ในกรณีรัฐสภาลงคะแนนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา 750 คน ทำให้นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย เป็นเหตุให้เกิดปฏิกิริยา ทั้งดีใจสุขใจและผิดหวังเสียใจในหมู่ชาวไทยหลายล้านคน แต่ความรู้สึกดีใจและเสียใจเสียดายไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนไทย มันได้ลุกลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนใกล้ชิดกับประเทศไทยด้วย
สำหรับปฏิกิริยาในประเทศไทย แฟนๆ แนวหน้าส่วนใหญ่สัมผัสได้จากสื่อกระแสหลักและสื่อกระแสรองเช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์และอื่นๆ ที่คนจำนวนมาก แสดงออกถึงความสุขใจและโล่งใจ ในเวลาเดียวกันมีคนจำนวนมากแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดผิดหวังเสียใจ คอลัมน์กระแสข่าว วันนี้ให้น้ำหนักไปที่ปฏิกิริยาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ กัมพูชาและสหภาพเมียนมา
สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ทวีตข้อความว่า....“ผมขอประกาศวันนี้ว่าความล้มเหลวของนายพิธาที่ไม่สามารถหาเสียงสนับสนุนมากพอให้ได้เป็นนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ถือเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของฝ่ายค้านผู้ทรยศในกัมพูชาด้วย นี้ไม่ได้หมายความว่า ผมแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ประเด็นของผมก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ทรยศ ได้คาดหมายเสมอว่าเมื่อนายพิธาได้เป็นนายกฯผู้ทรยศจะใช้ดินแดนของประเทศไทยในการเคลื่อนไหวทำลายรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา บัดนี้ความหวังของฝ่ายค้านกัมพูชาได้ละลายเหมือนเกลือตกลงในน้ำแล้ว #อย่าริเล่นการเมืองโดยอาศัยจมูกคนอื่นหายใจ นี่คือคำเตือนด้วยความปรารถนาดีของผมไปยังกลุ่มสุดโต่ง..” ทวิตเตอร์ของ นายฮุนเซน ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีนาน 39 ปี น่าจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง
เพื่อนบ้านทิศตะวันตกสหภาพเมียนมาที่ พลเอกโซ วินรองผู้บัญชาทหารสูงสุดและรองนายกฯรัฐบาลทหารพม่า พูดเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า “ให้ระวังพรรคก้าวไกลที่จะช่วยเหลือผู้ก่อการร้ายในประเทศพม่า...” หลังจากรัฐสภามีมติไม่ให้นายพิธาเป็นนายกฯยังไม่มีปฏิกิริยาจากทางการพม่าแต่วิทยุภาษาพม่าเสนอข่าวนายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯวนไปวนมาหลายรอบ
ส่วนผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์คะยาที่ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า กล่าวว่า “นายพิธา ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีผลกระทบต่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรง” นายพล บี ทู ผู้บัญชาการทหารคะยา กล่าว แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่านายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี มีผลกระทบอย่างไร
เขาให้รายละเอียดว่า ในห้วงเวลาสองเดือนนี้มีผู้อพยพชาวพม่าส่วนใหญ่เป็นชาติพันธ์ุคะยา หนีตายจากการปราบปรามของทหารพม่าเข้ามาในประเทศไทย อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วถึง 8,504 คน ซึ่งกระจายกันอยู่ในศูนย์พักชั่วคราวที่บ้านเสาหินบ้านอุนู บ้านแม่กิ๊ บ้านจอปะตี และบ้านในสอย“ผู้อพยพเข้ามาโดยการช่วยเหลือของไออาร์ซี (IRC= International Rescue Committee) และเจ้าหน้าที่ไทย นายพลบี ทู กล่าว
ผู้เขียนเองสงสัย ในหน่วยงานไออาร์ซี มาตั้งแต่สมัยสงครามกลางเมืองกัมพูชาว่า อาจมีจารชนแฝงตัวเข้ามาในหน่วยงานนี้ด้วยหรือไม่ พลเอก บี ทู พูดว่านายพิธาไม่ได้เป็นนายกฯมีผลกระทบต่อกลุ่มต้านรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรง อาจจะเป็นเพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบายให้ประเทศไทยรับผู้อพยพรุ่นใหม่มาไว้ในประเทศไทยอย่างไม่มีกำหนด
ด้าน เนอร์ดา ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของ พลเอกโบเมี๊ยะ อดีตผู้ยิ่งใหญ่ในกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู (Karen National Union) เนอร์ดาแยกตัวจาก เคเอ็นยู มาเป็นผู้บัญชากองทัพก่อตูเลย์ กล่าวกับแนวหน้า ว่า “ฝ่ายต่อต้านร่วมมือกับรัฐบาลไทยได้ทุกรัฐบาลไม่ว่านายกรัฐมนตรีชื่อพิธา หรือไม่”
ในประเทศไทยนายพิธา ยังยืนยันว่า จะสู้ต่อไปโดยการวางยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อให้ สว.สนับสนุนเขาในการเสนอตัวให้รัฐสภาพิจารณาเป็นนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมครั้งต่อไป ซึ่งคาดหมายว่าจะเป็นวันที่ 19 ก.ค.นี้ การยืนยันว่า จะเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทำให้มีปฏิกิริยาจากนักการเมือง นักกฎหมายหลายคนแสดงความคิดเห็นว่า การเลือกนายกฯครั้งที่สองของนายพิธาทำไม่ได้ แต่หลายฝ่ายก็กล่าวเช่นกันว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประธานสภาว่า จะให้นายพิธาเสนอตัวครั้งที่สองได้หรือไม่
อดีตประธานสภาให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “เป็นอำนาจประธานรัฐสภาครับ” สว.ประพันธ์ คูณมี ให้เหตุผลพร้อมกับยกข้อบังคับและกฎหมายหลายมาตราขึ้นมาอธิบายว่าทำไม่ได้ คอลัมน์นี้ขอตัดเอาเฉพาะเนื้อหาสั้นๆ ว่า “มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า กรณีการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะสามารถนำญัตติเดิมมาเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโหวตในญัตติเดิมนี้ได้อีกหรือไม่นั้น ผมขอตอบว่า เสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาให้รัฐสภาพิจารณาอีกครั้งไม่ได้ครับ ถือว่าญัตตินี้ตกไปแล้ว จบไปแล้วครับ ด้วยเหตุผลดังนี้.... และ สว.ประพันธ์ก็สาธยายถึงข้อบังคับและกฎหมายหลายมาตราที่ทุกท่านหาอ่านได้จากสื่อทั่วๆไปจึงย่อไว้เป็นที่เข้าใจ
จากประสบการณ์ทำข่าวมาสี่สิบห้าปี ไม่เคยเป็นประเพณีที่นักการเมืองคนเดียวเสนอตัวให้สภาเลือกเป็นนายกฯถึงสองครั้ง และเชื่อว่าในระบอบการสรรหานายกรัฐมนตรีแบบรัฐสภาไทยเสนอตัวให้เลือกกี่ครั้งผลลัพธ์ก็เป็นอย่างเดิม เพราะผู้ที่ลงมติไม่เห็นด้วยครั้งแรกเนื่องจากเห็นว่านายพิธาและพรรคก้าวไกลมีนโยบายบั่นทอนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์แบ่งแยกดินแดน และเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของประเทศไทย ดังนั้น ในห้วงเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนายพิธา จะกลับใจลงคะแนนให้ได้เป็นนายกฯ ได้อย่างไร
อีกอย่างหนึ่งนายพิธา เป็นผู้ถูกร้องว่าละเมิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 และถูกร้องว่าถือหุ้นสื่อซึ่งอยู่ระหว่างศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจะรับคดีถือหุ้นสื่อหรือไม่ หากศาลฯรับพิจารณาคดีและมีคำสั่งให้นายพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฯตัดสินคดี เป็นอย่างนี้แล้วนายพิธายังคิดว่าจะได้เป็นนายกฯอีกหรือ
นายพิธาน่าจะรู้อยู่เต็มอกว่า โอกาสได้เป็นนายกฯเป็นศูนย์ แต่นายพิธายังเดินหน้าเสนอตัวเป็นนายกฯ เพราะเหตุใดที่นอกเหนือไปจากจุดมุ่งหมายทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยในข้ออ้างว่าผู้มีอำนาจกลั่นแกล้งขัดขวางไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล โดยไม่พูดความจริงว่า ไม่มีใครกลั่นแกล้งนายพิธาทุกอย่างเป็นเพราะกรรมที่นายพิธาทำผิดกฎหมายเอง
สุทิน วรรณบวร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี