ผมโชคดีมากที่ได้รับเกียรติถูกเชิญจากท่านนายกสมาคม(อ.เรืองศิริ ไกรคง) และชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนให้ไปบรรยายและร่วมประชุม การประชุมวิชาการ มุมมองพยาบาลไทยในอนาคตเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน “Vision for the future of Thai nursing” ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน พ.ศ.2567 ณ โรงแรมโกลเด้น ซิตี้ ระยอง จังหวัดระยอง ทั้งนี้ผมมีเพื่อนพยาบาลที่น่ารักที่เรียนหลักสูตร ปธพ.2 ด้วยกัน คือ คุณกรรณิกา ปัญญาอมรวัฒน์และคุณจงกล อินทสาร เป็นผู้บริหารสมาคมฯ ด้วย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ผมได้รับเชิญ ปีที่แล้วทางสมาคมฯ ได้กรุณาเชิญให้ผมไปพูดเรื่อง “การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” ซึ่งหลักๆ ก็แบ่งออกเป็น1) การเรียนการทำงานเพื่อมีรายได้ที่ดี 2) การออม การลงทุน 3) การดูแลสุขภาพ 4) ระบบรองรับผู้สูงอายุ โดยปีที่แล้วให้เวลาผมบรรยาย 3 ชม.
ปรากฏว่าผู้จัดยังไม่เข็ด!? ปีนี้จึงกรุณาเชิญผมอีก โดยให้บรรยายเรื่อง “พยาบาลกับการสร้างเครือข่ายการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน” ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 09.00-10.30 น. ซึ่งเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนนั้นผมได้รับเกียรติจากท่าน สว.สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้กรุณาเชิญให้ผมเป็นกรรมการตั้งแต่ท่านเริ่มต้นจัดตั้งคณะกรรมการบูรณาการการกู้ชีพฉุกเฉิน ที่วุฒิสภามา6 กว่าปีแล้ว ผมจึงมีความรู้ ข้อมูล พอสมควร
เนื่องจากผมสนใจเรื่องสาธารณสุข ระบบต่างๆ รวมทั้งการทำงานของผู้ร่วมงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาล ที่ผมเคยทำงานอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่เป็นนิสิตแพทย์ที่อังกฤษ จนเป็นแพทย์ที่อังกฤษ และที่จุฬาฯ ที่ผมเคยเป็นผู้ช่วย ผอ.รพ. ที่ต้องทำงานทั้งใกล้ชิดและต้องดูแลพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ พยาบาล จึงมีความผูกพัน สายสัมพันธ์ที่ดีงาม รวมทั้งช่วงที่ผมเป็นเลขาธิการแพทยสภา ปี 2546-2550 ได้ประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข สภาการพยาบาล และสภาวิชาชีพอื่นๆ เป็นระยะๆ จึงมีความรู้เกี่ยวกับพยาบาลพอสมควร ด้วยเหตุต่างๆ นี้ ทางสมาคมฯ และชมรมฯ ได้กรุณาเชิญให้ผมไปร่วมงานตั้งแต่คืนก่อนการประชุมเริ่ม ผมจึงเดินทางไปประชุมโดยถึงโรงแรมตั้งแต่ประมาณ 16.10 น. ของวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567
หัวข้อการประชุมมีหลายหัวข้อที่ผมสนใจ เช่น “แนวคิดผู้บริหารองค์กรกับความคาดหวังบทบาทพยาบาลในอนาคต” โดย นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ ผอ.รพ.ละงู จ.สตูล และ นพ.พิทยา หล้าวงศ์ ผอ.รพ.สบเมยจ.แม่ฮ่องสอน “จริยธรรม กับการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อนที่พยาบาลต้องสนใจ” โดย อ.วิชา มหาคุณ ประธานมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ที่บรรยายได้ดี เร้าใจมากเช่นเคย โดยสรุปก็คือ ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัวสำหรับผมๆ ชอบพูดว่าต้องแยกหัวใจออกจากสมอง, “Safety Tourist & เศรษฐกิจสุขภาพ” โดย นพ.ณรงค์ จันทร์แก้ว นพ.สสจ.มุกดาหาร, “พิธีเปิดและมอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุขกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทยในก้าวต่อไป” โดยท่านปลัดนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, “ความก้าวหน้าของพยาบาลในอนาคตบนเส้นทาง นร.148” โดย อ.อัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผอ.กองการพยาบาล และ อ.ธีรพร สถิรอังกูร พยาบาลวิชาชีพ, “การบริหารอัตรากำลังคนด้านพยาบาลในอนาคต” โดย อ.สรรเสริญ นามพรหม ผอ.กองบริหารทรัพยากรบุคคล, “ก้าวต่อไป : บทบาทองค์กรสุขภาพกับการพัฒนาระบบสุขภาพไทยในอนาคต” เลขาธิการ สปสช. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี และเลขาธิการ คสช.นพ.สุเทพ เพชรมาก“การพัฒนาพยาบาลกับ Sky Doctor ในโรงพยาบาลชุมชน” โดย รอ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ., “กลยุทธ์การบริหารจัดการพยาบาลใน รพช.ในอนาคต” โดย อ.เรืองศิริ ไกรคง นายกสมาคมฯ
ผมนั่งฟังทุกเรื่องเพราะสนใจและเป็นหัวข้อที่น่าฟัง ไม่ได้ฟังเพียงวันพฤหัสบดีที่ 6 ตอนบ่ายที่ผมมีประชุม online กับ TDRI เรื่อง โครงการศึกษาเพื่อยกระดับผู้ขับขี่หน้าใหม่ ซึ่งพอดีเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับหัวข้อที่ผมบรรยายในวันที่ 7 พอดี
เรื่องที่สำคัญ น่าฟังที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดต่อน้องๆ พยาบาลคือ เรื่องที่ท่านปลัดโอภาส บรรยาย โดยสรุปก็คือประเทศไทยมีพยาบาล 2 แสนคน อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขแสนคน(อยู่ใน รพ.ชุมชน หรือ รพ.อำเภอเก่า ประมาณครึ่งหนึ่ง)กระทรวงสาธารณสุขยังขาดพยาบาลอีกประมาณ 50,000 คน(ส่วนตัวผมคิดว่ายังขาดเป็นแสนคน) และทางกระทรวงจะพยายามเร่งบรรจุน้องๆ พยาบาลอีก 6,000 ตำแหน่ง รวมทั้งจะเร่งการผลิตพยาบาลเพิ่ม การผลิตพยาบาลเพิ่มในความเห็นของผมต้องมีตำแหน่งรองรับด้วย ส่วนหนึ่งที่ผมมีความสุขในการทำงานและเป็นแพทย์ที่ดีได้เพราะตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตแพทย์ที่อังกฤษและตลอดชีวิตการทำงานได้รับความกรุณา เมตตา เอ็นดู สงสาร เห็นอกเห็นใจจากพี่ๆ พยาบาลมาโดยตลอด จนเมื่อผมเป็นอาจารย์ ผู้ช่วย ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ ผมไม่เคยลืม และมีอะไรที่ช่วยพยาบาลได้ผมจะช่วยเสมอ จนถึงบัดนี้
ในชีวิตผม ในฐานะตำแหน่งต่างๆ ที่ได้ออกไปเยี่ยม บรรยาย ที่ต่างจังหวัดตลอดเวลา บางปี 20 ครั้ง ผมมีความเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขยังขาดบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ พยาบาลมีความสำคัญมากต่อระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะ รพ.ชุมชนที่มีแพทย์ฝึกหัด แพทย์ใช้ทุน (แพทย์ที่มีวัยวุฒิ คุณวุฒิยังน้อย) อยู่เป็นจำนวนมาก เพราะพี่ๆ พยาบาลเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ มีความชำนาญมาก จึงคอยเป็นพี่เลี้ยง
แนะนำ ช่วยเหลือ เป็นกำลังใจให้น้องๆ แพทย์ตลอดเวลา ผมเคยทราบว่าในอดีต (อาจเป็นปัจจุบันด้วย) มีพยาบาลจำนวนมากที่ลาออกตอนอายุ 41 ปีเพราะไม่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพเงินเดือนจะตันอยู่ที่ตำแหน่งชำนาญการจนถึงเกษียณ และพยาบาลที่จบใหม่ไม่มีตำแหน่งให้บรรจุ มีบุคลากรจำนวนมากที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว ประจำ รัฐบาลรู้ทั้งรู้ว่าขาดพยาบาล ฯลฯ แต่ก็ไม่มีตำแหน่งเพียงพอให้ อย่าว่าแต่อะไรเลย ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ สังกัดสภากาชาดไทย ยังขาดพยาบาลจำนวนมาก
มีเรื่องที่อยากจะคุยเกี่ยวกับพยาบาลอีกมากครับ เอาไว้ในโอกาสต่อไป
ในนามของประชาชนชาวไทย ขอขอบพระคุณพี่ๆ น้องๆ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ฯลฯ ทุกๆ ท่านในความอดทน เสียสละ ทำงานเป็นหนังหน้าไฟมาให้พวกเราทุกๆ คนที่เป็นผู้ป่วยมาโดยตลอดครับ
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี