ข่าวระบุว่า มีสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) จำนวนหนึ่ง นำโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ ประธานกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว ได้รวบรวมรายชื่อสมาชิก สนช. เพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ในประเด็นเกี่ยวกับการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
ประเด็นสำคัญ คือ จะแก้ไข มาตรา 7 เพื่อให้มีข้อใหญ่ใจความสำคัญเป็นว่า “การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ให้เป็นพระราชอำนาจ” โดยตัดเงื่อนไขเรื่องลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์ออกไป
1.ในความเป็นจริง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็เคยถูกแก้ไขในจากเดิม
แต่เดิมนั้น ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเรื่องลำดับอาวุโสโดยสมณศักดิ์
หากแก้ไขตามที่มีข่าว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกพิสดารอะไรเลย
แต่จะเป็นการกลับไปสู่ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทยเราดั้งเดิม คือ พระมหากษัตริย์ ในฐานะองค์พระประมุข ทรงพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช
2.ตามพระธรรมวินัยนั้น ไม่มีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ไม่มีระบบการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่ง สมณศักดิ์ ฯลฯ
ทั้งหมด เกิดขึ้นภายหลัง ตามธรรมเนียมวัฒนธรรมสังคมการเมืองไทย
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองอยู่บนผืนแผ่นดินไทยกว่า 2 พันปี โดยไม่มีกฎหมายคณะสงฆ์
สิ่งสำคัญที่เกื้อหนุน คือ พระสงฆ์ ประชาชน และรัฐ
ประชาชนสร้างวัดให้แก่พระสงฆ์อยู่ พระไม่ดีก็อยู่ไม่ได้ ถูกขับไล่ออกไป
พระเจ้าแผ่นดินสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา พระปฏิบัติปฏิบัติชอบ
พระภิกษุสงฆ์ให้ธรรมะแก่สังคม
พระไม่อาจทำธุรกิจ สะสมทรัพย์สิน เงินทอง สั่งสมฐานอำนาจในทางตำแหน่งแห่งหนทางโลก เพราะถ้าทำก็จะถูกขับไล่ออกไปเสียทั้งจากสงฆ์และจากสังคม
3.ที่ผ่านมา บ้านเมืองมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ
ยกเลิกแล้วร่างใหม่ หรือแก้ไขเพิ่มเติมบ้าง
พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2445 (ร.ศ.121) สมัยรัชกาลที่ 5 รวมศูนย์อำนาจ มีเอกภาพภายใต้การนำของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้คณะสงฆ์รวมกันเป็นปึกแผ่น วัดเป็นศูนย์กลางของการจัดการศึกษาแก่ประชาชน พระสงฆ์เป็นครูสอนหนังสือ การให้คุณให้โทษแก่พระสงฆ์ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น
พ.ร.บ. สงฆ์ พ.ศ.2484 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกแบบคล้ายระบบการเมือง มีสังฆสภา สังฆนายก สังฆมนตรี คณะวินัยธร คล้ายๆ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการในทางโลก ทำให้เกิดอาณาจักรพระขึ้นมา ความสัมพันธ์ระหว่างพระ ชาวบ้าน และรัฐเสียสมดุลไป
พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ยุคจอมพลสฤษดิ์ เป็นการรวบอำนาจภายในคณะสงฆ์ไว้ที่ “มหาเถรสมาคม” โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขสูงสุด ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการพร้อมกันไป ปกครองพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศ
แต่เดิม พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช
เรียกว่า ประมุขแห่งรัฐ ยังคงอำนาจในการแต่งตั้งประธานมหาเถรสมาคม
ปรากฏว่า มีการแก้ไข พ.ร.บ. สงฆ์ บางมาตราในปี 2535 แต่เดิม เลื่อนตำแหน่งบริหารของพระราชาคณะด้วยการพิจารณา “อาวุโสโดยพรรษา” ถูกแทนที่ด้วย “อาวุโสโดยสมณศักดิ์”
ผลที่ตาม คือ มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นผู้พิจารณาการแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นผู้เสนอพระราชาคณะที่“อาวุโสโดยสมณศักดิ์” สูงสุดเพียงรูปเดียว ขึ้นทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
พูดง่ายๆ ว่า มหาเถรสมาคมได้สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมา เพื่อลิดรอนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยอันมีมาแต่ครั้งโบราณในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช
ในทางปฏิบัติแล้ว มหาเถรสมาคมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเสียเอง เพราะสามารถจัดวางขึ้นมาเป็นลำดับว่าใครจะมีสมณศักดิ์อย่างไร
ทำให้การเมืองในวงการสงฆ์ร้อนแรง การแต่งตั้งเกิดปัญหาการวิ่งเต้น แทบไม่ต่างกับการวิ่งเต้นเลื่อนยศตำแหน่งในทางโลก จนเกิดข้อครหา ขัดแย้งกับกิจของสงฆ์อย่างร้ายกาจ
4.ที่ผ่านมา เกิดปัญหาร้ายแรงในวงการสงฆ์ กรณีอื้อฉาวที่สุด คือ ธัมมชโย ธรรมกาย
คณะปกครองสงฆ์ที่มีอยู่ ไม่สามารถจัดการแก้ไข ซ้ำยังปกป้องอุ้มชู
สมเด็จพระสังฆราชมีพระลิขิตว่าธัมมชโยปาราชิกแล้ว แต่คณะปกครองสงฆ์ก็ไม่นำพาให้บังเกิดผล
ในยุครัฐบาลทักษิณ ถึงขนาดมีการแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราช ทั้งๆ ที่ พระสังฆราชยังอยู่
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ที่มหาเถรสมาคมเสนอชื่อ ก็ไม่ได้จัดการกรณีธัมมชโย ธรรมกาย ซ้ำแสดงตัวชัดเจนในการโอบอุ้ม ถึงขนาดไปเดินธุดงค์บนดอกไม้ รับเงินบริจาคและทองคำจากธัมมชโยมูลค่าหลายสิบล้านบาท แถมประกาศเป็นวัดพี่วัดน้องกับธรรมกายเสียอีก ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ ขั้นตอนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้น ผ่านจากมหาเถรสมาคมมาแล้ว อยู่ในชั้นสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกฯไม่ใช่ว่าได้รับอะไรมาแล้วเสนอไปหมดโดยทันที แต่ต้องมีการตรวจสอบรอบคอบก่อน
กรณีของสมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้แต่งตั้งเหมือนกับข้าราชการหรือรัฐมนตรี เพราะการแต่งตั้งข้าราชการ รัฐมนตรี ถ้านำขึ้นทูลเกล้าฯและทรงลงพระปรมาภิไธยลงมาถือว่าจบ แต่กรณีของสมเด็จพระสังฆราชนั้นยังมีขั้นตอนอีก โดยภายหลังทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจะต้องมีการประกาศสถาปนาและมีพระราชพิธี โดยสมเด็จพระสังฆราชจะมีพระฐานานุกรมหลายรูป ซึ่งต้องตั้งพร้อมกัน ต้องมีอาลักษณ์อ่านประกาศ ตลอดจนต้องประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย แล้วการที่จะเรียกคนมาที่พระที่นั่งฯจะต้องมีวโรกาส ทั้งหมดแล้ว สิ่งที่นายกฯรับมาก็ต้องมีการพิจารณา
ปัจจุบัน เรื่องเดิมยังอยู่ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
หากมีการแก้ไขกฎหมาย กลับไปเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขย่อมสามารถจะเลือกแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะรูปใดก็ได้ ที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเหมาะสมงดงาม เพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ย่อมจะสอดคล้องเหมาะสมกับขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณ ซึ่งพระพุทธศาสนาได้เจริญงอกงาม มีสมดุลในการกำกับดูแล ลดปัญหาพระโลภตำแหน่ง โลภยศ วิ่งเต้นเล่นพวกกันในคณะปกครองสงฆ์ทีละชั้นๆ เสียกิจของสงฆ์ บิดเบี้ยวไปจากพระธรรมวินัยไปไกลเหลือเกินในปัจจุบัน
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี