ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทย-เขมร และความพันพัวของหนึ่งสีกากับบรรดาพระระดับสูงหลายองค์ คงไม่มีอะไรที่สร้างปฏิกิริยาในสังคมได้มากเท่าการออกมาพูดในรายการทอล์กโชว์ของนักโทษกิตติมศักด์แห่งชั้น 14 โดยมีสื่อมวล “ชง” เป็นผู้ป้อนคำถาม
โดยเฉพาะท่อนที่ถูกโค้ทกันมากที่สุด ที่ว่า...
“ผมต้องทำงานให้บ้านเมืองจะให้ผมทำยังไง ภาวะเศรษฐกิจวันนี้ ขอโทษนะ ถ้าผมไม่เสือกแล้วใครจะเสือก มันยากนะ ปัญหาบ้านเมืองอย่างงี้ ผมอยู่เฉยไม่ได้ ในฐานะเป็นอดีต
นายกฯ และลูกเป็นนายกฯ มันมีอะไรก็ต้องช่วยกัน ขนาดผมออกนอกไม่ได้ (นอกประเทศ) ถ้าออกนอกสนุกกว่านี้ ผมสามารถไปเจรจา ไปพูด ไปคุยได้”
คนจิตอ่อนฟังแล้วก็คงนึกถึงตัวละครแบบซูเปอร์ฮีโร่สักคน ที่จะมาช่วยกอบกู้ภัยพิบัติทางเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ทุกวันนี้พอดีกับที่หนัง Superman กำลังเข้าฉายและถูกกล่าวขวัญกันอย่างครึกโครม เลยอยากเอามาเล่าคร่าวๆ
ซูเปอร์แมน เป็นการ์ตูนมาก่อน สร้างสรรค์โดย เจอร์รี่ซีเกล คิดและเขียนเรื่อง และโจ ชูสเตอร์ เป็นคนวาด ทั้งคู่เพื่อนกันตั้งแต่เรียนมัธยม ไอเดียของตัวการ์ตูน ซูเปอร์แมน มีมาตั้งแต่ปี 1933 ผ่านการพัฒนา แก้ไขหลายครั้ง จนมาบรรลุว่า ซูเปอร์แมนต้องใส่กางเกงในไว้ข้างนอกใส่ผ้าคลุม และมีตัว S อยู่กลางหน้าอก
แต่ความสำเร็จก็ไม่ได้มาง่ายๆ แม้ตอนนั้นซีเกล และ ชูสเตอร์ มีผลงานในตลาดบ้างแล้ว การเสนอ ซูเปอร์แมน ให้สำนักพิมพ์หลายแห่งยังถูกปฏิเสธ จนกระทั่ง ดีเทคทีฟ คอมิกส์ (หรือ ดีซีคอมิกส์) ตกลงรับให้ตีพิมพ์ในหนังสือ Action Comics #1 ก็ปาเข้าไปปี 1938
เหมือนสำนวนที่ใช้กันคุ้นหู คือ “หลังจากนั้นคือประวัติศาสตร์” จากเป้าหมายแรกต้องการจับตลาดเด็กๆ กลายเป็นว่าทุกเพศทุกวัยพากันชอบซูเปอร์แมน และถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งทางวิทยุ, ละครเวที, นิยาย, การ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์, โทรทัศน์, หนังโรง และวีดีโอเกม
ย้อนไปในอดีตอันไกลโพ้น หนัง ซูเปอร์แมน สร้างมา 3 เรื่องระหว่างปี 1948-1951 แล้วก็หยุดไป จนมาสร้างอีกทีในปี 1978 หนัง ซูเปอร์แมนที่แสดงโดย คริสโตเฟอร์ รีฟส์ กวาดเงินทองท่วมท้น ตั้งแต่นั้นก็มีการสร้างมาเรื่อยๆ และตอนต่อที่สร้างตามมาเกือบทั้งหมดก็ประสบความสำเร็จด้วยดี ล่าสุดถูกทำใหม่และออกฉายในปีนี้ ใช้ชื่อง่ายๆ ว่า Superman โดยมี เดวิด
คอเรนสเวท กำลังทำเงินทั่วโลกเช่นเคย
แต่บ้านเราพิเศษให้สมกับมีปลากัดเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ มีการวิพากษ์วิจารณ์เสียงพากย์ของ เอม-สรรเพชญ์ คุณากร นักแสดงหนุ่มที่ให้เสียงเป็น ซูเปอร์แมน/คลาร์ค เคนท์
กันยับ พวกบ้าการเมืองสายกินส้มก็ลากลามไปถึง สัญญา คุณากร ผู้เป็นพ่อ
ซูเปอร์แมน หรือบรรดาซูเปอร์ฮีโร่อย่างแบทแมน หรือ กลุ่มอะเวนเจอร์ ส่วนใหญ่ถูกสร้างมาก็เพื่อเป็นผู้พิทักษ์โลกหรือสังคมจากเหล่าร้าย,ปกป้องผู้คนที่ด้อยกว่า, มีคุณธรรมประจำใจ
และไม่หวังผลประโยชน์ แต่คนที่หลายคนคิดว่าเป็น ซูเปอร์ฮีโร่ในบ้านเรานั้น ดูเหมือนจะตรงกันข้ามเกือบทุกด้าน ถึงขนาดผู้นำประเทศข้างบ้าน(ซึ่งไม่ได้ดีกว่ากันหรอก) หยามน้ำหน้าว่า
“คนทรยศ”
แต่ที่น่าเศร้าคือ ประชาชนส่วนหนึ่งในบ้านเรายังมีฉันทาคติ หลงใหลไปกับคำพูดจาอวดตัวที่ไม่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะอยู่ข้างหน้า หรือบงการอยู่ข้างหลัง ผู้คนอีกไม่น้อยที่รู้ทั้งรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความผิดที่เกิดขึ้นทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ก็ยังไม่ยอมรับ กระทั่งไม่ยอมแยกแยะความแตกต่างระหว่างซื่อตรงกับคดโกง
พลันที่ได้ฟังการออกมาพูดแบบซูเปอร์ฮีโร่ของบ้านเรา (หรืออันที่จริงจะเรียกว่าซูเปอร์กร่างก็คงพอได้) ว่า “ภาวะเศรษฐกิจวันนี้ ขอโทษนะ ถ้าผมไม่เสือกแล้วใครจะเสือก” ผมถึงกับคิดในใจว่า “อ้าว! พี่ก็เสือกมาตั้งแต่ตอนตั้งรัฐบาลนี้แล้วไม่ใช่หรือ?” แล้วใครล่ะที่ทำให้เศรษฐกิจเป็นแบบนี้
ตกลงคือพี่จะเสือกเรื่องของพี่เอง-ว่างั้น?
ทิวา สาระจูฑะ
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี