วิกิพีเดีย เว็บไซต์ข้อมูลครอบจักรวาลบันทึกไว้ว่า
“เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เกิดเหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้า สยามพารากอน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยผู้ก่อเหตุ ได้แก่ เด็กชายพสิษฐ์ ตรูทัศนวินท์ อายุ 14 ปี ใช้ปืนแบลงก์กันดัดแปลง กราดยิงภายในศูนย์การค้า สยามพารากอน เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยเสียชีวิตทันที 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย”
ข่าวนี้ครึกโครมอยู่สองสามวัน นักอะไรต่อนักอะไรออกมาวิเคราะห์และให้ความเห็นกันมากมาย แล้วก็เงียบหายไป จนกระทั่งมาเป็นข่าวบนหน้าสื่อต่างๆ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 และเป็นรายงานข่าวเล็กๆ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่ผ่านตา ว่า
“เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้เข้าสอบปากคำเยาวชนชาย อายุ 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในศูนย์การค้า สยามพารากอน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายนั้น หลังจากเข้ารักษาตัวและประเมินอาการป่วยจากแพทย์ผู้รักษา กระทั่งสามารถที่จะให้ปากคำได้ โดยเจ้าตัวให้การภาคเสธ ยอมรับในเรื่องของอาวุธปืนและให้การเกี่ยวกับอาวุธปืน แต่ไม่รับในข้อหาฆ่าผู้อื่นฯ โดยอ้างว่าทำไปโดยไม่รู้ตัว”
ผมเห็นข่าวนี้แล้วก็นึกในใจว่า “แล้วไงต่อ?”
เดาเอาว่า “ไม่รับในข้อหาฆ่าผู้อื่นฯ โดยอ้างว่าทำไปโดยไม่รู้ตัว” น่าจะเป็นคำแนะนำจากทนายความ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็กคนนี้ เพื่อลดการต้องรับโทษหนัก เพราะหลังจากที่ถูกจับเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เขาก็ยอมรับเองว่า ซื้อปืนดัดแปลงจากผู้ค้าออนไลน์ และมีคลิปที่แสดงถึงการฝึกใช้ปืนของเจ้าตัว
สอดคล้องกับตอนหนึ่งในบทความชิ้นหนึ่งของ ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 6 ตุลาคม 2566 เขียนว่า
“เยาวชนชายวัย 14 ปี ก่อเหตุกราดยิงในห้างกลางกรุง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บป่วยจิตจริงหรือ? เพราะจากพฤติกรรมน่าจะมีการวางแผน เจาะจงเลือกห้าง สยามพารากอน ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่านในช่วงเวลาเย็น เป็นสถานที่ก่อเหตุ ทำไมไม่ก่อเหตุยิงในสถานที่อื่น
“อีกทั้งมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมีการซ้อมยิงปืนจากที่ปรากฏในคลิป และหลังก่อเหตุยิง 40 นัด จนปลอกกระสุนกระจายทั่วห้างโดยเฉพาะบริเวณชั้น 2 และ 3 ของห้าง ได้โทรไปแจ้ง 191 ก่อนยอมมอบตัว ยกมือขึ้นเหนือหัว ค่อยๆ ทิ้งปืนห่างจากตัว เหมือนคนมีสติเป็นอย่างดีขณะลงมือกระทำ และน่าจะมีความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรณีเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี กระทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ”
ก่อนหน้านี้ ในเมืองไทยก็มีการกราดยิงที่ทำให้มีคนบริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก และสร้างความตื่นตระหนกให้สังคม คือ ทหารชั้นประทวนกราดยิงคนในห้างสรรพสินค้า
เทอร์มินอล 21 ที่นครราชสีมา (2563) และอดีตตำรวจยิงใส่เด็กๆ ไร้เดียงสาที่กำลังนอนหลับอยู่ในศูนย์เด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภู (2565)
ทั้งสองกรณี ฆาตกรผู้ก่อเหตุเสียชีวิตด้วยการถูกเจ้าหน้าที่ยิงและฆ่าตัวเองตามลำดับ เช่นเดียวกับเหตุการณ์กราดยิงฝูงชน (Mass Shootings) ส่วนใหญ่ในอเมริกาที่ฆาตกรมักฆ่าตัวตาย
ในสหรัฐอเมริกา การยิงใส่ฝูงชนมีมานานนับสิบๆ ปี และยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อหลายรัฐมีกฎหมายอาวุธปืนเสรี เอาเฉพาะปี 2566 นี้นับจากต้นปีถึงวันที่ 31 ตุลาคม มีการยิงใส่ฝูงชน 520 ครั้ง คนตายจากเหตุการณ์ยิงใส่ฝูงชนไปแล้ว 621 ราย บาดเจ็บอีก 2 พันกว่าคน
ผู้ก่อเหตุไม่ใช่เพราะมีสภาพจิตใจที่ถูกกดดันเสียทั้งหมด มีการเลียนแบบมีการวางแผนเพราะความคึกคะนอง อยากมีตัวตน กระทั่งความเมามันที่ได้ซึมซับจากหนังและการเล่นเกม ปะปนอยู่ในจำนวนนี้อีกมากมาย นอกจากมีคนเจ็บ คนตาย ครอบครัวของผู้บริสุทธิ์จะต้องแบกรับกับความทุกข์ใจไปตลอดชีวิต
แต่ถ้าผู้ก่อเหตุหลุดจากข้อหาหนักเพราะ “กระทำไปโดยไม่รู้ตัว” เหลือเพียงโทษเกี่ยวกับอาวุธปืน ไม่กี่ปีก็คงพ้นโทษ ใครจะรับประกันได้ว่าคนที่เคยฆ่าคนจะไม่ก่อเหตุอีก และจะเกิดการเลียนแบบกันหรือไม่ในอนาคต คนบริสุทธิ์ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่จะต้องตายไปอีกเท่าไหร่
ผมไม่ใช่นักจิตวิเคราะห์ ไม่ใช่เอ็นจีโอด้านเยาวชน และไม่ใช่นักกฎหมายที่จะบอกได้ว่า กฎหมายเข้มแข็งหรืออ่อนแออย่างไรขณะเดียวกันผมก็ไม่ใช่พวกโลกสวย ตอนนี้ได้แต่นึกถึงชื่อเพลงหนึ่งของ บรูซ สปริงส์ทีนที่ว่า “We Take Care of Our Own”.
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี