ข่าวการพระราชทานอภัยลดโทษให้แก่นายทักษิณชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ต้องโทษจำคุกใน ๓ คดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดต่อหน้าที่ราชการ และการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของชาติด้วยนั้น จากโทษจำคุกรวม ๘ ปี คงเหลือเพียง ๑ ปี ต้องนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ อย่างที่สุด ที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีต่อนายทักษิณ ซึ่งรวมไปถึงครอบครัวชินวัตรด้วยอย่างแน่นอน และเมื่อเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ จึงเป็นเรื่องมิบังควรเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีใครผู้ใดออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ความเห็นใดๆ ก็ตาม
ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลนานมา การก่อร่างสร้างชาติต่างๆ นั้น ประมุขสูงสุดของแต่ละชาติ คือผู้ที่ได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญและเข้มแข็ง ด้วยความเสียสละและอดทนในการปราบปรามศัตรู จนสามารถจะรวบรวมผู้คนได้เป็นจำนวนมากพอในท้องถิ่นใดถิ่นหนึ่งจนสร้างเป็นชาติขึ้นมาได้ และได้รับการสถาปนาด้วยการยอมรับจาก กลุ่มชนเหล่านั้นให้เป็นประมุขสูงสุด ซึ่งต่อมาก็เรียกกันว่าพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นผู้ที่จะมีพระราชอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมืองและประชาชน
กฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติต่างๆ จะถูกสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการบริหารบ้านเมือง โดยมีผู้รับใช้ใกล้ชิดเป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งแน่นอนว่าครอบคลุมไปทั้งในเรื่องการปูนบำเหน็จในการทำความดีความชอบของเหล่าขุนนาง ข้าราชบริพาร แม่ทัพนายกองทั้งหลาย และในขณะเดียวกันก็ต้องมีเรื่องของการลงโทษ ลงอาญา กรณีที่บุคคลเหล่านั้นกระทำการผิดพลาดด้วย แต่ก็อาจจะได้รับการลดโทษหรือยกโทษหากกระทำความดี เป็นที่มาของการใช้คำว่า “พระราชทานอภัยโทษ”
ในประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น การพระราชทานอภัยโทษได้เกิดขึ้นในหลายครั้งหลายครา ในแต่ละแผ่นดินของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ แต่ที่เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือการพระราชทานอภัยโทษ ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีต่อเหล่าแม่ทัพนายกอง ในครั้งที่ได้เกิดสงครามยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชามังกะยอชวาของพม่า
ในปีพุทธศักราช ๒๑๓๕ หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงในปีพุทธศักราช ๒๑๒๗ แล้ว พระองค์ก็ได้กระทำศึกอีกหลายครั้ง เพื่อรวบรวมหัวเมืองต่างๆ ตลอดจนขยายพระราชอาณาเขต จนชาติไทยในยุคนั้นมีพระราชอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล ซึ่งการแผ่พระราชอำนาจของพระองค์ ย่อมทำให้กษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดีหรือพม่า ต้องการที่จะทำลาย แสนยานุภาพของพระองค์ท่าน และในที่สุดพระเจ้านันทบุเรงก็มีรับสั่งให้ยกทัพใหญ่ เพื่อเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่เคยส่งทัพที่นำโดยแม่ทัพหลายคนเข้ามาแล้ว 5 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ โดยหวังว่าในครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาจะต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีกครั้งหนึ่ง ดังเช่นสมัยของพระเจ้าบุเรงนอง
การยกทัพมาในครั้งนี้ พระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระราชโอรส ซึ่งมีตำแหน่งเป็นพระมหาอุปราชาคือมังกะยอชวา นำทัพมาเอง เป็นทัพหลวงจากกรุงหงสาวดีโดยมีทัพของเมืองแปรนำโดยพระเจ้าแปร และทัพของเมืองตองอูนำโดยพระสังขทัต บุตรของเจ้าเมืองตองอูมาร่วมทัพด้วย เป็นกำลังพลรวมทั้งสิ้นมากกว่า ๒๔๐,๐๐๐ คน ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ทั้ง ๓ ทัพ และยังให้พระเจ้าเมืองเชียงใหม่ซึ่งพม่าปกครองอยู่ คุมเสบียงอาหารลงมาทางเรือเพื่อมาสมทบอีกด้วย ถือว่าเป็นศึกใหญ่มากที่จะกระทำต่อกรุงศรีอยุธยา
เมื่อทราบข่าวว่าพม่าจะยกทัพใหญ่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงได้รวบรวมไพร่พลได้เป็นจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน ออกไปตั้งค่ายหลวงอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย สุพรรณบุรี เพื่อจะต่อสู้กับกองทัพพม่า โดยให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นแม่ทัพกองหน้าไปตั้งรับอยู่ที่ตำบลดอนระฆัง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ให้จัดทัพเป็น ๕ ทัพทัพที่ ๑ เป็นทัพหน้า มีพระยาสีหราชเดโชชัยเป็นแม่ทัพ พระยาพิชัยรณฤทธิ์และพระยาวิชิตณรงค์ เป็นปีกขวาและปีกซ้าย ทัพที่ ๒ กองเกียกกาย พระยาเทพอรชุน เป็นแม่ทัพ มีพระยาพิชัยสงครามและพระยารามคำแหงเป็นปีกขวาและปีกซ้าย ทัพที่ ๓ คือทัพหลวง ซึ่งพระองค์ทรงเป็นจอมพล พร้อมด้วย สมเด็จพระเอกาทศรถ มีเจ้าพระยามหาเสนาและเจ้าพระยาจักรีเป็นปีกขวาและปีกซ้าย ทัพที่ ๔ กองยกกระบัตร มีพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพ พระยาราชสงครามและพระอภัยสุรินทร์เป็นปีกขวาและปีกซ้าย ทัพที่ ๕ กองหลัง มีพระยาท้ายน้ำเป็นแม่ทัพ หลวงหฤทัยและหลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกขวาและปีกซ้าย
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงวางแผนการรบโดยการตั้งรับ เนื่องจากมีกำลังน้อยกว่า และเมื่อตั้งรับถึงวันที่สอง ได้ทรงทราบว่าทัพของพระยาศรีไสยณรงค์ ได้ออกไปรุกรบกับทัพพม่าและเสียที จึงรับสั่งให้ถอยทัพกลับ ขณะเดียวกันก็ตัดสินพระทัยยกทัพหลวงออกต่อตีทัพของพม่าซึ่งรุกตามเข้ามา และการเข้ารุกรบอย่างรวดเร็วครั้งนี้ทำให้ในที่สุด เมื่อฝุ่นตลบจางหายไป ช้างทรงเจ้าพระยาไชยานุภาพที่นำพระองค์ท่าน และช้างทรงเจ้าพระยาปราบไตรจักรที่นำสมเด็จพระเอกาทศรถก็ตกเข้าไปอยู่ในวงล้อมของทัพพม่า เผชิญหน้าอยู่กับช้างทรงพลายพัทธกอของพระมหาอุปราชามังกะยอชวา โดยทัพหลวงที่มีเจ้าพระยามหาเสนาและเจ้าพระยาจักรี ตามทั้งสองพระองค์มาไม่ทัน
“เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างได้อย่างเรา จะไม่มีแล้ว” คือประโยคที่เล่าต่อกันมาถึงการที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงใช้พระสติปัญญา ที่จะเข้าต่อสู้กับศัตรูที่อยู่เบื้องหน้า และทำให้การกระทำยุทธหัตถีได้บังเกิดขึ้น
หลังจากพระองค์ทรงมีชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถี โดยใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชามังกะยอชวาที่ไหล่เบื้องขวาจนขาด สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ทำให้กองทัพไทยมีชัย และกองทัพพม่ายกทัพกลับ เมื่อกลับเข้าสู่กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมเหล่าแม่ทัพนายกอง และทรงเห็นว่าทั้งพระยาศรีไสยณรงค์เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง ต่างมีความผิดฐานละเลย มิได้ตามเสด็จให้ทันท่วงทีในราชการสงคราม ซึ่งมีโทษถึงประหารชีวิตด้วยกันทั้งนั้น โดยได้สั่งให้จำขังนายทหารเหล่านั้นไว้ก่อน เมื่อพ้นวันพระแล้วให้นำไปประหารชีวิตตามคำลูกขุนพิจารณาพิพากษา
เมื่อถึงวันดังกล่าว สมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้วพระราชาคณะ ๒๕ รูป ได้เข้าเฝ้าสอบถามเรื่องการศึกสงคราม เมื่อทราบว่าพระองค์ได้สั่งประหารแม่ทัพนายกองดังกล่าว จึงได้กล่าวสรรเสริญถึงพระเดชานุภาพและบุญญาบารมีของพระองค์ท่านที่เอาชนะศึกในครั้งนี้ได้ และได้ขอพระราชทานอภัยโทษบุคคลเหล่านั้น ที่ได้ทำราชการรับใช้แผ่นดินด้วยดีโดยตลอดมา ซึ่งพระองค์ก็ได้พระราชทานอภัยโทษ โดยมีข้อแม้ว่าเจ้าพระยาจักรีจะต้องยกทัพไปตีเมืองตะนาวศรี และพระยาพระคลังยกทัพไปตีเมืองทวาย เอากลับคืนมาเป็นของไทยให้ได้ ซึ่งในที่สุดแม่ทัพทั้งสองก็สามารถยกทัพไปกระทำการได้สำเร็จ
ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ได้พระราชทานอภัยลดโทษให้กับนายทักษิณแล้ว ก็จะสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ในการที่จะไม่ทำให้เกิดปัญหาต่อแผ่นดินหรือชาติไทยอีกต่อไป ซึ่งน่าจะหมายความรวมไปถึงพลพรรคของนายทักษิณทั้งหมดด้วย ที่ได้รับโอกาสให้จัดตั้งรัฐบาล ในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดมั่นในสถาบันชาติศาสน์กษัตริย์ ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองของชาติบ้านเมืองสืบไป
ปิยะ เนตรวิเชียร
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี