจสังคมที่มีคะแนนเสียงข้างน้อยเพียง 18 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร แต่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้) วิชาการ (เป็นอาจารย์ด้านกฎหมายและการเมือง) วรรณกรรม(นักเขียนเรื่องสั้น นวนิยายหลากหลายแนว คลาสสิกไม่มีวันลืมเลือน เช่น ไผ่แดง (แนวการเมืองสะท้อนสังคม) กาเหว่าที่บางเพลง (แนวไซไฟ) และสี่แผ่นดิน(แนวอิงประวัติศาสตร์) เป็นต้น ที่ได้รับความนิยมทำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ รวมถึงศิลปวัฒนธรรม(โขน ธรรมศาสตร์ แสดงบท ทศกัณฐ์) มิใช่แต่เพียงด้านการทูตเท่านั้น
ในทางการทูต ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ริเริ่มผลักดันสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยท่านไปเยือนประเทศจีน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2518 หลังการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม เพียง 2 เดือน ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีชัยชนะในประเทศเวียดนาม และสหรัฐได้ถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากเวียดนาม
มีเกร็ดเล่ากันว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้สอบถามฝ่ายความมั่นคงว่า หากกองกำลังคอมมิวนิสต์บุกเข้าประเทศไทย เราจะต่อสู้และต้านไหวไหม คำตอบที่ได้ คือ เราจะเกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง และอาจจะต้านไม่อยู่ในที่สุด เป็นเหตุให้ท่านตัดสินใจสานความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างเร่งด่วน
ท่านจึงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ในบรมราชสกุลจักรีองค์องค์แรก ที่เดินทางไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้การต้อนรับและรับเกียรติจากประชาชนคนจีน และคณะผู้บริหารประเทศจีนคอมมิวนิสต์ทุกระดับเป็นอย่างสูง เรียกได้ว่าเป็นการต้อนรับชนิดยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ไม่เคยจัดการต้อนรับเช่นนี้ แก่บุคคลใดมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีแห่งประเทศมหาอำนาจ หรือมุขบุรุษของประเทศใดๆ ในโลกเลยก็ว่าได้
มีเรื่องเล่าที่มาเปิดเผยในตอนหลังว่า ตอนที่ท่านเยือนประเทศจีน ท่านไม่แน่ใจว่า สถานที่ที่ท่านพัก เวลาที่ท่านสนทนา จะมีใครคนอื่นได้ยินหรือไม่ ท่านจึงแกล้งบ่นว่า อยากทานโจ๊กในตอนเช้า พอวันรุ่งขึ้น ท่านก็ได้ทานโจ๊กในตอนเช้า นับว่าเป็นเรื่องบังเอิญโดยแท้ แต่ที่แน่ๆ คือ ทำให้ต้องระมัดระวังคำพูดอยู่ตลอดเวลา
การดำเนินการทางการทูตของท่าน ที่สานความสัมพันธ์กับประเทศจีนในขณะนั้น คล้ายกับสมัยล่าอาณานิคมของฝ่ายตะวันตกในยุครัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ที่ทั้งสองพระองค์ทรงผูกสัมพันธไมตรีกับประเทศทางตะวันตกบางประเทศ ทำให้ประเทศทางตะวันตกอื่นเกรงใจไม่กล้ารุกรานประเทศไทย
การเปิดความสัมพันธ์ของประเทศไทย และสหรัฐกับจีนในวันนั้น ได้ก่อเกิดผลดีทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลจนมาทุกวันนี้
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี