“เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยเป็นการขยายตัวที่สมดุลมากขึ้น จากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ตามการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัว”
ข้อความข้างต้น คือสาระสำคัญในรายงานนโยบายการเงิน จัดทำขึ้นเป็นรายไตรมาส โดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการเงิน
เนื้อหาที่น่าสนใจหลายประเด็น ยกตัวอย่าง ดังนี้
1. เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.8 2.6 และ 2.7 ในปี 2566 2567 และ 2568 ตามลำดับ
โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวตามแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจ จีนและญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นในปี 2567 จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อุปสงค์ต่างประเทศอยู่ในทิศทางฟื้นตัว แม้ในปี 2566 ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกสินค้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่ในปี 2567 จะปรับดีขึ้นตามการกลับมาขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้า และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงจากผลของการส่งผ่านนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางหลัก และการค้าโลกที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดตามอุปสงค์ของประเทศจีน รวมถึง ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังยืดเยื้อ
2. เศรษฐกิจไทย
เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง
โดยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.4 3.2 และ 3.1 ในปี 2566 2567 และ 2568 ตามลำดับ
ในปี 2566 เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น
อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดี ตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ สอดคล้องกับรายได้แรงงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัว
ภาคการส่งออกสินค้า ในปี 2566 ฟื้นตัวช้ากว่าคาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ในระยะข้างหน้า เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง และภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยที่ลดลง
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามนโยบายของภาครัฐที่ยังมีความไม่ชัดเจน โดยเฉพาะโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งหากรวมผลของโครงการดังกล่าวคาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 และ 2.8 ตามลำดับ
3. เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ
ในการประชุมวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี
กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง
แม้ในปี 2566 การฟื้นตัวจะยังไม่ครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ จากภาคการส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องฟื้นตัวช้า
อย่างไรก็ดี ในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลมากขึ้น
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการ
ฟื้นตัวของภาคการส่งออก
แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่การส่งออกสินค้าไทยอาจไม่ได้รับผลดีเท่าที่ควรจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการกลับมาของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ จากปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ
กนง. ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับปัจจุบันเหมาะสมกับบริบทที่เศรษฐกิจกำลังทยอยฟื้นตัวกลับสู่ระดับศักยภาพ เอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน เสริมสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว และป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงิน อีกทั้งช่วยรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า
4. นักท่องเที่ยวต่างชาติ
ปรับลดประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 และปี 2567 เป็น 28.3 ล้านคน และ 34.5 ล้านคน ตามลำดับ
จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่น้อยกว่าคาด
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ไม่รวมจีน) ยังฟื้นตัวได้ดี สอดคล้องกับแนวโน้มในอดีต รวมถึงได้รับผลดีจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (visa free) ที่ให้กับนักท่องเที่ยวจาก อินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน
ประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 ที่ 39 ล้านคน โดยเพิ่มขึ้น
อย่างต่อเนื่อง ตามแรงส่งในปีก่อนหน้
5. บริโภคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง แม้ไม่มีดิจิทัล วอลเล็ต
ในระยะข้างหน้า การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง
ตามแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น ทั้งการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า
แม้จะไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล
6. เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องแม้ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล
มาตรการภาครัฐที่อนุมัติเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านการลดต้นทุน การผลิต สนับสนุนพัฒนาการผลิต และชะลอการขายผลผลิตออกสู่ตลาด รวมถึงมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ผ่านการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงช่วยเหลือค่าสาธารณูปโภค และลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า
มาตรการภาครัฐหลายโครงการยังมีความไม่ชัดเจนทั้งในด้านรูปแบบ แหล่งที่มาของเงิน และเงื่อนเวลาของมาตรการ ได้แก่ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน digital wallet มาตรการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ไม่รวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยเป็นการขยายตัวที่สมดุลมากขึ้น จากทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ ตามการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและการส่งออกสินค้าที่จะกลับมาขยายตัว
สารส้ม
เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี