การดำเนินการแก้สัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน ถูกจับตามองว่า จะมีการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนคู่สัญญา เป็นธรรมแก่รัฐ และเป็นธรรมแก่เอกชนที่แพ้ในการประมูลไปหรือไม่?
เพราะถ้าปล่อยให้ใช้บรรทัดฐานว่า ตอนประมูลเสนอผลประโยชน์แก่รัฐเยอะๆ แล้วค่อยมาแก้สัญญาในภายหลังก็คงจะไม่ถูกต้อง
1.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่เปิดประมูลให้เอกชนแข่งขันกันยื่นข้อเสนอเพื่อร่วมลงทุน โดยผนวกเอาการพัฒนาที่ดินรถไฟแปลงงาม ทั้งมักกะสันและศรีราชา
กลุ่มซีพี (ปัจจุบัน คือ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด) เป็นผู้ชนะประมูล สัญญาจะจ่ายค่าเช่าที่ดินมักกะสันให้ร.ฟ.ท.ราวห้าหมื่นล้านบาทตลอดสัญญา 50 ปี และจะต้องเข้าบริหารแอร์พอร์ตลิงค์รวมทั้งรับภาระหนี้สินไปด้วย โดยจะต้องจ่ายค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ราวหมื่นล้านบาทในวันที่ 24 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา
พูดง่ายๆ ว่า ในสัญญาร่วมลงทุนฯ มีการบริหารจัดการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ด้วย
หลังจากนั้น ได้มีการยกเหตุโควิด นำมาสู่การแก้สัญญาร่วมลงทุนกัน
อ้างเหตุว่า แอร์พอร์ตลิงค์ได้รับผลกระทบโควิด
2.ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลโครงการ และ ร.ฟ.ท.ในฐานะเจ้าของโครงการ ได้ร่วมกันชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเด็นการโอนและชำระค่าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงค์(ARL)
สกพอ. ชี้แจงว่า จากกรณีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และรุนแรง ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นภายหลังการลงนามสัญญาโครงการฯ ส่งผลให้รัฐต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ผู้โดยสารที่มาใช้บริการ ARL ลดลง จากเดิม 80,000 คนต่อวัน เหลือประมาณ 30,000 คนต่อวัน ส่งผลให้เกิดการขาดทุนค่าดำเนินการประมาณ 68 ล้านบาทต่อเดือน โดยยังคงไม่มีแนวโน้มว่าผู้โดยสารจะกลับมาใช้บริการเช่นเดิม
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถให้เงินทุนกว่า 10,000 ล้านบาท แก่เอกชนคู่สัญญาเพื่อชำระค่าสิทธิค่า ARL ให้ ร.ฟ.ท.ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชนตามไปดังนั้น เพื่อไม่ให้บริการของ ARL สะดุดหรือหยุดลง ร.ฟ.ท. และเอกชนคู่สัญญาตกลงกันให้เอกชนคู่สัญญาสนับสนุนการเดินรถ ARL เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิบริหารจัดการและไม่ได้เป็นการส่งมอบ ARL ให้เอกชนคู่สัญญาแต่อย่างใด โดยปัจจุบันรายได้จากค่าโดยสาร ARL ยังเป็นของ ร.ฟ.ท. และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยชำระค่าสิทธิให้รัฐไม่น้อยกว่า 1,183 ล้านบาทต่อปี
เมื่อมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและผลกระทบต่อการดำเนินงานของเอกชนคู่สัญญาสิ้นสุดลง ร.ฟ.ท.ก็จะได้รับชำระเงินค่าสิทธิ ARL ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะส่งผลดีต่อผู้โดยสารที่ใช้บริการ ARL ได้อย่างต่อเนื่อง และ ร.ฟ.ท. ไม่ต้องแบกภาระการขาดทุนของ ARL ทั้งยังได้รับค่าสิทธิ ARL ครบจำนวนอีกด้วย
3.มีข้อสังเกต ประเด็นการโอนและชำระค่าบริหารแอร์พอร์ตเรลลิงค์ (ARL) ดังนี้
เป็นความจริงว่า กิจการรถไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ไม่ใช่ได้รับผลกระทบเฉพาะแอร์พอร์ตลิงค์เท่านั้น รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้าบีทีเอส ฯลฯ ทั้งหมดล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แม้แต่แท็กซี่ เรือโดยสาร รถทัวร์ สายการบิน กิจการโรงแรม สถานบริการบันเทิง ฯลฯ ล้วนได้รับผลกระทบกันหมด
การยกเหตุผลกระทบโควิดมาเยียวยาคู่สัญญาของรัฐ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ และที่ผ่านมา รัฐก็มีแนวทางช่วยเหลือเยียวยาไปตามสภาพ เช่น โครงการรับเหมาก่อสร้างที่มีสัญญากับรัฐก็ได้รับสิทธิเยียวยา ขยายระยะเวลาสัญญาไปตามเงื่อนไขรายละเอียด ฯลฯ
แต่การจะแก้สัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงินค่าเข้าไปบริหารแอร์พอร์ตลิงค์ โดยเลี่ยงให้เอกชนคู่สัญญาสนับสนุนการเดินรถ ARL เท่านั้น ไม่ได้ให้สิทธิบริหารจัดการและไม่ได้เป็นการส่งมอบ ARL ให้เอกชนคู่สัญญา และเอกชนคู่สัญญาจะทยอยชำระค่าสิทธิให้รัฐไม่น้อยกว่า 1,183 ล้านบาทต่อปี แทนการจ่ายหมื่นล้านบาททีเดียวตามสัญญา
แบบนี้ ข้อเท็จจริง คือ จะทำให้ภาครัฐได้รับเงินล่าช้าไปจากเดิม ในภาวะที่ภาครัฐเองก็ต้องการเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนและลงทุนโครงการต่างๆ จำนวนมากโดยเฉพาะในกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยเอง ย่อมเกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ เอื้อประโยชน์แก่เอกชนคู่สัญญาหรือไม่
และอาจไม่เป็นธรรมต่อเอกชนรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมประมูลแข่งขันก่อนหน้านี้ หรือไม่?
4.บทเรียนกรณีคุก 6 ปี อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.
คดีทุจริตโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงค์ มูลค่า 25,000 ล้านบาท คดีหมายเลขแดงที่ อท 236/2562 (ป.ป.ช.ยื่นฟ้องคดีเอง) อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ จำคุก 6 ปี
โครงการนี้ สืบเนื่องจากยุครัฐบาลทักษิณ เอกชนประมูลต่ำกว่าราคากลางแค่หลักหมื่นบาท การก่อสร้างล่าช้า มีการขอขยายเวลาหลายครั้ง คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง และความผิดทางอาญา อดีตผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.และพวก มาตรา 157 เนื่องจากการไต่สวนพบว่า มีพฤติกรรมแก้ไขสัญญาในเอกสารประกวดราคาระหว่าง ร.ฟ.ท. กับบริษัทเอกชนเอื้อประโยชน์แก่เอกชน เป็นเหตุให้ ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหาย
พฤติการณ์ คือ แก้สัญญาเอื้อประโยชน์เอกชน!!!
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการมูลค่าหลายแสนล้านบาท อย่าให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยความเสียหายจะกระทบไปถึงโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่EEC ด้วย
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี