ถึงวันนี้ ประเพณีบุญบั้งไฟจริงๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ ของภาคอีสาน น่าจะผ่านพ้นไปหมดแล้ว
หากยังมีที่ไหนจัดแข่งบั้งไฟกันอีก ก็เชื่อแน่ว่า น่าจะเป็นการจัดแข่งบั้งไฟในลักษณะการพนัน
1)ผีพนันที่เข้ายึดกุมบุญบั้งไฟ ทำให้เกิดการบิดเบือนประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นอีสานไปสิ้นเชิง
เกิดขบวนการจัดพนันบั้งไฟเดินสายตามหมู่บ้านต่างๆ
มีการรวมตัวกัน ใช้อิทธิพลให้มีการจัดการแข่งขันบั้งไฟอ้างว่าเป็นการจัดตามประเพณีอันดีงามของท้องถิ่น
แต่พฤติกรรมจริง มีการนัดหมายเซียนพนันจากทุกสารทิศ นัดกันมาเล่นพนันบั้งไฟ โดยใครจะผ่านเข้าไปในพื้นที่ใกล้ฐานจุดบั้งไฟ ที่เป็นจุดชุมนุมของนักพนัน คล้ายๆ พื้นที่รอบๆ สนามมวยที่จับคู่เล่นเดิมพันกันอย่างคึกคัก จะต้องเสียค่าผ่านทางตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป
2) การแข่งบั้งไฟเพื่อการพนันจำพวกนี้ บางกรณีจัดในบางพื้นที่หลายรอบ ทั้งๆ ที่ตามประเพณีดั้งเดิมแล้ว จัดกันหนเดียว และไม่ได้มีการพนันเอาเป็นเอาตายแบบนี้เลย
บางก๊วน จัดแข่งขันบั้งไฟเพื่อเล่นการพนันทั้งในพื้นที่และออนไลน์ โดยถ่ายสดผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊ค
หลายกรณีเป็นภัยต่อการเดินอากาศยาน เพราะบั้งไฟจะขึ้นสูง แถมยิงขึ้นไม่ดูกาลเทศะ ไม่มีการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
3)ปีนี้ หลายจังหวัดพยายามคุมเข้ม เช่น จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศกฎเหล็ก 22 ข้อ ตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบปรามพนันบั้งไฟ เขตการบินห้ามจุดบั้งไฟเด็ดขาด ตั้งแต่ช่วงเริ่มประเพณีเทศกาลบุญบั้งไฟ
กำหนดเวลาการจุดบั้งไฟ 1 ครั้งต่อปี ระหว่างวันที่ 6 พ.ค. - 4 มิ.ย. 2559 เท่านั้น
และจุดบั้งไฟได้หมู่บ้านละ 1 วัน แต่หากรวมกันจัดมากกว่า 3 หมู่บ้านให้จุดบั้งไฟได้ไม่เกิน 2 วัน วันละไม่เกิน 15 บั้งต่อวัน รวมทั้งแจ้งอำเภอกำหนดพิกัดจุดบั้งไฟไม่น้อยกว่า 20 วัน เพื่อแจ้งต่อวิทยุการบินล่วงหน้า 10 วัน
ทั้งนี้จังหวัดอุบลฯ ห้ามไม่ให้จุดบั้งไฟเด็ดขาดใน 14 ตำบล เขตอำเภอเมือง วารินชำราบ และดอนมดแดง ซึ่งเป็นพื้นที่เดินอากาศขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น
4) เมื่อ 4 ปีก่อน มีงานศึกษาวิจัยการพนันบั้งไฟ โดยสดใส สร่างโศรก และนนท์ พลางวัน ทั้งกระบวนการเล่นพนัน ของบุญบั้งไฟ ศึกษาต้นทุนและรายได้ของผู้จัด ประมาณการวงเงินพนัน ผลกระทบที่เกิดจากการเล่นพนัน และการวิเคราะห์โครงข่ายความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเล่นพนันบั้งไฟ สรุปความบางตอนว่า
บุญบั้งไฟ มีที่มาจากกรอบจารีตประเพณีของชาวอีสาน ที่ยึดถือตามระบบฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นกุศโลบายที่ทำให้คนในชุมชนได้กอปรกิจร่วมกันในทุกเดือนในรอบ 1 ปี ซึ่งในเดือน 6 ได้จัดให้มีบุญเดือน 6 หรือบุญบั้งไฟ เพื่อบูชาพระยาแถน โดยเชื่อว่าพระยาแถนเป็นผู้ที่สามารถบันดาลฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล
บั้งไฟ จำแนกได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) บั้งไฟเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเลาบั้งไฟ 1-3 นิ้ว 2) บั้งไฟใหญ่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-5 นิ้ว เรียกว่า บั้งไฟหมื่น กับบั้งไฟแสน และ 3) บั้งไฟพิเศษ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้วขึ้นไป เรียกว่า บั้งไฟล้าน และบั้งไฟกือ (สิบล้าน)
การเล่นพนันบั้งไฟ ใช้เกณฑ์ตัดสินด้วยระยะเวลาที่บั้งไฟลอยอยู่ในอากาศ
การพนันบั้งไฟเล็ก เริ่มด้วย “การเปิดราคาหน้าฐาน” คือ การกำหนดตัวเลขของระยะเวลาที่คาดว่าบั้งไฟจะขึ้นได้สูงสุด กำหนดโดยผู้จัดและนักพนันที่เรียกว่า “เซียนยั้ง” ซึ่งราคาหน้าฐานของบั้งไฟเล็กมีราคาเดียวทั้งสนาม
การพนันบั้งไฟใหญ่ ไม่มีการเปิดราคาหน้าฐานโดยผู้จัด แต่คู่พนันจะตกลงกันเอง ผู้เปิดราคาหน้าฐาน เรียกว่า เซียนยั้ง ส่วนผู้รับเล่นพนันด้วย เรียกว่า “เซียนไล่” เช่น ราคาเปิดหน้าฐาน 290 วินาที ถ้าบั้งไฟทำเวลาได้ 290 วินาทีหรือต่ำกว่า ถือว่าเซียนยั้งได้พนัน แต่ถ้าบั้งไฟทำเวลาได้มากกว่า 290 วินาทีขึ้นไป ถือว่าเซียนไล่ได้พนัน
บ่อนการพนันบั้งไฟมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่ บ่อนบุญหรือบ่อนในเทศกาล หมายถึง บ่อนที่เปิดเล่นพนันในเดือน 6 รวมทั้งเดือนก่อนหน้าและหลัง คือ ตั้งแต่เดือนเมษายน-กรกฎาคม และบ่อนอาชีพหรือบ่อนนอกเทศกาล ซึ่งเปิดเล่นการพนันตลอดทั้งปี
ผู้จัดให้มีการเล่นพนันบั้งไฟ หรือโปรโมเตอร์ มีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ ผู้จัดประเภทบุคคลภายนอกที่เข้าไปเหมาบุญ และผู้จัดที่เป็นบุคคลภายในรูปของคณะกรรมการหมู่บ้าน
ประมาณการวงเงินพนัน พบว่า วงเงินพนันบั้งไฟทั้งภาคอีสานในรอบ 1 ปี อยู่ที่ 56,529 ล้านบาท
ในเขตอีสานเหนือ 14,409 ล้านบาท จำแนกเป็น ในเทศกาล (เมษายน–กรกฎาคม) รวม 122 วัน มีวงเงินพนัน 7,515 ล้านบาท, นอกเทศกาล ประมาณ 227 วัน วงเงินพนัน 6,832 ล้านบาท
ในเขตอีสานใต้ มีเพียงในเทศกาล (เมษายน-กรกฎาคม) 122 วัน ประมาณการวงเงินพนัน 42,181 ล้านบาท
5)เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 มีประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 27/2559 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการจุดและปล่อยบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกันมีคําสั่งดังต่อไปนี้
“ห้ามมิให้ผู้ใดจุดและปล่อย หรือกระทําการอย่างใด เพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อํานวยการเขต สําหรับกรุงเทพมหานคร หรือ
นายอําเภอแห่งท้องที่ สําหรับจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบในเขตพื้นที่ที่จะจุดและปล่อยหรือกระทําการอย่างใดนั้นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตของผู้อํานวยการเขตหรือนายอําเภอแห่งท้องที่ ให้เป็นไปตามประกาศจังหวัดตามข้อ 2 หรือข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครตามข้อ 4 แล้วแต่กรณี”
และประกาศจังหวัดข้างต้น จะต้องมีรายละเอียดดังนี้
“(1) กําหนดระยะเวลาในการจุดและปล่อย หรือการกระทําอย่างใด ซึ่งต้องสอดคล้องกับ ระยะเวลาในการจัดงานประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น (2) ชนิด ขนาด และจํานวนของบั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใด ที่คล้ายคลึงกัน ที่จะทําการจุดและปล่อยหรือกระทําการอย่างใด (3) สถานที่จุดและปล่อยหรือกระทําการอย่างใดเพื่อให้บั้งไฟ พลุ ตะไล โคมลอย โคมไฟ โคมควัน หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน ขึ้นไปสู่อากาศ (4) มาตรการในการป้องกัน มิให้มีการเล่นพนัน (5) มาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยและการอื่นใด เพื่อความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนและประชาชน”
ผู้ใดฝ่าฝืนระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
6) เห็นได้ว่า ประกาศข้อห้ามข้างต้นนั้น ไม่กระทบกระเทือนกับประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นอีสาน
เพราะมิได้ห้ามประเพณีบุญบั้งไฟ แต่มุ่งห้ามกิจกรรมนอกกรอบ ล้อมกรอบพวกนอกรีตนอกรอย
ประเภทงานผีบั้งไฟพนัน (รวมถึงกิจกรรมลอยขึ้นฟ้าอื่นๆ) ที่ไม่มีการขออนุญาตจากทางการในท้องถิ่นอย่างถูกต้อง นั่นก็เพื่อให้มีมาตรการดูแลความปลอดภัย และควบคุมดูแลมิให้เล่นการพนันเป็นสำคัญ
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี