วัคซีนป้องกันงูสวัด โรคงูสวัดเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใสในเด็ก เชื้อนี้ไม่ได้หายไปภายหลังหายจากโรคสุกใสแต่ยังซ่อนอยู่ในปมเส้นประสาทของร่างกายโดยไม่มีอาการ เมื่อร่างกายอ่อนแอลง เชื้อไวรัสที่หลบซ่อนนี้จะทำให้เกิดโรคงูสวัดโดยการติดเชื้อตามแนวเส้นประสาท ทำให้ปวดแสบปวดร้อนตามผิวหนัง หลังจากนั้น 2-3 วันจึงเกิดผื่นแดง ตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มบริเวณผิวหนังตามแนวของเส้นประสาทด้านเดียว ต่อมาจะแตกออกเป็นแผล โดยทั่วไปอาการปวดและแผลจะหายใน 2-4 สัปดาห์ แต่บางรายมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเป็นเวลาหลายเดือนหรือนานกว่า พบอุบัติการณ์ของโรคงูสวัดเพิ่มมากขึ้นชัดเจนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรือมีภาวะที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำลง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงต่อเนื่อง ผู้ที่เคยเป็นโรคงูสวัดจะมีโอกาสเป็นงูสวัดซ้ำประมาณร้อยละ 6.2 และพบบ่อยในเพศหญิง
ภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่สำคัญคือ อาการปวดแสบร้อนตามผิวหนังนานหลายเดือนแม้ผื่นจะหายสนิทซึ่งพบได้ประมาณร้อยละ 10-30 และพบภาวะแทรกซ้อนนี้บ่อยและรุนแรงขึ้นในผู้สูงอายุ การเป็นงูสวัดบริเวณใบหน้าด้านบนอาจเกิดบาดแผลที่กระจกตา ตาอักเสบ ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจเกิดโรคแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อแพร่กระจาย เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ
วัคซีนป้องกันงูสวัดปัจจุบันมี 2 ชนิด ได้แก่
1) วัคซีนที่ทำจากโปรตีนของเชื้อ โดยการฉีด 1 เข็มเข้ากล้าม 2 ครั้ง ห่างกัน 2-6 เดือน แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปโดยพบว่าสามารถลดการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 97
2) วัคซีนที่ทำจากเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ โดยการฉีด 1 เข็มเข้าใต้ผิวหนัง แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป โดยพบว่าสามารถลดการเกิดโรคงูสวัดได้ร้อยละ 51 เนื่องจากเป็นวัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์จึงห้ามฉีดในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง เช่น กำลังได้รับยากดภูมิคุ้มกันขนาดสูง ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีค่า CD 4 ต่ำมาก
สามารถฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงประวัติการเป็นงูสวัดหรือโรคสุกใสมาก่อน ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น วัคซีนป้องกันงูสวัดสามารถให้ร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัสได้ในเวลาเดียวกัน ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักพบบริเวณที่ฉีด เช่น คัน แดง อาจมีไข้ต่ำๆ ได้ มักหายภายใน 2-3 วัน
วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ โรคบาดทะยักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่บาดแผลมักเกิดตามหลังการมีบาดแผลจากอุบัติเหตุ บาดแผลเรื้อรัง พบในผู้สูงอายุและมีอัตราตายสูง โรคคอตีบปัจจุบันพบน้อยมากในเด็กเล็กแต่กลับพบโรคคอตีบเพิ่มสูงขึ้นในผู้ใหญ่รวมทั้งอาจพบมีการระบาดของโรคคอตีบในบางพื้นที่ในประเทศไทย
การไม่ได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ ฉีดแบบเข็มกระตุ้นในวัยผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคบาดทะยักและคอตีบลดต่ำลงในผู้สูงอายุทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ดังนั้นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุน่าจะสามารถช่วยลดการเกิดโรคได้ดียิ่งขึ้น
แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุก 10 ปีในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคบาดทะยัก และคอตีบ (Td) อาจพิจารณาใช้วัคซีนรวมป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ และไอกรน (Tdap) 1 เข็มเข้ากล้ามเป็นเข็มกระตุ้นทุก 10 ปี แทนวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและคอตีบ (Td) ได้
สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : คลินิกเสริมภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว, www.saovabha.org/service_saovabha/our-clinic เปิดทำการวันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น. วันเสาร์-วันหยุดนักขัตฤกษ์เวลา 08.30-12.00 น. วันอาทิตย์-ปิดทำการ,โทร.02-2520161-4 ต่อ 82119 หรือ 82731Email : queensaovabha@hotmail.com
แหล่งข้อมูล : การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้สูงอายุ, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี