ความงดงามที่เป็นปฐมบทในกรอบวินัยการเงินการคลังและงบประมาณ คือแบบพิธีในการตราพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี (ฉบับแรกของประเทศสยาม) พุทธศักราช ๒๔๕๗ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ที่ใช้เป็นรูปแบบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดินแบบครบถ้วนหรืองบประมาณสองขา กล่าวคือแสดงทั้งรายจ่ายและรายได้ไว้ในตัวพระราชบัญญัติงบประมาณ
แม้ในบางเทศกาลจะมีรอยด่างที่เป็นกระพี้เกิดขึ้นดังเช่นที่ใช้รูปแบบเป็นประกาศคณะปฏิวัติ หรือที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีการกระทำขัดแย้งรัฐธรรมนูญที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วและจะวิเคราะห์ในรายละเอียดต่อไปเพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาบทเรียน ป้องกันมิให้เป็นเยี่ยงอย่างเกิดขึ้นอีก
สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ขอนำนโยบายประชานิยม ครั้งแรกในการตั้งองค์การสรรพาหารที่ยอมรับผิดและยกเลิกในสภาที่ถือว่า “เป็นความงดงามในสภาไทย” ที่จะพบเห็นได้ยากโดยเฉพาะในเทศกาลที่บ้านเมืองไม่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
แม้จะเป็นกุศลเจตนาที่งดงามในนโยบายประชานิยมครั้งแรกของประเทศสยาม คือการตั้ง “องค์การสรรพาหาร” “ซื้อแพง ขายถูก”ให้ประชาชน ที่องค์การนี้ตั้งในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อพ.ศ.๒๔๘๙ แต่มีความบกพร่องสำคัญคือ ขาดการศึกษาที่รอบคอบก่อน จึงไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและต้องมายกเลิกภายหลัง แต่ก็มีความงดงามที่อภิปรายในสภาในการตั้งและต่อมายกเลิก “องค์การสรรพาหาร” นี้ ดังมีข้อเท็จจริงที่ควรนำมาเป็นเยี่ยงอย่างในการให้มีนโยบายประชานิยมหรือจะเรียกว่า“ประชารัฐ” ชื่อใดก็ตาม
รัฐบาลท่านนายกรัฐมนตรี พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์พยายามที่จะช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชน นอกจากดำเนินการ ในทางอื่นแล้ว ยังได้จัดตั้งองค์การนี้ขึ้นเพื่อซื้อสินค้ามาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาพอสมควร สินค้าส่วนใหญ่เกี่ยวแก่อาหารอันจำเป็น องค์การนี้เรียกว่า “องค์การสรรพาหาร” มี ดร.ทองเปลวชลภูมิ เป็นผู้ดำเนินการ (ท่านถูกยิงเสียชีวิต พร้อมเพื่อนอดีตรัฐมนตรีอีก ๓ ท่าน คือ ถวิล อุดล, ทองอินทร์ ภูรพัฒน์ และจำลอง ดาวเรือง บริเวณกม.ที่ ๓ ถนนพหลโยธิน ใกล้กับสถานีตำรวจบางเขน ในขณะที่ตำรวจนำตัวย้ายไปฝากขัง)
เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันอังคารที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๐ นายทองเปลว ชลภูมิ รัฐมนตรี ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์การตั้ง“องค์การสรรพาหาร” วิธีดำเนินการ การเงินขององค์การ ตลอดจนอุปสรรคต่างๆ ต่อที่ประชุมฯโดยละเอียด
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายซักถามเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์การนี้หลายคน ในที่สุดก็ผ่านการพิจารณาเห็นชอบเรื่องการตั้ง “องค์การสรรพาหาร” ไปด้วยดี (ดูประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ใน รัฐสภาไทยในรอบ ๔๒ ปี หน้า ๕๕๘)
ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๑๘ของประเทศไทยที่มีพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (๒๓ สิงหาคม ๒๔๘๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๐) ท่านเป็นผู้ดำเนินการ“องค์การสรรพาหาร” ที่ตั้งในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้น บริเวณหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่ท่านนักศึกษา ต.ม.ธ.ก. ในยุคนั้นเช่น ท่านศาสตราจารย์มารุต บุนนาค และ ดร.เฉลิมชัย วสีนนท์ เคยเห็นองค์กรนี้และกรุณาให้ข้อมูลเรื่องนี้กับผู้เขียน) และเป็นผู้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “หว่องอันยื้อ รัฐบุรุษ ผู้ตายอย่างหมากลางถนน”ที่ท่าน ต.ม.ธ.ก. ๒๙๐๕ กล่าวไว้ใน ป.ล.ท้ายบทความเรื่อง “โครงการรับจำนำข้าวในความเข้าใจของผม” ที่ลงในคอลัมน์ “ปรีชาทัศน์” ในหนังสือพิมพ์ แนวหน้า ไว้ดังนี้
ป.ล. “ผมขอนำความงดงามของนักการเมืองไทยในอดีตมาเล่าเท่าที่พอจำได้ คือ รัฐบาลหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองได้มีการจัดตั้ง “องค์การสรรพาหาร” ขึ้น วิธีการคือซื้อสินค้าแพงแล้วนำมาขายถูก องค์การนี้ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ เป็นผู้อำนวยการ
ผลคือขาดทุนต่อเนื่องจึงถูกโจมตีอื้ออึงจากนักการเมืองฝ่ายค้านและประชาชน และมีหนังสือออกจำหน่ายเล่มหนึ่งชื่อ “หว่อง อัน ยื้อ” หนังสือเล่มนี้สรุปความได้ว่านโยบายซื้อแพงขายถูกในเมืองจีนหว่อง อัน ยื้อ เคยนำมาใช้แล้วประสบความล้มเหลว และเกิดความเสียหายมากมายในที่สุดต้องยกเลิก องค์การสรรพาหารก็ประสบผลเช่นเดียวกัน
ประเด็นนี้จึงเป็นหัวข้อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายใต้การนำของพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ๘ วัน ๗ คืน เมื่อการอภิปรายถึงเรื่องความผิดพลาด ล้มเหลวขององค์การสรรพาหาร ฝ่ายค้านโจมตีอย่างเผ็ดร้อน
เมื่อถึงวาระชี้แจงของรัฐบาล ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ได้ลุกขึ้นชี้แจงยอมรับผิดและกล่าวสรุปตอนท้าย ซึ่งผมจดจำไม่รู้ลืม ดร.ทองเปลว ชลภูมิ สรุปความว่า
“ถ้าผมได้อ่านหนังสือ หว่อง อัน ยื้อ มาก่อน องค์การสรรพาหารจะไม่เกิดขึ้น”
จบคำชี้แจง สภาได้ผ่านการอภิปราย และนำประเด็นอื่นขึ้นอภิปรายเกือบจะโดยพลัน
“นี้คือความงดงามของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและนักการเมืองฝ่ายค้านในสมัยนั้นที่ยอมรับผิดและให้อภัยกัน”
หลังบทความท่าน ต.ม.ธ.ก. ๒๙๐๕ เผยแพร่ไม่นาน ก็มีท่านผู้อ่านจำนวนมากที่สนใจบทความนี้ ถามถึงหนังสือเรื่อง “หว่องอัน ยื้อ รัฐบุรุษ ผู้ตายอย่างหมากลางถนน” ว่าจะหาอ่านได้ที่ไหน?ซึ่งรวมถึงผมด้วยที่ไม่เคยอ่านมาก่อนเช่นกัน จึงพยายามหามาอ่านจนได้ ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่หายากแล้ว มีอยู่หาอ่านได้ที่ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์“ปรีดี พนมยงค์” ที่ท่าพระจันทร์
ก่อนที่ผมจะขออนุญาตนำบางตอนในหนังสือเล่มนี้มาลงในตอนต่อไป ขอเอา “คำนำ” ของท่าน พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์อดีตนายกรัฐมนตรีมาให้อ่านก่อน เพราะเมื่อได้อ่านแล้ว ทำให้นำมาเป็นกรณีศึกษาถึงโครงการประชานิยมของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่สืบเนื่องมาจากทักษิณคิดและทำค้างไว้ให้น้องสาวได้เป็นอย่างดีประกอบรวมทั้งในเรื่อง “โครงการรับจำนำข้าวในความเข้าใจของผม”ของท่าน ต.ม.ธ.ก. ๒๙๐๕ ที่มีความเจือสมกันอย่างยิ่ง
ในคำนำของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์มีความดังนี้ครับ
“เจ้าภาพจัดงานศพนางนิ่มนวล ชลภูมิ ภรรยาคู่ชีวิตของ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ได้มาแจ้งต่อข้าพเจ้าว่า มีความปรารถนาจะพิมพ์หนังสือซึ่ง ดร.ทองเปลวเขียนไว้เพื่อแจกในงานฌาปนกิจศพของ นางนิ่มนวล หนังสือนี้ชื่อว่า “หว่อง อัน ยื้อ” กล่าวเป็นทำนองชีวประวัติของรัฐบุรุษจีน ในสมัยพันกว่าปีมาแล้ว อันเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็ง ประกอบด้วยอุดมคติอันแรงกล้าที่จะปฏิรูปการเศรษฐกิจและการคลังของประเทศในสมัยนั้น โดยให้รัฐตั้งองค์การ ทำการค้าและขายปลีกเสียเอง นำเงินของรัฐออกให้ชาวนากู้ยืมเพื่อป้องกันมิให้ชาวนาถูกขูดรีดเรียกดอกเบี้ยแพงๆ จากพวกธนบดีทั้งหลาย
แต่ผลที่สุดโครงการต่างๆเหล่านั้นเมื่อปฏิบัติไปกลับเป็นผลร้ายต่อประชาชน นำความเดือดร้อนทุกข์ยากมาสู่ประชาชน เนื่องจากผู้บริหารงานไม่เอาใจใส่ในโครงการหรือไม่เข้าใจซาบซึ้งในโครงการ ประกอบด้วยความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ฉวยโอกาสจากการดำเนินงานนั้นหาประโยชน์ใส่ตน จึงทำให้โครงการที่วางไว้ด้วยเจตนาดีต่อชาติบ้านเมือง ต้องประสบความล้มเหลวไปในที่สุด
หนังสือเล่มนี้ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ ได้เขียนไว้เมื่อวันที่ ๑๘พฤศจิกายน ๒๔๙๑ เมื่อเจ้าภาพจัดงานศพของภรรยา ดร.ทองเปลวปรารถนาจะพิมพ์ขึ้นอีกเพื่อแจกในงานศพดังกล่าว ข้าพเจ้าก็เห็นว่าเป็นการดี เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นด้วยน้ำมือของสามีผู้วายชนม์และสารประโยชน์ของหนังสือก็ย่อมจะเป็นคติเตือนใจแก่ผู้วางโครงการต่างๆ ไว้บ้างตามสมควร กล่าวคือแม้ผู้วางโครงการจะมีเจตนาดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือทรยศต่อชาติบ้านเมืองก็ตาม แต่ก็ต้องคิดให้รอบคอบและตระหนักแน่เสียก่อนว่า ได้มีเครื่องมือที่พร้อมมูลแล้วหรือไม่ ผู้ร่วมงานและผู้ที่ปฏิบัติตามโครงการมีสมรรถภาพเพียบพร้อม ที่จะสนองให้งานลุล่วงไปได้ดังเจตนาหรือหาไม่ ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ที่จะดำเนินงานมีความหนักแน่นอย่างใด เพียงใด ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ย่อมจะต้องนำมาพิจารณาประกอบโครงการอย่างที่จะขาดเสียมิได้...”
พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๐
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ปรีชา สุวรรณทัต
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี