นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน รมว.คลัง แถลงแนวทางโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัล วอลเล็ต
ระบุว่า การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการนี้นั้น น่าจะผ่านการตีความโดยกฤษฎีกาในช่วงปลายปี นำเข้าสู่สภาช่วงต้นปีหน้า จัดเตรียมงบประมาณและเปิดให้ประชาชนใช้พ.ค.ปีหน้า ช่วงก่อนหน้านั้น จะมีอีรีฟันส์ ตั้งแต่เดือนม.ค. 2567 และโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มได้เดือนมิ.ย.2567 ทั้งนี้ต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ทำงานรัดกุม ก่อนเข้าครม. เพื่อได้รับการอนุมัติต่อไป
1. สรุปเงื่อนไขโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท
เติมเงินให้คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปผ่านแอปเป๋าตัง ยกเว้นคนมีรายได้เกิน 70,000 บาทหรือเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ครอบคลุม 50 ล้านคน ต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์
รัศมีการใช้จ่ายในระดับอำเภอ ตามที่ระบุไว้ในบัตรประชาชน
โดยไม่สามารถโอนให้ผู้อื่นหรือแลกเป็นเงินสด
ใช้สำหรับซื้อของอุปโภค-บริโภคเท่านั้น
ไม่สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ได้ไม่สามารถซื้อสินค้าอบายมุข เช่น เหล้า บุหรี่
ไม่สามารถซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด เพชร พลอย ทองคำ อัญมณี
ไม่สามารถชำระหนี้ ค่าน้ำ ค่าไฟค่าโทรศัพท์ น้ำมันเชื้อเพลิง
ไม่สามารถจ่ายค่าเทอม
ร้านค้ารับเงินค่าสินค้าจากโครงการนี้ได้โดยไม่ต้องจด VAT แต่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษี
การใช้จ่ายผ่านแอปเป๋าตัง (พัฒนาบล็อกเชน เป็น Back up)
เริ่มใช้ได้พฤษภาคม ปี 2567 (เริ่มใช้สิทธิภายใน 6 เดือน) โครงการมีถึงเมษายน 2570
ใช้งบประมาณโครงการทั้งหมด 6 แสนล้านบาท
จำแนกเป็น 5 แสนล้านบาท : ออกร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ เพื่อใช้แจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความก่อนส่งสภา
และอีก 1 แสนล้านบาท : จากงบประมาณปี 67, 68 และ 69 สำหรับกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะใช้ควบคู่กับ E-Refund ระบบการลดหย่อนภาษีดิจิทัล ซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค (ช้อปช่วยชาติ) เริ่มใช้ ช่วงมกราคม 2567 และนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาว
2. ผมได้เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้มาหลายครั้ง และทุกครั้งก็ยืนยันมาตลอดว่า โครงการนี้ไม่มีพื้นฐานความเป็นไปได้ตั้งแต่ต้น หากอ้างว่าจะไม่มีการกู้ยืมเงินเพิ่มเลยแม้แต่บาทเดียว
สุดท้าย นายกฯเศรษฐาก็ยอมรับแล้วว่า จะต้องออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำเงินมาแจกจ่าย เติมเงินหมื่นให้ประชาชน
3. ย้อนกลับไปเมื่อเดือนเมษายน 2566 พรรคเพื่อไทยส่งเอกสารชี้แจงรายละเอียดของนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ต้องใช้จ่ายเงินต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 57
นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล พรรคเพื่อไทยได้ระบุวงเงินที่ต้องใช้ 560,000 ล้านบาท
ระบุว่าที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ว่าจะใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษี
มาจาก 1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี’67 จำนวน 260,000 ล้านบาท 2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย100,000 ล้านบาท 3.การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท 4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาทโดยสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ
ไม่บอกว่าจะมาจากการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท
แถมประกาศทุกเวทีหาเสียง ออกรายการโทรทัศน์ทุกครั้ง โพสต์เฟซบุ๊กยืนยันก็ทำมาแล้ว ตั้งแต่ช่วงหาเสียง ยันช่วงได้เป็นรัฐบาลนายเศรษฐาก็ยืนยันว่า จะไม่กู้เงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว
4. สมัยยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยหาเสียงว่าจะใช้เงินในอากาศ ไม่ต้องกู้ แต่สุดท้ายก็กู้
สมัยยิ่งลักษณ์ เพื่อไทยหาเสียงว่า จำนำข้าวจะไม่ขาดทุน แถมจะมีกำไร แต่สุดท้ายขาดทุนกว่าห้าแสนล้าน
ปัจจุบัน ยังเหลือภาระหนี้จำนำข้าวติดค้าง ธ.ก.ส.อยู่สองแสนกว่าล้านบาท!!!
5. หนี้เก่ายังสุมหัว ทั้งหนี้ระบบสถาบันการเงิน หนี้จำนำข้าว ฯลฯ
รัฐบาลยังขาดดุลงบประมาณแผ่นดิน รัฐบาลยังกู้เงินมาจ่ายในกิจการงานต่างๆ ปีละกว่า 6 แสนล้านบาท
แถมยังมีโครงการที่มีประโยชน์อีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ทำ เพราะข้อจำกัดทางการเงินการคลัง
แต่วันนี้ นายกฯ เศรษฐา ดึงดันประกาศจะเดินหน้ากู้ยืมเงินมาแจกจ่ายบุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ราวๆ 50 ล้านคน วงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท !!!
6. ประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้น น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก
อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติ และครูอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมกว่า 100 คน ชี้ว่า ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลัง สำหรับการใช้จ่ายโดยตรงและการลงทุนของภาครัฐ
การที่ผู้กำหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย
“นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาก การทำนโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย” - ถ้อยแถลงกลุ่มประชาชนและอดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติคัดค้านโครงการแจกเงิน
7. การแถลงจะเดินหน้าต่อ ทั้งๆ ที่ เคยพูดไว้อย่าง แต่ความจริงปรากฏอีกอย่าง
คนละทาง คนละโลก หน้ามือเป็นหลังเท้า ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น
เคยบอกว่าจะไม่กู้ ก็ต้องกู้ 5 แสนล้านบาท
เคยบอกว่าเป๋าตังทำไม่ได้ ไม่เหมาะแต่สุดท้ายก็จะใช้แอปเป๋าตัง ฯลฯ
แล้วที่โม้ว่า กู้มาแจก 5 แสนล้านบาท จะคุ้มค่า จะประสบความสำเร็จ... ถามว่า จะให้เชื่อได้อย่างไร?
ก็ต้องเรียกว่า “สุดติ่งกระดิ่งแม้ว” จริงๆ ที่ยังกล้าจะเดินหน้าต่อไปอีก!!!
เบื้องต้น สมควรที่ กกต. สตง. ป.ป.ช. จะร่วมประชุมพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อระงับยับยั้งโครงการที่สร้างผลกระทบทางการเงินการคลังของประเทศรุนแรงเช่นนี้
สันติสุข มะโรงศรี
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี