กรณีดราม่า บนเวทีประกวด “หนูน้อยกล้วยไข่เมืองกำแพง” จัดขึ้น ณ เวทีกลางงานสารทไทยกล้วยไข่และของดีเมืองกำแพง เมื่อค่ำของวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา
เมื่อผู้ปกครองของผู้เข้าประกวดที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ ไม่ยอมรับผลการตัดสิน เดินขึ้นไปบนเวที ปลดสายสะพายกลางงาน พร้อมคืนถ้วยรางวัลให้กับผู้มอบรางวัล ท่ามกลางสายตาคนดู กรรมการ และแขกผู้มีเกียรติที่มามอบรางวัล ก่อนที่จะพาลูกลงจากเวทีไปในทันที
เห็นว่า คนที่ตกเป็นเหยื่อที่น่าเห็นใจจากเหตุการณ์นี้ทันที คือ เด็กๆ ผู้เข้าประกวด
โดยเฉพาะเด็กที่ได้รางวัลชนะเลิศ และเด็กที่ได้รางวัลรองชนะเลิศแล้วผู้ปกครองไม่พอใจนั่นเอง
1. แม่ของเด็กที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ แต่ไม่พอคำตัดสิน ได้แจกแจงว่าการทำหน้าที่ของกรรมการตัดสินและผู้จัดงานมีพิรุธ น่ากังขาอย่างไรบ้างการตอบคำถามลูกสาวของตนก็ตอบได้ฉะฉานครอบคลุมและให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องอย่างดี แต่คะแนนไปไหนหมด เหมือนล็อกผลการแข่งขัน
2. แม่ของเด็กที่ชนะเลิศ ก็ยืนยันว่าไม่ใช่เด็กเส้น ไม่ได้รู้จักผู้หลักผู้ใหญ่จนคว้าชัยชนะ ลูกสาวเป็นเด็กอัธยาศัยดี ร่าเริง ตัวคุณแม่ก็เป็นแม่ค้าขายขนมจีบรถเข็น คนหาเช้ากินค่ำ
3. คณะกรรมการ ผู้จัดงาน มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ควรจะต้องชี้แจง
ขณะเดียวกัน สังคมควรใช้กรณีปัญหานี้ เป็นจุดคิดทบทวนมาตรฐานการจัดงาน การพิจารณาถึงความละเอียดอ่อนในการจัดงานที่มีเด็กเป็นผู้เข้าประกวดแบบนี้ ว่าควรจะตระหนักถึงปัจจัยอะไรมากกว่าการจัดงานประกวดคน สัตว์ สิ่งของ แบบอื่นๆ หรือไม่
ขอเสนอว่า ใครก็อย่าได้จัดงานแบบนี้อีก ผู้ปกครองอย่าได้พาลูกวัยเท่านี้ไปประกวดแบบนี้อีก หากยังไม่ได้อ่านข้อเขียนของ “หมอเดว” ศ.นพ.สุริยเดวทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น
นำเสนอผ่านเพจ “บันทึกหมอเดว” ว่าด้วยเรื่อง “ดราม่า หนูน้อยกล้วยไข่ เมืองกำแพง !!!”
ระบุว่า
“...แพ้ให้เป็น จะใช้ได้กรณีที่เมื่อทุกอย่างอยู่บนบรรทัดฐานที่มาตรฐานและโปร่งใส เมื่อมีแพ้ชนะ เกิดขึ้น!!
เมื่อศึกษา หนึ่งในเกณฑ์แรกที่สำคัญมาก
เท่าที่สืบค้นเห็น กล่าว คือ
เป็นเด็กหญิงอายุ 5-10 ปี ###
หากดูเฉพาะเกณฑ์นี้ จะเห็นว่า
#ผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการ เพราะเด็กต่างอายุ ข้ามวัย ปฐมวัย กับ กลุ่มวัยก่อนเข้าวัยรุ่น (Preteen) มาจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันไม่ได้เลย
ในทางการแพทย์ เด็กผู้หญิง เข้าวัยรุ่นที่อายุ 10 ปี (บวกลบ 2) ความหมายคือ เด็กบางคน 9 ปีก็อาจจะเริ่มๆ มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย แล้ว
ฉะนั้นเกณฑ์อายุที่ตั้งมา จึงไม่ควรจัดอยู่ในประเภทเดียวกัน เพราะความคิดอ่านต่างกันอย่างสิ้นเชิง
#ผิดเจตนารมณ์พัฒนาการเด็กปฐมวัย การเรียนรู้ใดๆ ไม่ใช่เพียงแค่ในรั้วโรงเรียนเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการเรียนรู้นอกรั้วโรงเรียนด้วย #ต้องไม่มุ่งเน้นการแข่งขันแพ้ชนะ ที่ทำให้เกิดบาดแผลใจ
บนความแพ้ ชนะ ที่ไม่เข้าใจความหมาย และความสำคัญ บวกกับ การจัดการอารมณ์ ที่ยากลำบากมาก (พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย)
เด็กวัยอนุบาลไม่ควรมีการแข่งขันประกวดบนเวที ที่มีแพ้ชนะอย่างจริงจัง ถ้าจะทำเพียงแค่สนุกสนานได้แสดงออก และให้พลังใจ ก็ต้องเป็นเพียงการได้ร่วมกิจกรรมเรียนรู้บนความเพลิดเพลิน
#หากจะคิดว่าเด็กควรพัฒนาตนเองด้วยการแข่งขันถึงจะดีนั้น?? (สมรรถนะในการแข่งขัน Competetiveness)ก็ควรต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วย และควรใช้วิธีนี้ในเด็กโต ความหมายคือวัยเรียน ที่น่าจะพ้นช่วงเปลี่ยนผ่าน(Transition Early childhood to middle childhood) ความหมายคือ ประถมปลายนั่นเอง
โปรดเข้าใจ ด้วยว่า การจัดการแข่งขันใดๆ ควรเลือกกลุ่มเด็ก ที่มีวุฒิภาวะพัฒนาการอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ไม่ข้ามวัยกันชัดเจน
สำหรับหัวอกคนเป็นพ่อแม่ อยากฝากว่า ท่านต้องประคับประคองจิตใจลูกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายแพ้ ให้เข้าใจบริบท และ #หากท่านคุมอารมณ์ได้ประโยชน์จะตกกับลูก แล้วค่อยๆ ดึงลูกมาเรียนรู้ร่วมกัน เมื่ออยู่ในบรรยากาศที่อบอุ่นพร้อมคุยด้วยกัน เพื่อจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ
#การเรียนรู้การให้อภัยเป็นจิตวิทยาชั้นสูงพอๆ กับการเกิดทักษะผิดหวังเป็น
สำหรับ social media และสื่อต้องระมัดระวังการฉายซ้ำ บ่อยๆ เพราะจะทำให้เด็ก ยังคงวังวน อยู่กับเหตุการณ์ ทั้งสองฝ่าย ควรลดทอนการนำเสนอ หรือ การใช้อารมณ์ ใน social media นอกจากเป็นประโยชน์ต่อเราแล้ว ทำให้สังคมเรียนรู้การจัดการอารมณ์ได้อีกด้วย (เป็นการแสดงเคารพสิทธิ ที่ดีอีกด้วย)
สำหรับ #ผู้ใหญ่ที่จัดประกวดในเด็กๆ ทั่วประเทศ กรุณาใช้หลัก พัฒนาการเด็ก ทั้งร่างกาย จิตใจอารมณ์ สังคม เข้าใจธรรมชาติเด็ก เรียนรู้การบริหารจัดการอารมณ์ ความขัดแย้ง รู้จักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จิตวิทยาพัฒนาการ
ก่อนจะออกแบบหลักเกณฑ์
รวมทั้งความโปร่งใสในการให้คะแนนที่มีความยุติธรรมชัดเจน เพราะท่านอย่าลืมว่า เด็กๆ เขาเรียนรู้จาก on the job ดีกว่า มากกว่า การท่องจำพร่ำสอน นะครับ
#การผิดหวังให้เป็น บทบาทของพ่อแม่และผู้ใหญ่ทุกคน ที่ต้องฝึกฝนทักษะการเรียนรู้เหล่านี้ให้ลูก ล้มแล้วลุกได้ ลุกเป็น และลุกเก่ง
แต่อย่าลืมนะครับ #ต้องอยู่บนความมาตรฐานที่ไม่เคลือบแคลงสงสัย...”
สุดท้าย ขอย้ำให้ตระหนักร่วมกันว่า เด็กๆ ไม่ใช่สัตว์หรือสิ่งของทั่วไปแบบที่จัดประกวดกันง่ายๆ โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี