คนไทยทุกคน เมื่อมองไปยังใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จะมองด้วย “ด้วยตาของความรัก” และพบว่า พระองค์ทรง “เป็น” อยู่ 3 “เป็น” ด้วยกันคือ
1.เป็นพ่อ ด้วยสัมผัสได้ถึงความรัก ความเมตตา ความห่วงใย ที่พระองค์ทรงมีให้มาโดยตลอด ไม่ว่าราษฎรของพระองค์ท่าน จะอยู่ในป่าในดง บนดอยหรือถิ่นธุรกันดารห่างไกลเพียงใด ก็จะทรงดั้นด้นเสด็จพระราชดำเนินทรงปลุกปลอบขวัญ รับฟังปัญหา และกลับมาก็ทรงวางแนวทางในการแก้ไขให้ ความรักอันเป็นรูปธรรมนี้ไม่ต่างอะไรจาก “พ่อ” ที่รักและคอยดูแลลูกๆ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความอาทร
2.เป็นที่พึ่ง ในยามทุกข์ยาก ประสบปัญหา มืดแปดด้าน แสงสว่างแรกที่จะส่องเข้ามาเป็นความหวังในใจของปวงชนชาวไทยคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”แม้เพียงแค่นึกถึง แม้แค่ได้เห็น กำลังใจก็พองฟูขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ กระนั้นก็ตาม พระองค์ท่านก็ทรงเป็นที่พึ่งของคนไทยในทุกๆ ด้านจริงๆ ด้วย พระองค์ซึ่งอยู่ในสถานะ “พระราชา” ซึ่งควรจะสูงส่ง สุขสบาย แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยและสายพระเนตรที่ไม่เคยทอดวางจากอาณาประชาราษฎร์ จึงทรงพากเพียรแก้ไขปัญหาให้แก่ “มหาชนชาวสยาม” อยู่เป็นเนืองนิตย์
3.เป็นศูนย์รวมใจ ทั่วโลกล้วนประหลาดใจและกล่าวขวัญถึงว่า ความขัดแย้งทั้งหลายในประเทศไทย ล้วนยุติลงได้ด้วยร่มพระบารมี ชนิดที่ประมุขใดๆ ในโลกใบนี้
ไม่เคยแสดงให้ปรากฏมาก่อน
กระนั้นก็ตาม ยามมีที่พึ่ง เรามักเป็น “ลูกที่ไม่ยอมเติบโต” ไม่ยอมเข้มแข็งด้วยตัวเอง สร้างตัวเองให้มีภูมิคุ้มกันดังที่ “พ่อ” ทรงสอน เราจึงได้ยินเรื่อง กำหนดเกษียณที่ไม่ได้เกษียณจากสมาชิกวงดนตรี อ.ส.ที่เล่าว่า “ในหลวงตรัสว่า เดี๋ยวพอเกษียณ เราไปเที่ยวนิวออร์ลีนส์กัน” สุดท้ายพระองค์ท่านก็มิได้ไป เพราะงานของพระองค์ท่านไม่เคยมีวันหยุด
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ก็เล่าเรื่องรับสั่งว่า “งานยังไม่เสร็จ”
ดร.วิวัฒน์ ศัลกำธร ก็เล่าเรื่อง “กุฏิของพ่อที่ยังร้าง”จากความตั้งพระราชหฤทัยว่า “เมื่อแซยิดจะไปบวช” โดยได้มีการสร้างกุฏิรอไว้แล้วที่เชิงเขาชีจรรย์ แต่สุดท้ายกุฏินั้นก็ “ร้าง”
จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมาคิดกันให้หนัก ถอดรหัสกันให้ชัดว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,000 กว่าโครงการ ที่ทรงทำให้เป็น “ต้นแบบ-แบบอย่าง” ไว้ไยไม่มีคนสานต่อ ทำให้เป็นวงกว้าง เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ราษฎรที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน
ยังต้องถอดรหัสเรื่อง “หลักการทรงงาน” ของพระองค์ท่านด้วย เพื่อให้ทั้งราชการ เอกชน และประชาชน สร้างแผ่นดินนี้ต่อ จาก “แผ่นดินที่พ่อสร้างไว้”
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้กล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ว่า
“...เมื่อครั้งที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ตลอดระยะเวลา 70 ปี พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อประโยชน์สุขของปวงชนชาวไทย พระองค์ทรงอุทิศเวลาเพื่อเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล และยากจน เพื่อทรงหาข้อมูลที่แท้จริงและทรงสำรวจสภาพภูมิประเทศไปพร้อมๆ กันทุกครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรนั้นมีสิ่งหนึ่งที่ทรงถือติดพระวรกายและทรงกางออกทอดพระเนตรอย่างพินิจพิเคราะห์คือ “แผนที่” ทรงรู้จักพื้นที่ประเทศไทยทุกตารางนิ้วอย่างลึกซึ้ง
เมื่อกล่าวถึงพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับการงานด้านการพัฒนาพระองค์ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศเพื่อใช้ในการพัฒนา ทรงสนพระราชหฤทัยที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ก้าวหน้าและทันสมัย ทรงใช้เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกลทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ภาพจากดาวเทียม ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และสารสนเทศเชิงพื้นที่ คือ แผนที่ในการวิเคราะห์ติดตามและประเมินผลการพัฒนา ตลอดจนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ พระองค์ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยการเน้นเรื่องการพึ่งพาตนเอง เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีของเหล่าประชาราษฎร์อันนำไปสู่แนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ได้แก่ การเกษตร แหล่งน้ำ สิ่งแวดล้อมและด้านอื่นๆ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดียิ่งขึ้น
พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักวิจัยเนื่องจากพระองค์ทรงงานด้วยหลักการของนักวิจัยได้แก่ การศึกษาปัญหาและข้อมูลโดยถ่องแท้ การทดลองวิจัย เผยแพร่ ขยายผลและพัฒนาทุกๆ โครงการตามแนวพระราชดำริ พระองค์ได้ทรงศึกษาค้นคว้าและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นทุกๆ ด้าน ตลอดจนทรงวิจัยและพัฒนาประดิษฐ์ คิดค้นวิธีการ เครื่องมือและแนวทางต่างๆ ที่เหมาะสมกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
ด้วยความห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชน พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมเยียนประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทยากจน ห่างไกลและทุรกันดาร ในแต่ละปี พระองค์จะประทับอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อทรงค้นหาข้อมูลที่แท้จริงจากประชาชนและส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ ทรงสังเกตการณ์ สำรวจสภาพทางภูมิศาสตร์ไปพร้อมๆ กันด้วย นับเป็นบุญวาสนาของคนไทยที่ได้อยู่ภายใต้ร่มพระบารมี...”
ทั้งหมดที่กล่าวมา เห็นชัดว่า พระองค์ท่าน “ศึกษางาน” จนถ่องแท้ แล้วจึงทรงลงมือ “แก้ปัญหา”
ในวันที่แผ่นดินไม่มีพระองค์ท่านแล้ว เป็นหน้าที่ของ “คนไทยทุกคน” ที่ต้องรักษาแผ่นดินนี้สืบต่อไป ทางอันประเสริฐที่ควรจะพร้อมใจกันเดินไป คือการเดินตามเบื้องพระยุคลบาท
มีหลายวิธีในการเจริญตามรอยพระยุคลบาท กล่าวคือ
1) ต้องมีความรักในแผ่นดินผืนนี้และเพื่อนร่วมชาติเสียก่อน เพราะความรักจะทำให้เราวางข้อแม้ทั้งหลายลงได้ แล้วเปิดตามองเปิดหูฟัง เปิดใจรับ
2) เมื่อมีความรักแล้ว จะมองเห็นปัญหาหรือความทุกข์ของผู้คนที่อยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินนี้
3) เมื่อเห็นความทุกข์ร้อน เห็นปัญหาของประชาชนและประเทศชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงถือเป็นธุระ จะทรงศึกษาปัญหา และทรงหาหนทางเยียวยาแก้ไข ทั้งๆ ที่มิใช่ปัญหาของพระองค์เอง
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อทรงรับรู้ว่า ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้บางส่วนมีปัญหาจากสภาพที่ดินที่เป็นป่าพรุ น้ำท่วมขังดินเปรี้ยว ก็ทรงศึกษาปัญหา ทรงทดลองค้นคว้าหาทางแก้ และเกิดเป็นโครงการ “แกล้งดิน” ขึ้น จนสามารถแก้ไขปัญหาได้ ทำให้ราษฎรกลับมาใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ตนเองมีเพื่อการเพาะปลูก ยังชีพ มีรายได้ และอยู่ได้ นี่ก็เพราะทรงรักและห่วงในทุกข์ของผู้อื่น
ทุกวันนี้ เราอยู่ร่วมกันอย่างทอดธุระ
เวลานี้เราอยู่กันด้วยความเศร้าโศกเสียใจแบบ “ลูกที่ไร้พ่อ”
ถึงเวลาเปลี่ยนมุมคิดจากลูกน้อยที่ไร้พ่อ มาเป็น “ศิษย์ที่มีครู” กันได้แล้ว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นครูที่ประเสริฐ ชาญฉลาด จนคนทั่วโลกค้อมศีรษะเคารพ น้อมใจสักการะ เทิดทูน และอาลัย หลายประเทศนำหลักการความรู้ของพระองค์ท่านไปใช้ เพื่อนำพาผู้คนของเขาไปสู่ความพอเพียง พอดี พอใจ อันเป็น “เสาเข็ม” ของ “ความยั่งยืน”
ดังนั้น เราทุกคน พึงหยุดร้องไห้กระจองอแง แล้วเอา “ปัญญา” นำทางชีวิตว่า “พ่อหลวงทรงทำอะไรไว้ เราจะศึกษาให้เข้าใจ แล้วจะสานต่อทุกสิ่งที่พ่อทำ”
เมื่อพระองค์ท่านทอดพระเนตรลงมา พระองค์ท่านจะได้ชื่นพระทัยว่า ลูกไทยในแผ่นดินพระองค์ท่านทรงชุบเลี้ยงมาแล้ว...ไม่สูญเปล่า!
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี